เมื่อเด็กต้องเติบโต และมีโอกาสในการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่น ความคิดเห็นต่าง ๆ จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนเดียวอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับผู้อื่นด้วย ดังนั้นการ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จึงเข้ามาเป็นบรรทัดบานที่สำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างขัดแย้งน้อยที่สุด และสิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่เราต้องสอนให้ลูกรู้จัก และสามารถทำได้ไม่ยาก
การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นสำคัญอย่างไรกับเด็ก
ความคิดของเด็กคนเดียวนั้นมีความสำคัญ แต่เมื่ออยู่ในสังคมการฟังความเห็นของคนอื่นจะสำคัญกว่า เนื่องด้วยการใช้ชีวิตในสังคมมาจากการคนหลายคน ไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว การที่จะ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ และควรต้องทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่จะเป็นความสำคัญทางสังคมเท่านั้น ยังสามารถส่งผลดีได้หลายเรื่องต่อตัวของเด็กเอง ได้แก่
- เป็นพื้นฐานของสังคม : การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นมารยาททางสังคมที่ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ หากฝึกให้ลูกสามารถทำสิ่งนี้ได้ จะทำให้เขาโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ลดโอกาสเกิดการขัดแย้งกับบุคคลรอบตัวได้เป็นอย่างดี
- เพื่อให้เข้าใจตนเอง : การที่สามารถยอมรับความแตกต่างด้านความคิดได้นั้น ไม่ใช่แค่เพียงจะส่งผลดีต่อบุคคลรอบตัว แต่ยังสามารถส่งผลที่ดีต่อตัวของเด็กเอง หากเด็กเข้าใจพื้นฐานความคิดที่มีความหลากหลาย จะยิ่งทำให้เขามองสิ่งต่าง ๆ ได้หลายด้านตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ และการเข้าใจตัวตนของเด็กเอง เป็นการค้นหาตัวตน ความชอบ และแนวคิดของตนเองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- ทำให้รู้จักใช้เหตุผล : การสนทนากับผู้อื่นนั้นอาจต้องเจอกับแนวคิดที่แตกต่าง การสนทนาที่มีความหลากหลาย อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสนทนาในบางหัวข้อได้ การได้รับฟังความคิดของผู้อื่นในระหว่างสนทนา ยิ่งกลุ่มสนทนามีอยู่หลายคน เด็กจะได้พูดคุยด้วยการใช้เหตุ และผล เนื่องจากไม่สามารถใช้อารมณ์ในการพูดคุยที่จะเอาชนะได้ การรับฟังผู้อื่นเพื่อให้มุมมองเปิดกว้าง และเกิดการถกเถียงกันเป็นหนทางที่ดีที่ฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่มองถึงเหตุผลเป็นหลัก
- เป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด : เมื่อเด็กต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจในการกระทำสิ่งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ หากต้องคิดคนเดียวอาจทำให้เกิดการผิดพลาดจากการตัดสินใจ เพราะเกิดขึ้นจากมุมมองของเด็กเพียงคนเดียว แต่หากรับฟังความเห็นของคนอื่น จะทำให้ได้รับมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้การตัดสินใจสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำอย่างไรดี ? เมื่อลูกมี “โลกส่วนตัวสูง” แก้ได้แต่ต้องใช้เวลา
วิดีโอจาก : Momster
ทำอย่างไรให้ลูกรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ขั้นตอนที่ 1 ทุกอย่างเริ่มที่คุณพ่อคุณแม่
การที่จะสอนเด็กในเรื่องนี้สามารถทำได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าถ้าจะให้ได้ผลดี ต้องเริ่มจากการปฏิบัติของตัวเราก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในความคิดของเด็กว่าทำไมเขาต้องทำ ในเมื่อพ่อแม่ของเขายังไม่ทำเลย การแสดงออกให้ลูกเห็นว่าผู้ปกครองเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สามารถทำได้ไม่ยาก โดยให้ยึดหลัก 3 ข้อ ดังนี้
- อย่าใจร้อนตัดสินไปก่อน และรอฟังลูก : เมื่อมีเรื่องที่ต้องพูดคุยทั้งเรื่องที่มีความจริงจัง และเรื่องที่ไม่ได้จริงจัง หรืออาจเรียกได้ว่าทุกเวลาที่อยู่กับลูก เมื่อเริ่มสนทนาไม่ควรพูดแทรกเด็ก เมื่อเห็นต่าง ควรให้เด็กพูดจบก่อน เพื่อให้ได้รับฟังว่าแท้จริงแล้วลูกต้องการจะสื่ออะไร เพราะการพูดแทรก จะแสดงถึงการไม่ยอมรับความคิดของเด็กในทางอ้อม ทำให้เด็กที่ยังเล็กอาจจดจำ และนำไปทำตามได้ นอกจากนี้การฟังลูกพูดให้จบจะทำให้รู้จักตัวตนของลูก และรู้ได้ว่าลูกกำลังต้องการอะไร มีมุมมองอย่างไรต่อเรื่องที่สนทนา
