คลอดก่อนกําหนด อันตรายไหม ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่านต่างกังวลใจ ไม่ว่าจะคุณแม่มือใหม่หรือผ่านการคลอดบุตรมาแล้วก็ตาม ยิ่งอายุครรภ์ยังไม่ถึงเกณฑ์ในระยะปลอดภัยด้วยแล้ว การรอดชีวิตของทารกถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวตนเอง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า แม่ท้องกำลังเสี่ยงในภาวะอันตรายเช่นนี้
คลอดก่อนกำหนด ในคุณแม่ตั้งครรภ์คืออะไร
การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) คือ ภาวะของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ปากมดลูกเปิด เนื่องมาจากมดลูกขยายและหดตัวก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์หรือประมาณ 9 เดือน ทั้งนี้อายุครรภ์ที่สมบูรณ์เตรียมคลอดได้จะอยู่ที่ 37-40 สัปดาห์ เรียกว่าระยะปลอดภัย แต่หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้นก่อน ถือเป็นการคลอดก่อนกำหนดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ได้
การคลอดก่อนกำหนด ที่มีสาเหตุมาจากสุขภาพของแม่
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละท่านนั้นห่วงสุขภาพตัวเองและทารกน้อยแค่ไหน ทั้งทางโภชนาการและการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันเพื่อให้ลูกที่เกิดมานั้นปลอดภัยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม สุขภาพของคุณแม่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด
1. โรคประจำตัวที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์
โรคประจำตัวอย่างโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เหล่านี้ ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากระหว่างที่อุ้มท้อง ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนตลอดเวลา อีกทั้งโรคเรื้อรัง ยังทำให้คุณแม่ต้องรับประทานยารักษาอาการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
2. ภาวะเครียดและกดดัน
ยิ่งคุณแม่มือใหม่ยิ่งเครียดค่ะ เครียดว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร เครียดเรื่องลูกในท้อง อีกทั้งระดับฮอร์โมนที่ทำให้สภาวะอารมณ์แปรปรวน คุณแม่บางท่านประสบปัญหาโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์เลยก็มี ยิ่งไตรมาสที่ 3 ช่วงตั้งครรภ์ 6 เดือนท้องจะเริ่มใหญ่ขึ้น ร่างกายก็อึดอัด เหนื่อยง่าย ฮอร์โมนขึ้น ๆ ลง ๆ เผชิญกับภาวะทางร่างกายต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ยิ่งสร้างความเครียดให้คุณแม่มากขึ้น
3. คุณแม่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
ความกังวลของคุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ยิ่งมีความกังวลอย่างมาก เพราะคุณแม่อาจเคยเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากในยามที่ต้องคลอดทารกก่อนเวลาอันควร ซึ่งท้องที่สองนี้ อาจทำให้คุณแม่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ อีกก็เป็นได้
4. ภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ ภาวะติดเชื้อภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบขับถ่าย ทั้งทางปัสสาวะ อุจจาระที่คุณแม่หลายท่านกังวล และติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคไข้เลือดออก ยิ่งตอนนี้ โลกเราต้องเผชิญกับเชื้อไวรัส Covid – 19 ยิ่งเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น บางรายต้องเลือกว่า จะรักษาชีวิตแม่หรือชีวิตเด็กไว้
5. ไม่ระวังตนเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
