เด็กแรกเกิดยังพูดจาบอกความต้องการไม่ได้ สิ่งเดียวที่เด็กแสดงออก คือ การร้องไห้ ซึ่งนี่อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ยังอ่อนด้อยประสบการณ์เข้าใจว่าลูกร้องเพราะหิว เวลาลูกร้องก็จับเข้าเต้า หรือยัดขวดนมใส่ปากลูกทุกครั้ง กลายเป็นให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จนอาจเป็นการ overfeeding
Overfeeding คืออะไร
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้อธิบายถึงการ Overfeeding ไว้ว่า เป็นการที่ลูกกินนมเยอะเกินไป หรือกินนมจนล้นกระเพาะ จนแสดงอาการดังต่อไปนี้
- นอนร้องเสียงเป็นแพะ เป็นแกะ แอะ ๆ แอะ ๆ
- บิดตัวเยอะ ร้องเสียงเอี๊ยดอ๊าด คล้ายเสียงประตูไม่หยอดน้ำมัน
- มีเสียงครืดคราดในคอ คล้ายเสมหะในคอ แต่เป็นเสียงของนมที่ล้นขึ้นมาที่คอหอยแล้ว
- แหวะนม อาเจียนบ่อย ออกมาทางปากหรือจมูก
- พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา
นอกจากนี้ คุณแม่สามารถสังเกตเจ้าตัวน้อยได้จากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป ซึ่งน้ำหนักของทารกปกติในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้น ดังนี้
- 0-3 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 600-900 กรัม/เดือน
- 4-6 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 450-600 กรัม/เดือน
- 7-12 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 300 กรัม/เดือน
หากเจ้าตัวน้อยของคุณแม่น้ำหนักเพิ่มมากกว่า 35 กรัมต่อวัน หรือ เกิน 1 กิโลกรัม/เดือน แสดงว่าถูก Overfeeding ซึ่งเด็กจะอึดอัด งอแง ปวดท้อง โยเย ร้องไห้ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่เพราะหิว หากคุณแม่ยังให้ลูกกินนมอีก เขาก็จะอาเจียนออกมา เพราะว่านมมันล้นกระเพาะของเด็กแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : นมแรกสำหรับลูกสำคัญที่สุด วิธีเลือกนมผงแรกให้ลูก ต่อจากนมแม่ ต้องเลือกอย่างไรให้ดีกับลูกน้อยที่สุด
ให้ลูกกินนมเยอะเกินไปอันตรายอย่างไร
การที่เด็ก ๆ ถูก Overfeeding นั้น ความจริงไม่เป็นอันตราย แต่ลูกจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ซึ่งการปล่อยให้เด็กกินนมมากเกินไป อาจทำให้เกิดเสียงครืดคราดในลำคอเด็ก จนทำให้เด็กแหวะนม หรืออ้วกนมออกมาทางจมูกและปาก รวมทั้ง หลังจากเด็กอ้วก กรดในกระเพาะของเด็กจะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดลม และทางเดินอาหาร ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกแสบร้อนท้องและกลางอก หากอ้วกบ่อย กรดน้ำย่อยในกระเพาะก็จะกัดหลอดลม และหลอดอาหารเด็กจนเป็นแผล ทำให้ลูกไม่สบายตัว งอแง นอกจากนี้ หากลูกกินนมผงอยู่ นอกจากลูกจะอึดอัด ไม่สบายตัว ร้องไห้งอแง และอาเจียนบ่อยแล้ว ยังอาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินจุ และนำไปสู่โรคอ้วนได้ในอนาคต
อีกอาการหนึ่ง ที่เกิดจากการที่เด็กกินนมมากเกินไป คือ ท้องกาง ซึ่งเป็นภาวะที่เด็กอิ่มเกินไป จนทำให้ปวดท้อง หากทิ้งไว้นาน จะทำให้ลำไส้ทำงานหนักมากจนย่อยนมแม่ไม่ได้ และไม่สามารถดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายได้ สุดท้ายเด็ก ๆ อาจอาเจียนหนักจนอาจถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลได้ หากคุณพ่อคุณแม่ เคยชินกับการป้อนนมลูกเมื่อลูกร้องไห้ หรือว่างอแง ทำจนเป็นนิสัย เมื่อลูกโตขึ้น ลูกอาจเข้าใจว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการกิน เครียดก็กิน เศร้าก็กิน เหงาก็กิน อิ่มหรือยังไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องฟาดให้เรียบแล้วปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เด็ก ๆ กลายเป็นโรคอ้วนได้ในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : คุณแม่รู้รึเปล่า ลูกกินนมแม่มากเกินไป ก็มีโทษเหมือนกันนะ
วิธีป้องกันการให้ลูกกินนมเยอะเกินไป
- อย่าให้ลูกกินนมเยอะเกินไป ควรให้นมเด็กชั่วโมงละ 1 ออนซ์ก็พอ
- ให้ดูว่าลูกอึครบ 2 ครั้งหรือยัง โดยในแต่ละครั้ง อึของลูกควรมีขนาดกว้างเท่ากับแกนกระดาษทิชชู่
- ดูว่าเด็กฉี่ครบ 6 ครั้ง หรือยัง หากฉี่ครบ 6 ครั้งแล้วแสดงว่าลูกได้รับนมปริมาณที่เพียงพอแล้ว
- การที่ลูกไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน หรือทำท่าขยับปากอยากดูดตลอดเวลา ไม่ได้เป็นเพราะว่าเด็กหิวเสมอไป ถ้าเห็นลูกพุงกางเป็นน้ำเต้าแล้ว ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกไปที่อื่น เช่น เล่นกับลูก อุ้มลูกเดิน ให้ลูกดูดจุกหลอก เป็นต้น
- หากลูกงอแงจะดูดเต้าให้ได้ ควรปั๊มนมออกก่อน เพื่อที่ลูกจะได้ไม่กินนมเข้าไปเยอะเกิน และควรกะเวลาให้ลูกกินนมประมาณ 20 นาทีก็พอ
- อย่าเข้าใจผิดว่าเด็กอ่อนต้องน้ำหนักขึ้นเดือนละ 1 กิโลกรัมจนต้องป้อนนมลูกตลอด
หากลูกได้รับนมมากเกินไป คุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกอาเจียน งอแง และแหวะนมบ่อย เพื่อป้องกันการให้นมลูกมากไป คุณแม่ควรลดความถี่ และปริมาณในการให้นม และควรหมั่นชั่งน้ำหนักลูกให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม หากลูกน้ำหนักเพิ่มเร็วมาก ก็อาจแปลว่าลูกได้รับนมมากเกินไป คุณแม่จึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการให้นม เพื่อให้ลูกมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ให้นมลูกต้องอ่าน ข้อดีของนมแม่ ให้นมลูกเองดีต่อน้ำหนักของลูก
แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม ถ้าลูกเข้าเต้าตอนเราป่วยลูกจะป่วยไหม?
การให้นมลูก ปริมาณน้ำนม และความถี่ในการให้นม ฉบับคู่มือแม่มือใหม่
ที่มา : breastfeedingthai , facebook