ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรก แม่ท้องอ่อนห้ามทำอะไรบ้าง

มาดูกันว่า ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรกมีอะไรบ้าง

ช่วงเวลา 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนที่กำลังเติบโต และมีพัฒนาการ ให้แม่ท้องสัมผัสได้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงท้าย ๆ ของเดือนที่ 3 ลูกน้อยจะเริ่มมีการตอบสนองเพิ่มเติม มีพัฒนาการของอวัยวะอย่าง มือ และเท้า แต่ถึงแม้ว่าลูกน้อยในครรภ์จะค่อย ๆ มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ช่วงเวลา 3 เดือนแรก แม่ท้องก็ต้องระวังเป็นพิเศษ ทั้งการดำเนินชีวิต และอาหารการกิน เพราะจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ แม่ท้องอ่อนห้ามทำอะไรบ้าง ในช่วงเวลา 3 เดือนแรกนี้

แม่ท้องอ่อนห้ามทำอะไรบ้าง

1. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก

อาหารที่ปรุงไม่สุก หรือกึ่งสุก กึ่งดิบ อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ ทำให้ท้องเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ที่เกิดจากการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดิ (Toxoplasma gondii) จากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือน้ำนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เมื่อคุณแม่รับประทานเข้าไป เชื้อชนิดนี้จะส่งผ่านไปสู่ทารกได้

การติดเชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดิ (Toxoplasma gondii) ในช่วง 3 เดือนแรก มีความเสี่ยงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ที่ลูกน้อยจะได้รับเชื้อปรสิตนี้ผ่านทางรกด้วย ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียบุตร ทารกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ เช่น ตับ ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ มีอาการชัก น้ำคั่งในสมอง โรคหัวบาตร หรือหัวลีบ สมอง และไขสันหลังอักเสบ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก หรือ ปัญญาอ่อน เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงอาหารทะเล

แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาบางชนิด รวมถึงอาหารทะเลบางชนิด ซึ่งมักมีการสะสมของสารปรอทสูง เนื่องจากสารปรอทจะไปทำลายระบบประสาทของทารกได้

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยง ปลาหลายชนิด นอกจากนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงปลาดิบ หอยดิบ ซาชิมิ ซูชิ สัตว์ทะเลรมควัน ซึ่งอาจไม่ได้ผ่านการปรุงที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส จนสุกเต็มที่ ทำให้เสี่ยงที่จะติดเชื้อจากอาหารเหล่านี้

เนื้อปลาที่แม่ท้องสามารถรับประทานได้ ได้แก่ ปลาดุก ปลาพอลล็อค ปลาแซลมอน ปลาทูน่า กุ้ง โดยเนื้อปลา และกุ้งที่ผ่านการปรุงสุกจนสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย จะมีสีขุ่น เนื้อปลาจะล่อนเป็นชิ้น ๆ ส่วนหอยก็ควรจะปรุงจนฝาเปิดออกเอง

3. ระวังการใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์

แม่ท้องควรรับประทานยา เฉพาะตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และต้องแจ้งต่อแพทย์ทุกครั้งด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ และมีอายุครรภ์กี่สัปดาห์ เนื่องจากยาแต่ละตัว ส่งผลต่ออายุครรภ์แตกต่างกันไป ในช่วง 1 – 3 เดือนแรก ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เด็กพิการ เจริญเติบโตช้า หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้

หากรับประทานยามาก่อนหน้าที่จะรู้ว่าตั้งท้อง เช่น ยาแก้สิว ยาแก้ไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวดท้อง หรืออาหารเสริมต่าง ๆ คุณแม่ควรนำยานั้นไปปรึกษาคุณหมอ ว่ายังสามารถรับประทานต่อไปได้หรือไม่

ยาสามัญประจำบ้านหลาย ๆ ชนิด ก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ โดยยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น เช่น ยาพาราเซตามอล แก้ปวดลดไข้ ยาคลอเฟนิรามีน แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน และผงเกลือแร่

แม่ท้องอ่อนควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

4. หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อันตราย

สภาวะแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อครรภ์ เช่น มีควันบุหรี่ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากสัตว์ บริเวณที่มีการแผ่รังสี การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี รวมไปถึงงานบ้านบางอย่าง เช่น ต่อเติมบ้าน ทาสีบ้าน ล้างห้องน้ำ ใช้ยาฉีดยุง ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างเล็บ ซึ่งมีส่วนผสมที่เป็นอันตราย สามารถดูดซึมผ่านผิวหนัง และการหายใจ จากการวิจัยพบว่า แม่ท้องที่อยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ สุขภาพของลูกในครรภ์ และการคลอดก่อนกำหนด

แม้แต่ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ในผัก ผลไม้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด และแขน ขาพิการแต่กำเนิด การเข้าใกล้บริเวณที่มีการแผ่รังสี หรือได้รับรังสีเอกซเรย์ ในปริมาณมาก อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เจริญเติบโตช้า มีผลต่อการพัฒนาของสมอง และเสี่ยงต่อมะเร็ง