คุณแม่หลายท่านยังคงติดกับชีวิตประจำวันก่อนตั้งครรภ์ เช่น การเดินเร็ว การยกของหนัก ออกกำลังกายหนัก ๆ ซึ่งการที่ยังติดความเคยชินเหล่านี้ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ โดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน ถ้าจะออกกำลังกาย คุณแม่สามารถว่ายน้ำ โยคะ ได้ถึงไตรมาส 2 หรือ 28 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้ ทำได้แค่เดินเบา ๆ นิดหน่อยค่ะ
การคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุจากความผิดปกติภายใน
นั่นคือ “มดลูก” ค่ะ อวัยวะสำคัญในการโอบอุ้มดูแลทารกตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงวันที่เขาออกมาลืมตาดูโลก มดลูกจึงเหมือนบ้านที่ทารกอยู่อาศัยในครรภ์ เติบโตและรับสารอาหารในนั้น หากมีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เกิดขึ้น ย่อมเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดแน่นอน
1. ภาวะปากมดลูกสั้น
ให้เรานึกถึงถุงที่มีปากหูรูดสั้น ๆ เสี่ยงต่อการแตกปริได้ง่าย แต่หากมดลูกมีหูรูดยาว จะมีความยืดหยุ่น หด ยืด ขยายได้ดี ตรงนี้เรียกว่าปากมดลูกยาว หากคุณแม่มีปากมดลูกสั้นแค่ 2 เซนติเมตร ต้องระวังการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากเมื่อทารกน้อยค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น มดลูกขยายใหญ่ขึ้น จนปากมดลูกปริ นั่นถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งคุณแม่จะทราบว่าปากมดลูกของตนเองสั้นหรือยาวนั้นก็ต่อเมื่อมีการอัลตราซาวนด์ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4 เป็นต้นไปค่ะ
2. มีเนื้องอก และมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีเนื้องอกหรือซีสต์ในมดลูก ก้อนเนื้อจะไปเบียดกับทารกทำให้มดลูกบีบรัดผิดปกติ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ รูปร่างของมดลูกที่ผิดรูปผิดร่าง หรือมีมดลูก 2 ข้าง ทั้ง 2 สาเหตุนี้ทำให้คุณแม่มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
3. ถุงน้ำคร่ำเกิดการติดเชื้อ
เกิดภาวะแทรกซ้อนในถุงน้ำคร่ำเช่น อาการอักเสบ จากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งส่วนใหญ่ จะมาจากช่องคลอดผ่านเข้าไปถึงมดลูกและถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มทารก
การคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุมาทารกในครรภ์
นอกจากสุขภาพของคุณแม่แล้ว สุขภาพของทารกเองก็สำคัญ เพราะไม่ว่าคุณแม่จะดูแลครรภ์ของตนเองดีอย่างไร แต่หากทารกไม่สมบูรณ์ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
1. ทารกหยุดหายใจ
หลายเหตุผลเหลือเกินที่ต้องสูญเสียทารกไปก่อนที่พวกเขาจะออกมาพบกับคุณแม่ ไม่ว่าจะเหตุผลใด ๆ ก็ตาม การที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ค่ะ
2. ความผิดปกติทางร่างกาย
ทารกจะมีกำหนดคลอดโดยปกติอยู่ที่อายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ แต่ระหว่างนั้น การอัลตราซาวนด์ใด ๆ หากแพทย์พบว่ามีความผิดปกติทางร่างกาย หรือพิการ แพทย์จะทำการผ่าคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษาชีวิตของทารกเอาไว้ จากนั้นนำมาดูแลในตู้อบกับอุณหภูมิที่เหมาะสมจนกว่าเขาจะสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง
3. คุณแม่มีลูกฝาแฝด
ในทางการแพทย์แล้ว การตั้งครรภ์ลูกแฝด คือ การตั้งครรภ์ไม่ปกติ เนื่องจาก 50 % จะมีภาวะคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากมดลูกของคุณแม่จะบีบตัวเร็ว อาจทำให้คุณแม่มีภาวะน้ำท่วมปอดจนเสียชีวิต ดังนั้นแพทย์จึงมักทำการคลอดก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัยทั้งลูกแฝดและคุณแม่
สัญญาณอันตรายบอกว่า คุณแม่ท้องกำลังจะคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่มีอาการเจ็บท้อง คล้ายการบีบรัดของมดลูกประมาณ 4-5 ครั้งภายในเวลา 20 นาที
