อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของคุณแม่ท้อง ที่มักเกิดขึ้นบ่อยก็คือเรื่องของโรค “เบาหวาน” ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งเราเองก็เข้าใจว่าช่วงท้องคุณแม่มักกินอาหารและขนมมากกว่าปกติ โดยเฉพาะของหวานที่อดไม่ได้เลยใช่ไหมล่ะคะ หลายคนก็ให้เหตุผลว่า “กินเผื่อลูก” แต่บางอย่างที่ยิ่งกินมากยิ่งอันตรายนะ อย่าง “น้ำตาล” ที่กินมากก็เสี่ยงจะทำให้เกิดโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคนท้องจะต้องมีการ ตรวจเบาหวานคนท้อง และควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ตามเกณฑ์
สารบัญ
ตรวจเบาหวานคนท้อง ตอนกี่เดือน?
ในการตรวจฝากครรภ์ส่วนใหญ่คุณหมอจะตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในช่วงเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 24-28) หรือช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งหากคุณแม่มีน้ำหนักเกิน หรือเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในท้องก่อน และเคยเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากขึ้นกว่าคุณแม่คนอื่นๆ
ตรวจเบาหวานคนท้อง ตรวจยังไง ?
คุณหมอจะตรวจคัดกรอง 4 ขั้นตอนดังนี้
- การซักประวัติ ว่าเคยเป็นโรคเบาหวาน หรือมีคนในครอบครัวเป็นมาก่อนหรือไม่
- ตรวจร่างกาย เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และคำนวณดัชนีมวลกาย (ค่า BMI) เพื่อดูว่าคุณแม่มีน้ำหนักเกินหรือไม่
- ตรวจน้ำตาลในเลือด โดยปกติระดับน้ำตาลในเลือดไม่ควรเกิน 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าตรวจวัดและมีค่าตัวเลข 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
- ตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ จะตรวจเพิ่มเมื่อพบน้ำตาลในเลือดสูง
คนท้องห้ามน้ำตาลเกินเท่าไหร่
ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นแบ่งเป็น 2 ระดับ และควรอยู่ในระดับตามนี้
- ระดับน้ำตาลก่อนอาหาร ควรจะน้อยกว่า 95 mg/dL
- ระดับน้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ควรจะน้อยกว่า 120 mg/dL
คนท้องเป็นเบาหวาน มีผลต่อลูกในท้องอย่างไร
หากคุณแม่เป็นเบาหวานจะส่งผลต่อลูกน้อยดังนี้
- ลูกจะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
- ลูกตัวใหญ่ คลอดยาก
- ลูกจะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
- ลูกจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ
- ลูกอาจแท้งได้
- ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้
คนท้องเป็นเบาหวาน กินอะไรได้บ้าง
- เน้นรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย เช่น แก้วมังกร, แคนตาลูป, ฝรั่ง เป็นต้น
- เลือกกินอาหารปรุงสุกที่สด สะอาด ควรเลือกการปรุงแบบ ตุ๋น ต้ม นิ่ง ลวก อบ ย่าง
- เลือกกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่หรืออกไก่ หมูเนื้อแดง เนื้อปลา ไข่ หลีกเลี่ยงหนังหรือส่วนที่ติดมัน
- เลือกกินคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการแปรรูปน้อย หรือไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต วุ้นเส้น หรือขนมปังโฮลวีต
คนท้องเป็นเบาหวาน กินไข่ต้มได้ไหม?
โปรตีนจากไข่ หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ สามารถกินได้ ในการวิจัยพบว่าการกินไข่ไก่ 1 ฟองใหญ่ต่อวันจะสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ถึง 4.4 เปอร์เซ็นต์
คนท้องเป็นเบาหวาน กินอัลมอนด์ได้ไหม?
กินได้ เพราะอัลมอนด์นั้นอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ถือเป็นกลุ่มอาหารที่คุณแม่ท้องที่เป็นเบาหวานควรกิน และเลือกกินให้บ่อยขึ้น
คนท้องเป็นเบาหวาน กินถั่วลิสงได้ไหม?
กินได้ ถั่วลิสงถือเป็นแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ การกินโปรตีนให้เพียงพอจะช่วยให้สมดุลของสารอาหารมีมากขึ้น และควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น
คนท้องเป็นเบาหวาน กินกล้วยน้ำว้าได้ไหม?
แม้ว่ากล้วยน้ำว้าจะเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน แต่ก็จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินและมีเส้นใยสูงมาก สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานเราแนะนำให้กินได้ไม่เกิน 1 ลูกต่อวัน
อาหารลดน้ำตาลในเลือด ที่แม่ท้องควรกิน
มีอาหารหลายอย่างเลยที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือก เรารวบรวมมาให้คุณแม่แล้ว ไปดูกันเลย
- อโวคาโด อุดมไปด้วยไขมันดี ไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกายของคุณแม่
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังช่วยจำกัดกลูโคสได้อีกด้วย
- กระเจี๊ยบ อุดมไปด้วยสารประกอบที่มีส่วนช่วยในการลดน้ำตาลในเลือด เช่น โพลีแซคคาไรด์ (polysaccharides) และฟลาโวนอยด์ (flavonoid antioxidants) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
- บรอกโคลี อุดมไปด้วยซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) สารชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลิน และลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ฟักทอง เมล็ดฟักทอง อุดมไปด้วยไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระในเมล็ดฟักทองนั้นเต็มไปด้วยไขมันดี และโปรตีน มีผลการวิจัยพบว่าเมล็ดฟักทอง 65 กรัม สามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้มาก 35 เปอร์เซ็นต์
- โยเกิร์ต มีประโยช์มากมาย รวมถึงการลดน้ำตาลในเลือดด้วย มีงานวิจัยพบว่า ผู้ใหญ่ 32 คน ได้ทานโยเกิร์ตติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และยังช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลินในร่างกายให้เพิ่มขึ้นอีกและในโยเกิร์ตยังมี แคลเซียมที่มีส่วนช่วยในเรื่องของกระดูกอีกด้วย
หากคุณแม่พบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานแล้ว จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน และไปตรวจฝากครรภ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพของทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในท้องค่ะ
ที่มา : โรงพยาบาลนนทเวช , โรงพยาบาลนนทเวช 2 , โรงพยาบาลนครธน , โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลจุฬารัตน์ , โรงพยาบาลวิมุต เทพธารินทร์