5. ห้ามใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์

บุหรี่ และแอลกอฮอล์ เป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดของคนท้อง เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ เชื่อกันว่านิโคตินในบุหรี่ สามารถผ่านรกไปยังทารกได้ ซึ่งจะเข้าไปกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ และการเต้นของหัวใจ คุณแม่ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งลูก หรือคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้สูบบุหรี่

และถึงแม้ว่าคุณแม่จะคลอดครบกำหนด ลูกก็มักจะออกมาตัวเล็กกว่าปกติ น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็ว และอาจมีภาวะการหายใจล้มเหลวอย่างฉับพลันได้ ทารกมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจ และบางครั้งอาจเกิดความพิการรุนแรง หรือมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า หรือบกพร่อง

ไม่เพียงแต่การสูบบุหรี่เท่านั้น แต่การได้รับควันบุหรี่จากการที่สามี หรือคนใกล้ชิดสูบ ก็มีความเสี่ยงมากเช่นเดียวกัน แม่ท้องจึงไม่ใช่แต่งดสูบบุหรี่เท่านั้น แต่ยังต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีควันบุหรี่อีกด้วย

อีกหนึ่งสารเสพติดที่แม่ท้องต้องหลีกเลี่ยงนั่นคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไปทำลายเซลล์ประสาทของทารก ทำให้ทารกมีปัญหาด้านการเจริญเติบโต น้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็ก โครงสร้างสมองผิดปกติ บกพร่องทางสติปัญญา มีปัญหาด้านความจำ และมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น

หากคุณแม่ท้องดื่มแอลกฮอล์ในปริมาณมาก อาจทำให้ทารกมีลักษณะร่างกายที่ผิดปกติ ช่องตาสั้น ร่องริมฝีปากบนเรียบ ริมฝีปากบนยาว และบาง หนังคลุมหัวตามาก จมูกแบน ปลายจมูกเชิด บริเวณส่วนกลางใบหน้ามีการพัฒนาน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเฉพาะของทารกในครรภ์ที่มารดาดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome)

แม่ท้องอ่อนต้องงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ รวมถึงสารเสพติดประเภทอื่น ๆ

6. ลดความเครียด

แน่นอนว่าความเครียดของแม่ท้อง จะส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการแท้ง หรือสูญเสียบุตรได้ ความเครียดของแม่ท้องจะไปกระตุ้นการผลิตสารเคมี และฮอร์โมนในร่างกาย ที่ทำให้หลอดเลือดแคบลง จนออกซิเจนไม่สามารถผ่านไปเลี้ยงมดลูกได้อย่างเพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก แม่ที่มีความเครียดสูงมักจะคลอดก่อนกำหนด และคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เด็กกลับมามีสุขภาพที่สมบูรณ์

นอกจากนี้ ฮอร์โมนความเครียดที่ส่งไปยังทารกในครรภ์ ทารกจะมีการตอบสนองต่อความเครียดเหล่านั้น ซึ่งหากทารกมีการตอบสนองที่มากเกินไป ก็อาจเสี่ยงต่อความผิดปกติ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือโรคในกลุ่มออทิสติก ได้

7. หลีกเลี่ยงความสวยความงามบางประเภท

ซาวน่า เนื่องจากความร้อนที่ได้รับจากซาวน่า จะทำให้ร่างกายขาดน้ำ และเกลือแร่ ส่งผลให้เลือดมีความข้น มีโอกาสเกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้ ซึ่งทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงทารกน้อยลง ทารกอาจเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หรืออาจถึงขึ้นแท้งได้

การทำสีผม ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองระยะยาว เพื่อยืนยันว่าการทำสีผมระหว่างตั้งครรภ์นั้นปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงการทดลองในสัตว์ก็ยังไม่พบความผิดปกติในการพัฒนาของตัวอ่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่แนะนำให้คุณแม่ทำสีผมในช่วง 3 เดือนแรก เพราะหนังศีรษะสามารถซึมซับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย แม้จะเพียงปริมาณน้อย แต่หากเลี่ยงได้ ก็ควรเลี่ยงไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

8. การลดน้ำหนัก และอดอาหาร

หากคุณแม่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ว่า ต้องอดอาหาร หรือห้ามรับประทานอาหารบางประเภท คุณแม่ก็ควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ และเพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน งานวิจัยพบว่า คุณแม่ท้องที่อดอาหารมีอัตราคลอดก่อนกำหนดสูง และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกในครรภ์สมองพิการอีกด้วย เนื่องจากขาดสารอาหารที่จะช่วยบำรุงสมองของทารก เช่น โฟเลตที่ได้จากผัก ผลไม้ รวมถึงวิตามินต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างอวัยวะสำคัญ หากคุณแม่กังวลเรื่องน้ำหนักหลังคลอด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเบา ๆ ก็จะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี

พฤติกรรม และการดำเนินชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลอย่างมากกับการเจริญเติบโต และพัฒนาการของลูกน้อย

บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ

อาการคนท้องที่พบบ่อยในไตรมาสแรก

การปฏิบัติตัวของคนท้อง : ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรให้ถูกต้อง

9 ภาพตัวอ่อนในท้องแม่ ซูมให้เห็นกันชัด ๆ แบบที่คุณต้องอึ้ง