- บั้นเอว และ หลังล่างมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง
- มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีน้ำใสออกมาจากช่องคลอด หรือที่เรารู้จักในภาวะ “น้ำเดิน”
- คุณแม่ตัวบวม ซึ่งเกิดจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ด่วน
- รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง นั่นแสดงว่าเขากำลังขาดออกซิเจน
คุณแม่ท้องควรดูแลตัวเองอย่างไร
- คุณแม่ต้องฝากครรภ์ เพื่อวางแผนกับคุณหมอในการเช็กร่างกาย และจดบันทึกความเปลี่ยนของตัวเองทุกสัปดาห์
- ตรวจเลือด ตรวจโรคประจำตัว ถ้าจะให้ดี ควรตรวจร่างกายเพื่อวางแผนมีบุตรเสียก่อน
- ดูแลตัวเองเรื่องโภชนาการทางสุขภาพร่างกาย รับประทานอาหารปรุงสุก จดบันทึกในสิ่งที่รับประทานในแต่ละวันยิ่งดี
- ดูแลสุขภาพใจ อย่าเครียด อย่าให้ความแปรปรวนทางอารมณ์มาทำร้ายร่างกาย
- พยายามอยู่ในบรรยากาศที่ถ่ายเท ฝึกการหายใจ เข้า-ออก ยาว ๆ เพื่อฝึกสมาธิ
- หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง จดบันทึกไว้ เพื่อเวลาไปพบคุณหมอจะได้ปรึกษาทันที
คลอดก่อนกําหนด อันตรายไหม ทารกจะเป็นอย่างไร
- ทางด้านหัวใจนั้น เส้นเลือดที่เชื่อมต่อจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย กับเส้นเลือดที่เชื่อมไปสู่ปอด อาจเปิดอยู่ ทำให้เลือดผ่านเข้าสู่ปอดมากกว่าปกติ จนทำให้ทารกหอบ
- ในส่วนของปอด อาจขาดสารลดแรงตึงของผิวปอด ทำให้ถุงลมแฟบ จนมีอาการหายใจหอบ ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปสักระยะ
- สมองเล็กกว่าปกติ หากทารกหนักไม่ถึง 1,500 กรัมก็เสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองได้
- กระเพาะ ลำไส้ มีความบอบบาง ระบบการทำงานไม่ปกติ เช่น การย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ยาก ทารกอาจต้องได้รับอาหารผ่านทางสายยางผ่านหลอดเลือดดำ
- จอประสาทตาไม่สมบูรณ์ อาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกได้ ส่วนหู อาจเสี่ยงต่อความบกพร่องทางการได้ยิน
- เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาง่ายมาก
ทารกแรกเกิดต้องการน้ำนมเหลืองเพื่อพัฒนาการที่ดี
น้ำนมเหลืองจากอกแม่เป็นสารอาหารเสริมภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อทารกวัยแรกเกิดทุกคน เทียบได้กับวัคซีนธรรมชาติที่แม่มอบให้ลูก อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิดที่ช่วยเสริมพัฒนาการครบรอบด้าน เช่น แลคโตเฟอร์ริน MFGM และ DHA เป็นต้น
เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด จะทำให้มีความเสี่ยงหลายอย่างตามที่เราได้กล่าวไปด้านบน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีความกังวลว่าหลังคลอดก่อนกำหนดแบบนี้ ตนเองจะมีน้ำนมเหลืองให้กับทารกหรือไม่ เพราะน้ำนมเหลืองขึ้นชื่อว่าเป็นนมระยะที่มีสารอาหารมากที่สุด และมีในช่วงหลังคลอด 1 – 3 วัน โดยทั่วไปแล้วคุณแม่จะมีน้ำนมเหลืองเช่นเดิม เพียงแต่น้ำนมเหลืองอาจต่างจากคุณแม่ที่คลอดตามกำหนด คือ มีโปรตีนมากกว่า เพราะทารกต้องการอาหารที่มากกว่าเพื่อพัฒนาการนั่นเอง
การให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้มีโอกาสกินน้ำนมเหลือง เรื่องนี้คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยวัยแรกเกิดจะได้รับสารอาหารเสริมภูมิคุ้มกันจากนมแม่ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำนมไหลก่อนคลอด น้ำนมเป็นสีขุ่น ๆ แบบนี้ผิดปกติไหม ?
8 อาหารเพิ่มน้ำนมคุณแม่ ให้มีน้ำนมพอ รวมมาให้หมดแล้ว !
สารอาหารในน้ำนมแม่ สุดยอดประโยชน์จากธรรมชาติสำหรับลูกน้อย
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนด ได้ที่นี่!
คลอดก่อนกำหนด สาเหตุมาจากอะไรคะ แล้วมีอาการอะไรบ้างคะ
ที่มา : raisingchildren, raisingchildren