บางครั้ง “ความจ้ำม่ำ” ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูของลูกน้อยก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไปนะคะ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เด็กชายวัย 5 ขวบคนหนึ่ง มีภาวะหัวใจผิดปกติที่เกิดจาก “การกรน” บวกกับ “ภาวะอ้วน” จนร่างกายขาดออกซิเจน จนล้มตึง หยุดหายใจ ต้องเข้าห้อง ICU นานถึง 1 เดือน โดยใส่ท่อช่วยหายใจตลอดเวลา เพราะหายใจเองไม่ได้ และต้องได้รับการผ่าตัดด่วน ดังนั้น อย่าประมาทคิดว่าเด็กอ้วนน่ารักน่าฟัดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตระหนักถึงภัยเงียบที่อาจแฝงมาด้วย มาดูกันค่ะว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภัยเงียบจาก ความอ้วนในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความรู้จักเป็นอย่างไร
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือ ภาวะการหายใจลดลง หรือหยุดหายใจขณะหลับ การหายใจหยุดชะงักเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ หรืออุดตัน มีผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อคุณภาพการนอน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ สมาธิ และการเรียนรู้ของเด็ก
โดยมีการศึกษาพบว่าโรคนี้พบได้ประมาณ 1–5% ของประชากร ส่วนการนอนกรนชนิดไม่หยุดหายใจ อยู่ที่ประมาณ 4–12% พบได้บ่อยในเด็กวัย 2 – 6 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก และมักมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยๆ ดังนั้น อาจเรียกได้ว่า “อาการนอนกรน” นับเป็นสัญญาณเตือนขั้นเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตค่ะ
สาเหตุของการเกิดโรค ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
จริงๆ แล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภทค่ะ ได้แก่
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จะพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากการหายใจไม่ออก ได้บ่อยกว่า ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในเด็กมักเกิดจาก
- การอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นในขณะหลับ ที่มักเกี่ยวข้องกับ ทอนซิลและอดีนอยด์มีอาการโต เนื่องจากมีการอักเสบซ้ำๆ เช่น จากการเป็นหวัดบ่อย ๆ
- โดยปกติขณะที่นอนหลับ ร่างกายมีการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ลำคอ ทำให้ช่องลำคอยวบตัว ส่งผลให้ทางเดินหายใจที่แคบอยู่แล้วเกิดการอุดกั้นโดยสิ้นเชิง เกิดการขาดออกซิเจนระหว่างการนอน ทำให้การนอนหลับไม่สมบูรณ์
- การรบกวนระหว่างการนอนนี้ ส่งผลให้เด็กมีความผิดปรกติทางพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์
- โรคอ้วน
- เด็กมีโครงสร้างทางเดินหายใจผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อที่คอยพยุงทางเดินหายใจด้วย
สัญญาณเตือน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่พ่อแม่ต้องสังเกต! |
|
นอนกรนเสียงดัง | เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะกรนเสียงดังเป็นจังหวะ หรือกรนจนสะดุ้งตื่น
|
นอนกระสับกระส่าย | พลิกตัวไปมาบ่อยๆ นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง |
นอนอ้าปากหายใจ | หายใจทางปาก แม้ในขณะที่ “ไม่เป็นหวัด” หายใจเสียงดัง หายใจสะดุดหรือหยุดหายใจ มีอาการไอหรือสำลักขณะหลับ |
เหงื่อออกมาก ขณะนอนหลับ | บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ |
ง่วงนอน ตอนกลางวัน | สมาธิสั้น เรียนรู้ได้ช้า หงุดหงิดง่าย มีความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม |
ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจไม่นอนกรน แต่มีอาการอย่างอื่นข้างต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตนะคะ ห้ามละเลย ที่สำคัญคือ ในเวลากลางวันอาการของลูกมักแสดงออกไม่ชัดเจน แต่เด็กบางคนจะง่วงนอน หลับในที่โรงเรียน และปวดศีรษะตอนเช้าได้ค่ะ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภัยเงียบจาก ความอ้วนในเด็ก
เด็กที่มีภาวะอ้วนจะมีไขมันสะสมบริเวณช่องคอและทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง แต่ในขณะตื่นกลุ่มกล้ามเนื้อคอหอยซึ่งมีหน้าที่ขยายช่องคอทำงานชดเชยได้ จึงไม่เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนนี้ เมื่อนอนหลับกล้ามเนื้อจะคลายตัว การทำงานชดเชยของกล้ามเนื้อขยายช่องคอทำได้ไม่เพียงพอ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบขณะหลับ เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ความอ้วน เกี่ยวข้องกับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังไง? |
|
ไขมันสะสม | เด็กที่มีภาวะอ้วน มักมีไขมันสะสมบริเวณคอ และทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง |
ต่อมทอนซิลและ ต่อมอะดีนอยด์โต | บางรายอาจมีภาวะ “ต่อมทอนซิล และ ต่อมอะดีนอยด์ โต” ซึ่งกีดขวางทางเดินหายใจขณะหลับได้เช่นกัน |
โครงสร้างใบหน้า | ในเด็กที่รูปร่างอ้วนบางคนอาจมี “โครงสร้างใบหน้า” ที่ “เสี่ยง” ต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น คางสั้น ขากรรไกรเล็ก |
ผลกระทบร้ายแรง ที่ไม่ควรมองข้าม!
