พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA)
พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA) กล่าวว่า ร่างกายเด็กจะแข็งแรงต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างพอเพียงตามช่วงวัย เคล็ดลับการจัดเตรียมอาหารสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ปี คือ เน้นอาหารครบคุณค่าห้าหมู่ในมื้อหลักวันละ 3 มื้อและให้ลูกกินนมวันละ 2-3 แก้ว
ถ้าหากคุณแม่เลือกเป็นนมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ปี ลูกในวัยเด็กเล็กก็จะได้รับสารอาหารในกลุ่มไมโครนิวเทรียนต์ คือวิตามินแร่ธาตุต่างๆ เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นสารอาหารจำเป็นที่เติมในนมเสริมสารอาหาร นมประเภทนี้มีส่วนช่วยเติมเต็มโภชนาการจำเป็นในแต่ละวันที่เด็กจะได้รับให้มีความครบถ้วน สมดุลและพอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนก็จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง
“คุณแม่ควรทำอาหารเองทุกมื้อให้ลูก กินอุ่นร้อนทุกครั้ง ไม่แนะนำให้ซื้ออาหารปรุงสำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสไวรัส คุณแม่หรือผู้ดูแลเด็กต้องรักษาสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ใกล้ชิดเด็กเล็กไม่ว่าอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน” พญ.กิติมา ให้คำแนะนำ
สำหรับสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA) ซึ่งมีพันธกิจสำคัญประการหนึ่งคือ การส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสู่สาธารณชน เกี่ยวกับโภชนาการที่ดีและปลอดภัย อย่างเหมาะสมสำหรับอาหารเด็กเล็ก แนะนำให้คุณแม่ได้ติดตามและรับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับนมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ปี (Young Child Formula: YCF) จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น เฟสบุ๊คเพจ 1-2-3 KidsPedia คลิกที่นี่
พญ.สุชาอร แสงนิพันธ์กูล กุมารแพทย์
พญ.สุชาอร แสงนิพันธ์กูล กุมารแพทย์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในประเด็น “ลูกเล็กกินอย่างไรให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง” โดยระบุว่า อาหารครบคุณค่าห้าหมู่ที่คุณแม่จัดให้ลูกในแต่ละมื้อควรมีความหลากหลาย ไม่ควรรับประทานเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน เลือกสรรโปรตีนคุณภาพดีและเป็นแหล่งอาหารของธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น หมูเนื้อแดง ปลา ไก่ ไข่ ตับ กินสลับกันไปทุกวัน เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต
คุณหมอบอกว่า ขอให้ยึดหลักการจัดอาหารให้ลูกวัย 1-3 ปี กินอาหารมื้อหลักให้หลากหลายวันละ 3 มื้อและกินนมเป็นมื้อเสริมวันละ 2-3 แก้ว ทำอาหารให้ลูกเองดีกว่าซื้อที่ปรุงสำเร็จ หากไปซื้อของสดกลับมาจากตลาด ล้าง-หั่น-เก็บ แยกวัตถุดิบแต่ละมื้อเป็นสัดส่วน คุณแม่ต้องใส่ใจสุขอนามัยในระหว่างการทำอาหารด้วย เช่น ล้างมือบ่อยๆ ล้างวัตถุดิบอาหารต่างๆ ให้สะอาด ชวนลูกกินอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ และใช้โอกาสนี้ฝึกและสอนลูกเรื่องการล้างมือที่ถูกวิธีทั้งก่อนและหลังมื้ออาหาร โดยใช้เวลาล้างมือไม่น้อยกว่า 20 วินาที ให้ลูกล้างมือพร้อมกับร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ หรือเพลง ช้าง ช้าง ช้าง สองรอบ เพื่อมือสะอาดมีสุขอนามัย
เพชรนภา องค์ตระกูลกิจ นักกำหนดอาหาร สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย
มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก เพชรนภา องค์ตระกูลกิจ นักกำหนดอาหาร สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาหารที่มีธาตุเหล็กช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ซึ่งมีผลต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมอง ธาตุเหล็กพบมากในเนื้อแดง เครื่องในจากสัตว์ ผักใบเขียว อาหารทะเล
สารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ เช่น วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายทำงานอย่างสมดุล วิตามินอีพบมากในผักผลไม้ เช่น อะโวคาโด ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน มะละกอ น้ำมันมะกอก จมูกข้าวสาลี และถั่วอัลมอนด์ เป็นต้น
วิตามินซี มีในผลไม้กลุ่มส้ม ฝรั่ง บทบาทของวิตามินซี คือสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกันการเกิดโรคทางเดินหายใจ และเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น วิตามินเอ สารตั้งต้นของวิตามินเอคือเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริม ระบบภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายแข็งแรง มีมากในผักผลไม้สีส้มสีแดง เช่น แครอท มะเขือเทศ พริก แตงโม สตรอเบอร์รี เชอร์รี แอปเปิ้ลแดง และบีทรูท พร้อมทั้งทิ้งท้ายไว้ว่า น้ำผึ้งเป็นแหล่งอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงนี้เพราะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยให้ทางเดินหายใจชุ่มชื่นจึงมีผลต่อเนื่องในการดูแลปอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!