ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของผู้หญิงถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการปกติของการตั้งครรภ์ แต่ก็มีบางอาการเช่นกันที่เมื่อเกิดแล้วส่งผลให้แม่ท้อง เกิดความกังวล สงสัย ว่าผิดปกติและเสี่ยงเกิดอันตรายต่อครรภ์หรือไม่ อาทิ อาการหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ ผิดปกติไหม จะรับมืออย่างไรดี มาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กันค่ะ
อาการหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
หลังการตั้งครรภ์เริ่มต้นขึ้นประมาณเดือนเศษขึ้นไป มีความเป็นไปได้ค่ะว่าคุณแม่อาจมี อาการหน่วงท้องน้อย แบบปวดนาน ๆ ครั้ง ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน ซึ่งเกิดจากมีการเกร็งตัวของมดลูกแบบไม่รุนแรง มดลูกขยายตัว เจ็บท้องหลอก ปัญหาระบบย่อยอาหาร ฯลฯ แต่หากมีอาการมากกว่า 10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมงติดต่อกันหลายชั่วโมง ถือได้ว่ามีความผิดปกติค่ะ โดยอาการหน่วงท้องน้อยระหว่างการตั้งครรภ์เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้ดังนี้
-
อาการท้องแข็งเพราะมดลูกหดรัดตัว (Braxton Hick Contraction)
เป็นอาการเจ็บท้องหลอก มักเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ทำให้มี อาการหน่วงท้องน้อย ทุก ๆ 5-10 นาที ซึ่งจะปวดหน่วงเป็นช่วง ๆ และไม่รุนแรง อาการปวดไม่สม่ำเสมอและหายได้เอง
-
กล้ามเนื้อตึง
ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลต่ออกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อด้านข้าง และหน้าท้องตึงได้ง่าย ส่งผลให้อาจมีอาการปวดหน่วงได้
-
การขยายตัวของมดลูก
มดลูกที่ขยายตัวเพื่อรองรับการเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ ทำให้เกิดแรงกดทับอวัยวะภายในและเส้นประสาท อาจทำให้รู้สึกปวดหน่วงที่ท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือนได้ โดยอาจปวดท้องใกล้ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง
-
ระบบการย่อยอาหารไม่ดี
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์สามารถทำให้คุณแม่รู้สึกมีอาการหน่วงท้องน้อยได้ค่ะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารคลายตัว มีการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ลดลง มีอาการอาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน เสียดท้อง และปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
-
การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้นได้ง่ายในแม่ท้อง อาจทำให้คุณแม่มีอาการปวดหน่วงท้องน้อย และปัสสาวะบ่อยขึ้น
-
ภาวะครรภ์เป็นพิษ
เนื่องจากความผิดปกติของรก ส่งผลให้แม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจนอาจทำลายอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ทำให้เกิดการอักเสบของตับ มีอาการปวดหน่วงท้องส่วนบนหรือใต้ชายโครงด้านขวา หรือในกรณีที่เป็นครรภ์เป็นพิษรุนแรงอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เห็นภาพซ้อน ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ ปัสสาวะน้อย หายใจถี่
-
ภาวะแท้ง
เนื่องจากการบีบตัวของมดลูกเพื่อบีบไล่ชิ้นส่วนการตั้งครรภ์ออกมาตามธรรมชาติ ทำให้มีอาการปวดหน่วงท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือนรุนแรงได้ พร้อมกับมีเลือด ลิ่มเลือด หรือชิ้นส่วนการตั้งครรภ์ไหลออกจากช่องคลอด นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ รกเกาะต่ำ ได้ด้วย
อาการคนท้อง หน่วงท้องน้อยช่วงตั้งครรภ์ แบบไหนอันตราย
โดยทั่วไปแล้ว อาการหน่วงท้องน้อย ช่วงระหว่าง ตั้งครรภ์ เป็นอาการที่พบได้บ่อยและไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ใช่ภาวะที่จะวางใจได้เสมอไปค่ะ เนื่องจาก อาการหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ ที่มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็เป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีต่อไปนี้
- ปวดท้องหรือหลังอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
- อาการปวดรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนหรือเมื่อนอนราบ
- เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะแสบ
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ท้องแข็งตัวเป็นระยะ ๆ เพราะมดลูกหดตัว เจ็บถี่ และสม่ำเสมอมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ลูกน้อยในครรภ์เคลื่อนไหวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหลังจากอายุครรภ์ 28 สัปดาห์
- มีอาการของการติดเชื้อในท้อง เช่น มีไข้ ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาเจียน
แม่ท้องดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมี อาการหน่วงท้องน้อย ช่วงตั้งครรภ์
สำหรับแม่ท้อง การพักผ่อนอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมง/วัน นอกจากจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการหน่วงท้องน้อย ให้คุณแม่ได้ด้วยนะคะ โดยคุณแม่อาจมีการออกกำลังกายเบา ๆ ร่วมกับการกินอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยลดอาการหน่วงท้องน้อย ช่วงตั้งครรภ์ และทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้น หรือจะลองเพิ่มวิธีการต่อไปนี้เข้าไปด้วยก็ได้ค่ะ อาทิ
- การประคบอุ่นบริเวณที่ปวดหน่วงเพื่อบรรเทาอาการได้
- เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและอุ้งเชิงกราน
- ลองฝึกเล่นโยคะ ออกกำลังอุ้งเชิงกราน ยืดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้
- เปลี่ยนขนาดเสื้อผ้า โดยเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบายมากขึ้น คุณแม่จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดหรือปวดเมื่อย
- นอนยกขาสูงนอนจะช่วยลดอาการบวมและปวดเมื่อย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงกินอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยอาหารสูง เพื่อลดอาการท้องผูก ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก
- แบ่งการกินอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อต่อวัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ ดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันอาการเสียดท้อง กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย และท้องอืด และควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง ถั่ว กะหล่ำปลี เนื่องจากทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ง่าย
แม้ว่าจะเป็นสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่แนะนำว่าคุณแม่ควรบันทึก อาการหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ ที่เกิดขึ้น เช่น เวลาที่ปวด ความรุนแรงของอาการ และปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษาแพทย์ในกรณีที่มีภาวะเสี่ยงเกิดขึ้นนะคะ
ที่มา : www.phyathai.com , hellokhunmor.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการคนท้อง ฉี่สีอะไร บ่งบอกสุขภาพแม่ท้องได้ไหม
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ท้องกี่วันถึงฝากครรภ์ได้ มีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์เท่าไหร่
ท้องไตรมาสแรก คำแนะนำและความเสี่ยงของคุณแม่มือใหม่