วิธีการเลือกของเล่นให้ลูกขวบปีแรก
พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ แนะนำว่า ของเล่นสำหรับลูกน้อยในช่วงอายุขวบปีแรก ควรเน้นในเรื่องของประสาทสัมผัสต่างๆ ค่ะ เนื่องจากว่าเด็กทารกยังอยู่ในช่วงของการเสริมสร้างทักษะต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และพัฒนาการทางร่างกาย ดังนั้น พ่อแม่ควรเลือกซื้อของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ เช่น
- หนังสือผ้า โดยให้เลือกหนังสือที่มีผิวสัมผัสต่างๆ ในเล่มด้วย เช่น เป็นผิวขรุขระ ผิวหยาบ ผิวลื่น เพื่อให้น้องๆ รู้จักผิวสัมผัสต่างๆ ค่ะ
- หนังสือเสียง หรือของเล่นที่มีเสียง ไม่ว่าจะเป็นกดแล้วมีเสียงหรือว่าจิ้มแล้วมีเสียงก็ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าลูกน้อยจะได้ฝึกทักษะการฟัง และจะได้สนุกเวลาเล่นของเล่นด้วยค่ะ ทั้งนี้คุณหมอยังแนะว่า คุณพ่อคุณแม่อาจซื้อเป็นรถหัดเดิน (walker) ก็ได้ เพราะนอกจากจะให้น้องได้หัดเดินแล้ว ของเล่นที่รถยังมีเยอะมาก ทั้งเป็นโมบายบ้าง ที่กดมีเสียงบ้าง ทำให้น้องสามารถใช้ได้นานตั้งแต่เล็กจนโตประมาณ 2-3 เพราะเบบี๋สามารถลากเล่นไปเรื่อยๆ ได้ค่ะ
- ของเล่นที่มีรูปร่าง รูปทรง อาจจะเป็นบล็อกที่ให้น้องนำชิ้นส่วนเข้าไปต่อให้ตรงกับรูปทรง เพื่อให้น้องได้เรียนรู้ว่ามรูปทรงอะไรบ้าง มีลักษณะอย่างไร
นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสี การนับ และอื่นๆ เพิ่มด้วย คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นให้ลูกเยอะๆ แต่ให้เน้นที่ซื้อมาหนึ่งชิ้นแล้วสามารถให้น้องเล่นอะไรต่อได้บ้างมากกว่าค่ะ เด็กจะได้ฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์อื่นๆ ด้วย ที่สำคัญ ทำให้พอแม่ประหยัดเงินได้ดีอีกด้วยค่ะ
[caption id="attachment_301967" align="aligncenter" width="500"] ของเล่นทารกน่ารัก[/caption]
วิธีการเลือกของเล่นให้ลูก 1-3 ขวบ
หนูน้อยวัยนี้จะเริ่มมีความซุกซน และอยากรู้อยากเห็น นอกจากของเล่นเดิมที่มีอยู่พ่อแม่อาจต้องหาของเล่นที่เหมาะสมกับวัยให้มากขึ้น เช่น การปล่อยให้ลูกเล่นสนามเด็กเล่น ปีนป่าย หรือเล่นนอกบ้านดูบ้าง เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกการขยับข้อต่อต่างๆ ตามร่างกาย ฝึกการวางแผนการเคลื่อนไหว (Motor planning) ฝึกความคิดและจินตนาการในการเล่นรูปแบบต่างๆ เพราะการที่ลูกน้อยได้วิ่งเล่นซุกซน จะทำให้เขารู้สึกถึงระมัดระวังตัวเอง และระมัดระวังคนอื่นด้วยค่ะ แต่พ่อแม่ต้องคอยดูด้วยนะคะ ลูกจะได้ไม่เล่นอะไรแผลงๆ และไม่เป็นการรบกวนคนอื่น หรือเล่นอะไรที่รุนแรง โดย นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ยังได้เสริมอีกว่า “เด็กซน คือ เด็กฉลาด แต่เด็กซนที่ไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ฉลาดกว่า"
[caption id="attachment_301966" align="aligncenter" width="500"] ของเล่นทารกน่ารัก[/caption]
