วัคซีนพิษสุนัขบ้า ควรฉีดหรือไม่? หลายคนอาจสงสัยในความจำเป็นนี้ และคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ห่างไกลตัว และยากที่เราจะมีโอกาสได้รับเชื้อ หากกำลังสงสัยถึงคำถามนี้ บทความนี้จะพาไปหาคำตอบว่า วัคซีนพิษสุนัขบ้า จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ต้องฉีดอย่างไร และแม้ท้องฉีดได้หรือเปล่า
ทำไมต้องฉีด “วัคซีนพิษสุนัขบ้า?”
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ สู่คนที่มีอันตรายและร้ายแรงที่สุด เพราะเมื่อเป็นแล้ว ไม่สามารถทำการรักษาให้หายได้ อีกทั้งโรคพิษสุนัขบ้า ยังสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่สามาถพบได้บ่อยในสุนัข ที่เป็นสัตว์เลี้ยงแสนรัก หรือ สัตว์ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของเราที่สุด
ใน 1 ปี มีคนที่ถูกสุนัขกัดในประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งของคนเหล่านั้น จะเข้ามารับการรักษาที่สาธารณสุข และจำเป็นจะต้องรับวัคซีน อิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งเป็น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เพราะหากผู้ป่วยได้รับเชื้อและเกิดโรคพิษสุนัขบ้า อาจทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
วัคซีนพิษสุนัขบ้าคืออะไร?
วัคซีนพิษสุนัขบ้า คือ วัคซีนที่ป้องกันโรคเชื้อไวรัสเรบี (Rabies) หรือ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำเชื้อ เช่น สุนัข แมว ลิง ค้างคาว เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้รับเชื้อจากการกัด หรือข่วน ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกัน จะช่วยป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยวัคซีนจะผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว เมื่อฉีดเข้าไป จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อพิษสุนัขบ้า
วัคซีนพิษสุนัขบ้าในไทยมีกี่ชนิด?
ปัจจุบันวัคซีนพิษสุนัขบ้า ที่ใช้ในประเทศไทย มีด้วยกัน 3 ชนิด ดังนี้
- วักซีนไข่ไก่ฟักชนิดบริสุทธิ์ (Purified Chick Embryo Cell Vaccine: PCECV) คือ วัคซีนที่ผลิตขึ้น โดยการเพาะเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่
- วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ (Purified Vero Cell Rabies Vaccine: PVRV) คือ วัคซีนที่ผลิต โดยการเพาะเลี้ยงเชื้อในวีโรเซลล์ (Vero Cells)
- วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ชนิดโครมาโทกราฟี (Chromatographically Purified vero cell Rabies Vaccine: CPRV) คือ วัคซีนที่ผลิตโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อในวีโรเซลล์ (Vero Cells) และ ผ่านกรรมวิธีโครมาโทกราฟี เพื่อสกัดออกมาทำเป็นวัคซีน
การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
วัคซีนพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น และต้องฉีดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพราะการฉีดจำเป็นต้องทำตามเอกสารกำกับยาอย่างชัดเจน เพื่อปริมาณการใช้ยาที่ถูกต้อง ซึ่งการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
-
ฉีดป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า
วัคซีนเพื่อการป้องกันพิษสุนัขบ้า ผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ เป็นกลุ่มที่ควรฉีดป้องกัน เช่น กลุ่มที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ ผู้ที่ทำงานกับเชื้อไวรัส เป็นต้น
2. ฉีดเพื่อป้องกันเมื่อสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อ
แพทย์จะพิจารณาการใช้วัคซีนเมื่อผู้ป่วยถูกสัตว์กัด หรือข่วน ซึ่งจะต้องพิจารณารับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะหากมีการติดเชื้อแล้ว ไม่สามารถทำการรักษาให้หายได้
ผู้รับวัคซีนต้องปฏิบัติอย่างไร?
ในการฉีดวัคซีน ผู้รับวัคซีนควรรับอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด และต้องรับจนกว่าจะครบโดส เพื่อประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนไม่ครบ หรืออาจไม่สามารถมารับได้ตามกำหนด จะต้องรีบแจ้งแพทย์ผู้ดูแลโดยทันที หากมีการฉีดวัคซีนที่คาดเคลื่อนเพียง 2-3 วัน ก็สามารถฉีดต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มโดสใหม่
คนท้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่?
คนท้อง หรือ คุณแม่ให้นมบุตร หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน ควรทำการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ และโทษที่อาจได้รับจากวัคซีน เพราะตัวยาอาจมีการปนเปื้อนไปสู่น้ำนม หรือ ถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้
ผลข้างเคียงที่อาจได้รับจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า
การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ แต่ในบางรายอาจพบอาการข้างเคียงได้ อาการที่มักพบบ่อย มีดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- มีอาการบวมแดง หรือปวดบริเวณที่ฉีด
- ปวดกล้ามเนื้อ หรือ ข้อต่อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากกว่าอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ และต้องรีบพบแพทย์ มีดังนี้
- ปวดแสบปวดร้อน
- เกิดเหน็บชา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีไข้ หนาวสั่น
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- มีอาการชัก เกร็ง
- มีแผลฟกช้ำ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง
- หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ
- แขน ขา บวม
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ปกติ
กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื้อพิษสุนัขบ้า เป็นเชื้อที่ไม่สามารถทำการรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อแล้ว อาจมีความอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องรับวัคซีนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาร่วมกัน เพื่อการป้องกันการแพร่กระจายของโรค
ที่มาข้อมูล pobpad dibukhospital
บทความที่น่าสนใจ
โรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายรุนแรงถึงชีวิต ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าสายเกินแก้
ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกสุนัขกัด? โดย ผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
อุทาหรณ์! วัคซีนพิษสุนัขบ้า ถึงฉีดประจำแต่ถ้าได้รับเชื้อรุนแรงก็ทำให้ตายได้