การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพมากสำหรับทุกวัย หากลูกน้อยมีปัญหาการนอนหลับ อาจทำให้นอนไม่ต่อเนื่องไม่เพียงพอ ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ รวมทั้งความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งยังนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพกาย และความวิตกกังวลใจของผู้เลี้ยงดูอีกด้วย บางครั้งเมื่อ ลูกนอนละเมอ ร้องไห้ นอนผวา หรือกรีดร้องเสียงดัง คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรดี เรามารู้จักกับปัญหาการนอนละเมอ (Parasomnia) ที่พบบ่อยในเด็ก รวมทั้งวิธีป้องกันและแก้ไขกันดีกว่านะคะ
การละเมอ (Parasomnia) ที่พบในเด็ก
ละเมอ (Parasomnia) เป็นพฤติกรรมการนอนที่เกิดขึ้นขณะกำลังหลับอยู่ ไม่รู้สึกตัว มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น การละเมอที่พบบ่อยในเด็กมีอยู่ 3 แบบค่ะ
- ฝันผวา หรือ อาการร้องตกใจกลางคืน (Sleep terror หรือ Night terror)
การนอนฝันผวา หรือร้องตกใจกลางคืน (Sleep terror หรือ Night terror) เป็นภาวะที่มีอาการผวา กรีดร้อง กระวนกระวาย ร้องไห้ พูดจาไม่เป็นภาษา โดยไม่รู้สึกตัว หากตรวจร่างกายจะพบว่า หัวใจเต้นเร็ว และออกเยอะผิดปกติ อาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 5 ถึง 15 นาที มักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังจากนอนไม่นาน โดยจะไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อตื่นมาเช้า ภาวะนี้พบบ่อยในเด็กอายุ 4-12 ปี และมักจะหายไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่บางคนก็อาจมีอาการจนโตเป็นผู้ใหญ่
ปัจจัยกระตุ้น : มีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น การเจ็บป่วย มีไข้ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ การทานยาบางชนิด เช่น ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท การอดนอน รวมถึงความเสี่ยงจากประวัติครอบครัวก็มีส่วน
การดูแลและป้องกัน : หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทุกอย่างที่กล่าวมา ร่วมทางรักษาอาการเจ็บป่วย เช่น การมีไข้ และภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ โดยไม่จำเป็นต้องปลุกเด็กขณะเกิดอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย รบกวนผู้อื่นมาก ง่วงนอนตอนกลางวันมาก ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
- ฝันร้าย (Nightmare)
การนอนฝันร้าย (Nightmare) เป็นภาวะที่ตกใจตื่นขึ้นมาในตอนกลางดึก โดยสามารถจำเรื่องราวที่ฝันร้าย ซึ่งมักเป็นเรื่องตื่นเต้นน่ากลัวได้ มักเกิดเวลาเช้ามืด ฝันร้ายพบได้บ่อยในทุกช่วงวัย
ปัจจัยกระตุ้น : ความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิตขณะตื่น
การดูแลและป้องกัน : หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่นำมาซึ่งความวิตกกังวลของเด็ก เช่น การอยู่ในสถานการณ์คับขัน หรือการดูภาพยนตร์ตื่นเต้นเร้าใจก่อนนอน ทั้งนี้หากเด็กมีอาการฝันร้ายในเรื่องเดิมบ่อย ๆ ควรมองหาสาเหตุและความเครียดของเด็ก เพื่อการแก้ไขที่ต้นเหตุด้วย เช่น การถูกคุกคามทำร้าย ความเครียดและวิตกกังวลจากการปรับตัวไม่ได้ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน
- เดินละเมอ (Sleep walking หรือ Night walking)
การเดินละเมอ (Sleep walking หรือ Night walking) เป็นภาวะความผิดปกติที่มีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ sleep terror แต่เด็กมักจะลุกขึ้นมาเดินโดยไม่รู้ตัว ลืมตาแต่ดูสับสนขณะที่มีอาการ แต่เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย มักจะเริ่มเป็นในเด็กอายุ 4-6 ปี
ปัจจัยกระตุ้น : เช่นเดียวกับ sleep terror และเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมในครอบครัวเช่นเดียวกัน
การดูแลและป้องกัน : จะเน้นที่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเช่นเดียวกันกับ sleep terror ประเด็นที่สำคัญคือการดูแลความปลอดภัยขณะเกิดอาการ เช่น ล็อกประตูห้องนอนให้มิดชิด จัดสิ่งแวดล้อมที่นอนให้เด็กไม่สามารถเดินไปปีนป่ายในที่สูง หรือเดินตกบันไดได้ เมื่อเกิดอาการ ควรพาเด็กกลับไปนอนยังที่นอนโดยสงบ ไม่จำเป็นต้องปลุกเด็ก หากมีอาการรุนแรงในเวลาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ควรพิจารณาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้ยาลดการเกิดอาการ หรือปลุกเด็กขึ้นมา ก่อนเกิดอาการในเวลาเดิม ๆ ประมาณ 15 ถึง 30 นาที ก็อาจจะช่วยป้องกันได้
ปัญหาการนอนละเมอของเด็ก (Parasomnia) เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย แต่มักจะไม่รุนแรง หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการใส่ใจและป้องกัน พิจารณาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพบว่ามีอาการรุนแรงหรือเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายขึ้น ก็จะทำให้สามารถรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพื่อทำให้สุขอนามัยในการนอนของลูกดีขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
14 วิธีให้ลูกหลับเร็ว เหมือนเสกได้ ทิปส์พ่อแม่มือใหม่ไม่รู้ไม่ได้
ลูกละเมอปกติรึเปล่า? ถ้าลูกละเมอ หรือ เดินไปข้างนอก ป้องกันได้อย่างไร
ฝันร้ายกับละเมอฝันผวาต่างกันอย่างไร?