วิธีการเลือกของเล่นให้ลูก 3-4 ขวบขึ้นไป
สำหรับเด็กวัยนี้ ของเล่นที่เหมาะสมจะเป็นการเล่นบทบาทสมมติ หากย้อนกลับไปในเด็กเชื่อว่าคุณแม่หลายคนคงจำได้ว่าตัวเองเคยเล่นขายของบ้าง เป็นรคุณหมอบ้าง หรือเป็นนักร้อง หรือถ้าคุณพ่อ ตอนเด็กๆ คงเล่นเป็นตำรวจจับผู้ราย หรือแม้แต่ยอดมนุษย์ต่างๆ นั่นแหละค่ะที่เรียกว่าบทบาทสมมติ ซึ่งการเล่นรูปแบบนี้จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าแต่ละอาชีพต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการสร้างการจดจำในตัวละครนั้นๆ อีกทั้งยังเป็นการบังคับตัวเองไม่ให้อยู่หลุดจากตัวละครที่ตัวเองเป็นอยู่ แน่นอนว่าในแต่ละวันเด็กๆ อาจจะสวมบทบาทที่ต่างกัน ตามที่เด็กๆ ได้ยิน ได้เห็น แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเข้าใจการใช้ชีวิตมากขึ้น เกิดความคิดสร้างสรรค์ และอาจทำให้เด็กเกิดจุดประกายความฝันขึ้นมาก็ได้ค่ะ
[caption id="attachment_301965" align="aligncenter" width="500"] ของเล่นทารกน่ารัก[/caption]
หมอแนะ..ของเล่นลูกมากไปใช่ว่าดี
คุณหมอออกมาเตือนคุณพ่อคุณแม่ว่า ของเล่นที่ซื้อให้ลูกไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กจับจดกับการเล่นของเล่น เล่นของเล่นแต่ละชิ้นได้แปปเดียวก็เปลี่ยนไปเล่นของเล่นอื่น ทำให้ลูกไม่สามารถที่จะเล่นของเล่นชิ้นนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นของเล่นแต่ละชิ้นด้วยค่ะ
วิธีการส่งเสริมการเล่นที่เหมาะสมที่สุด คุณหมอได้แนะนำว่า ให้พ่อแม่จัดพื้นที่เล่นในมุมต่างๆ ของบ้าน และควรจัดให้สอดคล้องกับโรงเรียน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสอบถามลูกว่าที่โรงเรียนคุณครูให้ทำอะไรหรือสอนเรื่องอะไรบ้าง ก็อาจจะทำมุมนั้นๆ ขึ้นมาให้ลูก จากนั้นก็ปล่อยให้ลูกอยู่กับของเล่นตัวเอง เพื่อให้เขาได้มีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง และเป็นการฝึกการเสริมสร้างจินตนาการ
ของเล่นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นของที่เสียเงิน หรือมีราคาแพง คุณพ่อคุณแม่อาจจะหยิบเอาก้อนหิน ก่อนกรวดให้ลูกเล่นก็ได้เหมือนกันค่ะ นำมาให้ลูกฝึกนับ หรือดูรูปร่างของมัน หรืออาจจะเป็นสิ่งของในบ้านก็ได้ ส่วนสำคัญคือ พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในการเล่นของลูกบ้าง โดยการใช้วิธีชวนตั้งคำถาม เช่น หินนี้มีรูปร่างแบบไหน ดอกไม้มีสีอะไรบ้าง เป็นต้น
เรื่องการจัดเก็บของเล่นก็มีความสำคัญไม่น้อย คุณพ่อคุณแม่ควรจัดเก็บของลูกแยกประเภทไว้ในแต่ละชั้น และต้องวางไว้ให้ลูกเห็นของเล่นแต่ละชิ้น ซึ่งจะทำให้เด็กเห็นภาพความสมบูรณ์ของของเล่น และเมื่อเขาเล่นแล้วชิ้นส่วนหายไป เด็กๆ ก็จะรับรู้ได้ว่าของเล่นมันไม่เหมือนเดิม ทำให้น้องๆ เล่นของเล่นอย่างระมัดระวัง และรู้จักรักษาของค่ะ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------