ภาวะหยุดหายในขณะหลับ รวมไปถึงภาวะอ้วนในเด็กนั้น สามารถส่งผลต่อเนื่องที่ร้ายแรงต่อลูกน้อยในระยะยาวได้ อาทิ
- พัฒนาการช้า ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ สมาธิ และพฤติกรรม โดยลูกอาจมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าปกติ เนื่องจากต้องใช้พลังงานมากขณะหายใจเวลานอน และการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตลดลง
- ปัญหาสุขภาพ หากลูกน้อยมีอาการป่วยด้วยโรค OSA โดยไม่ได้รับการรักษา และปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันเลือดในปอดสูง เบาหวาน และโรคอ้วนในระยะยาวได้
- คุณภาพชีวิต ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่ออารมณ์ การเรียน และกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น สมาธิสั้น มีพฤติกรรมรุนแรง ซนมาก ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้ ไม่เชื่อฟัง มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้
นอกจากนี้ หากปล่อยภาวะหยุดหายในขณะหลับไว้นานโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลถึงชีวิตของลูกน้อยได้นะคะ
ดูแลลูกน้อยอย่างไร? ให้ห่างไกล ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-
ควบคุมน้ำหนัก
ในเด็กที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักสูงเกินกว่ามาตรฐาน การลดความอ้วนถือเป็นกุญแจสำคัญแรกในการป้องกัน และรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับค่ะ
-
ปรับพฤติกรรม
คุณพ่อคุณแม่ต้องส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และควบคุมอาหาร โดยลดขนมหวาน น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว ของทอด อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ แล้วปรับมากินอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการของช่วงวัยลูก
-
ป้องกันไว้ก่อน
หากลูกน้อยมีอาการภูมิแพ้ ควรได้พบแพทย์เพื่อทำการรักษา แม้จะเป็นหวัดเพียงเล็กน้อยก็ควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย รวมทั้งหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับเด็กที่มีประวัติภูมิแพ้ หรือเป็นหวัดเรื้อรัง เช่น การว่ายน้ำเป็นประจำ ควรรอถึงอายุ 8 ปีขึ้นไปก่อน เพื่อให้ลูกมีภูมิต้านทานและกายวิภาคที่ดีขึ้นมากเพียงพอ
-
ปรึกษาแพทย์
หากสงสัยว่าลูกน้อยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง โดยการรักษาโรคนอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก มี 3 รูปแบบ คือ
- การรักษาด้วยยา ในกรณีต่อมทอลซิล อะดีนอยด์โต หรือภูมิแพ้ร่วมด้วย และอาการ OSA ไม่รุนแรง แพทย์จะเริ่มให้การรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ และทอลซิล เป็นการผ่าตัดรักษาหลักในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในกรณีรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ตรวจพบว่ามีอาการ OSA รุนแรงร่วมด้วย ซึ่งมากกว่า 90% พบว่าหลังการผ่าตัดแล้วอาการจะดีขึ้นมาก
- รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) ใช้ในผู้ป่วย OSA ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อร่วมประสาท มีโครงสร้างใบหน้ากะโหลกศีรษะผิดปกติ หรือตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อลูกน้อยอย่างมากนะคะ การรู้เท่าทัน หมั่นสังเกต และใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกอย่างใกล้ชิดของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นเกราะอันแข็งแกร่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีค่ะ
ที่มา : กรรมกรข่าว คุยนอกจอ , www.bangkokinternationalhospital.com , www.bumrungrad.com , www.bangkokhospitalkhonkaen.com , chaophya.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ เมื่อขนมหน้า ร.ร. อาจเพิ่มความเสี่ยงเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า
สรุป 10 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ “ไอกรน” สัญญาณเตือน ไอกรนในเด็ก และ วัคซีน
อันตรายจากการหอมแก้มเด็ก แม่โพสต์เตือน อย่าให้ใครหอมลูก ไม่งั้นจะเป็นเหมือนบ้านนี้