- แสดงความตั้งใจเมื่อสนทนา : ถึงแม้จะไม่พูดแทรกลูก ไม่ด่วนตัดสินใจเมื่อได้สนทนากับลูกก็จริง นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะแค่เงียบเฉย ๆ เท่านั้น เพราะถ้าหากแสดงกิริยาท่าทางในเชิงไม่ใส่ใจ หรือไม่สนใจ เช่น ขณะลูกกำลังพูดอยู่คุณพ่อคุณแม่ทำการดูโทรทัศน์, เลื่อนโทรศัพท์ ไปจนถึงการแสดงออกทางสีหน้าว่าเบื่อหน่ายที่จะฟัง ก็ไม่แตกต่างกับการปฏิเสธความคิดของเด็กเลย เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกดี และสัมผัสได้ถึงการรับฟังของเรา ควรจะต้องตั้งใจฟังเขาเหมือนกับที่เราอยากให้คนอื่นตั้งใจฟังเราเวลาสนทนานั่นเอง
- เราเป็นตัวอย่างของลูกเสมอ : เด็กเล็ก หรือเด็กวัยกำลังโต ไปจนถึงเด็กวัยรุ่น ตราบใดที่ยังใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในชีวิตประจำวัน เขาจะสามารถซึมซับสิ่งที่เขาเห็นไปโดยไม่รู้ตัว หากเราเป็นแบบไหน ก็จะเป็นภาพสะท้อนของเด็กไปด้วย เขาจะนำไปทำตามได้ ดังนั้นในการใช้ชีวิตประจำวันเรายิ่งต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งที่ต้องทำ
ขั้นตอนที่ 2 ฝึกลูกให้เข้าใจ
รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คำนี้คงไม่ยากแล้วเมื่อเราแสดงให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง และสร้างความคุ้นชินให้กับลูกในขั้นตอนที่ 1 ที่เราได้กล่าวไปแล้ว สิ่งสุดท้ายคือ การให้ลูกได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช่ความคิดเห็นกับผู้อื่น และมีโอกาสได้รับฟัง ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
- ไม่รีบจบบทสนทนา : เมื่อได้คุยกับลูกในทุก ๆ เรื่อง ควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการพูดคุย พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนาที่จบลงด้วยการออกคำสั่ง เราไม่ควรทำให้ทุกหัวข้อพูดคุยจบที่ความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น หรือที่เราเรียกว่า “การตั้งคำถามแบบปลายเปิด” เพื่อให้ลูกมีความกล้าที่จะพูด เข้าใจความแตกต่างด้านความคิดของตนเอง และของคนรอบตัว เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในทุกวัน และกับทุกเรื่อง
- พูดคุยต่อด้วยเหตุผล : หลังจากที่ลูกแสดงความคิดเห็นจากคำถามปลายเปิดแล้ว เราควรตอบโต้ด้วยเหตุ และผล หากความเห็นของลูกไม่ถูกต้อง ยิ่งต้องอธิบายให้เขาฟังว่าสิ่งที่เขาคิดผิดอย่างไร ส่งผลเสียอย่างไร และควรทำแบบไหนแทน นอกจากจะเป็นการสอนลูกในเรื่องต่าง ๆ ในทางอ้อมแล้ว ยังทำให้เด็กเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะในตอนที่เขาพูด คุณพ่อคุณแม่ก็ฟังเขาเป็นอย่างดีเช่นกัน
- เตือนทุกครั้งที่ผิดพลาด : เด็ก ๆ นั้น อาจแสดงการปฏิบัติตัวที่ไม่ค่อยน่านักในบางครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ คงไม่มีใครทำสิ่งที่ถูกตลอดชีวิต เมื่อเด็กไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น เพื่อน หรือคนในครอบครัว แน่นอนว่าต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะเข้าไปตักเตือนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้อง อย่าปล่อยไว้โดยเด็ดขาด เพราะลูกจะเข้าใจว่าเขาสามารถทำได้ และสิ่งที่เขาทำไม่ได้ถูกตักเตือนก็อาจหมายถึงไม่ได้ผิดนั่นเอง
สิ่งพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างการ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ควรฝึกเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อปลูกฝังให้เด็กนำไปใช้ในทุกช่วงอายุของพวกเขา เนื่องจากในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่สอนได้ง่ายกว่า และมีการต่อต้านน้อยกว่าวัยรุ่น ถือเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม
บทความที่น่าสนใจ
ความเป็นส่วนตัว ของเด็ก สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม
“ความเคารพ” สำคัญสำหรับเด็ก ฝึกอย่างไรให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังเล็ก
ลูกไร้ความ “มั่นใจในตัวเอง” เกิดจากอะไร ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ที่มาข้อมูล : momster