7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ รับมือยังไง ไม่ทำร้ายจิตใจทั้งลูกและแม่

undefined

เมื่อลูกน้อยร้องไห้ การตั้งสติของคุณแม่และคุณพ่อมีความสำคัญมากค่ะในการรับมือ มาดูกันว่าจะทำยังไงให้ตัวเองสงบสติอารมณ์และพร้อมรับมือกับน้ำตาของลูกได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว เสียงร้องไห้ของลูกน้อย นับเป็นหนึ่งในเสียงที่ทรงพลังที่สามารถกระตุ้นความรัก ความห่วงใย กังวลใจ โดยเฉพาะลูกในช่วงวัยแรกเกิดจนถึงวัยทารกที่ลูกน้อยยังไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการด้วยวิธีอื่นได้ นอกจาก “การร้องไห้” การรับมือกับเสียงร้องไห้ของลูกจึงเป็นบททดสอบสำคัญของคุณพ่อคุณแม่เลยค่ะ ยิ่งอุ้มปลอบเท่าไรลูกก็ยังไม่หยุด ความตึงเครียดและความรู้สึกต่างๆ ทั้งความกังวล ความเหนื่อยล้า และความหงุดหงิด สามารถถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กันได้ค่ะ ดังนั้น เราจึงมี 7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ มาแนะนำ เพื่อการรับมือเสียงร้องของลูกอย่างมีสติ ได้ผล ไม่ทำร้ายจิตใจทั้งลูกและพ่อแม่ค่ะ

ทำไมลูกน้อยร้องไห้ 

ทำไม? ลูกน้อยร้องไห้

ก่อนไปดู 7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ มาโฟกัสสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักกันค่ะ นั่นคือ เข้าใจว่าการที่ลูกน้อยร้องไห้เป็นเรื่องปกติ เพราะนี่คือวิธีเดียวที่ลูกวัยทารกจะใช้สื่อสารความต้องการกับคุณพ่อคุณแม่ได้ หากเข้าใจพื้นฐานนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับเสียงร้องไห้ด้วยความอดทนและความเห็นอกเห็นใจได้มากขึ้นค่ะ ซึ่งลูกน้อยอาจมีอาการร้องไห้ไม่หยุด บางครั้งร้องไห้เป็นเวลานาน หรืออาจร้องแค่เพียงครู่เดียว โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้ เช่น

  • เนื่องจากไม่สบายตัว

ความไม่สบายตัวจากการที่ลูกอยู่ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิร้อนหรือหนาวมากเกินไป อาจทำให้ลูกร้องไห้ได้ค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจอุณหภูมิภายในห้องให้เหมาะสม รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ควรมีขนาดที่พอดีตัวจนเกินไปค่ะ

  • เพราะอาการเจ็บป่วย

อาการเจ็บป่วย เช่น ไม่สบาย ตัวร้อน ปวดหัว ท้องอืด เป็นต้นเหตุของน้ำตาลูกได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรตรวจสอบและหมั่นสังเกตความผิดปกติทางร่างกายลูกอย่างสม่ำเสมอ วัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อดูว่าลูกตัวร้อนและไม่สบายหรือเปล่า หากพบว่ามีอาการป่วยควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

  • ร่างกายอ่อนเพลีย

ลูกน้อยอาจร้องไห้เพราะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย หรือง่วงนอน จะสังเกตได้ว่าเมื่อลูกไม่มีท่าทีสนใจสิ่งรอบข้าง ก็จะทำให้มีอาการร้องไห้งอแงเพราะต้องการนอนหลับได้ค่ะ

  • ความหิว

สาเหตุยอดฮิตที่ลูกร้องไห้คือ ความหิว ค่ะ โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่ยังมีกระเพาะขนาดเล็ก ทำให้อิ่มง่ายและหิวบ่อยขึ้น จนทำให้มีอาการร้องไห้งอแงบ่อยนั่นเอง

ร้องแบบไหนผิดปกติ ร้องแบบโคลิค

ลูกร้องไห้แบบไหนเรียกว่าผิดปกติ

หากทารกมีอาการร้องไห้รุนแรงและร้องไห้เป็นเวลานาน ในช่วงอายุตั้งแต่ประมาณ 2–3 สัปดาห์ไปจนถึงอายุ 3 เดือน อาจเป็นสัญญาณของอาการโคลิค (Colic) ซึ่งลูกอาจร้องไห้เป็นเวลามากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ร้องไห้ถี่มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และร้องไห้นานติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนค่ะ โดยสามารถสังเกตอาการโคลิคได้ดังนี้

  • ลูกร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ยอมหยุด อาจนานมากกว่า 3 ชั่วโมง
  • ร้องไห้อย่างรุนแรง แผดเสียง หน้าแดง กำหมัด หรืองอขาเข้าหาหน้าท้อง
  • อาจมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ผิวคล้ำหรือผิวซีดร่วมด้วย
  • ไม่ยอมกินนมตามปกติ หรือกินนมได้น้อยลงเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ
  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว

สาเหตุที่ทำให้ทารกมีอาการโคลิคนั้นอาจเป็นเพราะรู้สึกไม่สบายตัวจากการทำงานของระบบย่อยอาหาร คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตและแยกแยะให้ออกว่าอาการร้องไห้ของลูกไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นๆ เช่น หิวนม ไม่สบายตัว และควรพาลูกไปพบแพทย์หากมีสัญญาณของการอาการโคลิคเกิดขึ้นนะคะ

วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้

วิธีรับมือเมื่อลูกร้องไห้งอแง

  • อุ้มลูกโยกไปมาเบา ๆ หรือวางลงในเปลแล้วแกว่งเบาๆ
  • เปลี่ยนท่าทางการให้นมลูกเพื่อสร้างความผ่อนคลายที่เพิ่มมากขึ้น
  • พาลูกทำกิจกรรมใหม่ ๆ หลังจากที่ร้องไห้ เช่น เดินเล่นนอกบ้าน ร้องเพลง เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น
  • ใช้เสียงเพลงแบบ White Noise เพื่อช่วยทำให้ลูกเคลิ้มหลับและหยุดร้องได้
  • ปลอบลูกด้วยการร้องเพลงหรือฮัมเพลงเบา ๆ

 

7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ อย่างได้ผล

สิ่งสำคัญของคนเป็นพ่อแม่เวลาที่ลูกร้องไห้คือ ต้องมีสติ เพื่อพร้อมรับมือและปลอบโยนลูกค่ะ ซึ่งการสงบสติอารมณ์ตัวเองให้ได้เมื่อลูกน้อยกรีดร้องนั้น ไม่ใช่แค่พูดง่ายๆ ค่ะ เชื่อเถอะว่าทำได้ไม่ยากด้วย มาดู 7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ เพื่อลดระดับความตึงเครียดของคุณพ่อคุณแม่และรับมือกับน้ำตาของลูกน้อยอย่างได้ผลกันค่ะ

  1. เข้าใจธรรมชาติของเด็ก

ทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกน้อยวัยทารกว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 4 เดือน และหลังจากนั้นลูกจะค่อยๆ ร้องไห้น้อยลงเองเมื่อโตขึ้น

  1. แอบให้เวลาตัวเองได้พักบ้าง

คุณแม่ควรได้พักบ้างค่ะ โดยอาจขอความช่วยเหลือจากคุณสามี (หรือคุณภรรยา) ครอบครัว หรือเพื่อนสนิท ซึ่งในช่วงแรกเกิดนั้นเชื่อว่ามีหลายคนเลยค่ะที่พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ช่วยดูแลลูกน้อยให้ชั่วคราว แต่หากไม่มีใครอยู่ใกล้พอที่จะช่วยรับมือได้ ให้ลองใช้เวลาที่ลูกกำลังหลับ เป็นเวลาในการฟื้นฟูตัวเองของคุณแม่ด้วย เพื่อให้มีพลังมากพอที่จะรับมือเมื่อลูกร้องไห้ค่ะ

ถอยห่างจากลูกเพื่อตั้งสติ

  1. ถอยห่างจากลูกน้อย

เมื่อลูกเริ่มร้องไห้งอแงโดยที่คุณแม่ไม่สามารถปลอบให้สงบลงได้ และรู้สึกว่าตัวเองเริ่มหงุดหงิดหรือกระวนกระวายมากขึ้น ให้คุณแม่พักก่อนค่ะ ถอยห่างจากลูกนิดหนึ่ง โดยอาจวางลูกน้อยไว้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น เปล รถเข็นเด็ก แล้วไปนั่งตั้งสติ จิบน้ำ เนื่องจากการที่ลูกน้อยร้องไห้เพียงไม่กี่นาทีแบบนี้จะไม่เป็นอันตรายค่ะ การถอยห่างออกมาสามารถช่วยให้คุณแม่ได้ตั้งสติใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ดีขึ้น

  1. ทบทวนถึงวิธีการหายใจตอนคลอด

ในช่วงเตรียมตัวคลอด เชื่อว่าคุณแม่ได้เรียนรู้เทคนิคการหายใจเพื่อช่วยในการคลอดมาแล้ว ดังนั้น ทบทวนให้ได้ค่ะ แล้วนำเทคนิคเหล่านั้นมาใช้ เมื่อลูกร้องไห้ก็ใช้เวลาสักครู่เพื่อหายใจเข้าลึกๆ เป็นจังหวะ หรือนึกถึงและฮัมเพลงโปรดที่ทำให้ใจสงบ ผ่อนคลาย ซึ่งนอกจากคุณแม่จะมีสติมากขึ้นแล้วลูกน้อยก็อาจสงบลงได้ด้วยค่ะ

  1. รักษาสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง

การอดนอน ความหิว และความรู้สึกโดดเดี่ยว ล้วนทำให้รับมือกับน้ำตาของลูกน้อยได้ยากขึ้นค่ะ ดังนั้น ควรดูแลตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมรับมือเมื่อลูกร้องไห้อยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ตัวเองหิวหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะอาจส่งผลให้สภาพจิตใจไม่มั่นคงและเกิดอารมณ์โมโหได้ง่าย ควรพยายามสร้างความเข้มแข็งทางใจด้วยการงีบหลับในช่วงบ่าย (หากเป็นไปได้) และดูแลให้ตัวเองได้กินอาหารที่ดี เสริมสร้างอารมณ์ของตัวเองให้ดี จะทำให้สามารถเผชิญหน้ากับเสียงร้องของลูกน้อยและตอบสนองความต้องการของลูกได้อย่างดีค่ะ

ออกไปข้างนอกบ้าง

  1. อย่ากลัวที่จะออกไปข้างนอก

พ่อแม่บางคนกลัวการออกไปข้างนอกถ้าลูกน้อยร้องไห้มาก แต่การสูดอากาศบริสุทธิ์และการได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอาจเป็นการพักผ่อนที่ดีเยี่ยมสำหรับลูกน้อยก็ได้นะคะ เพราะเพื่อนๆ ครอบครัว หรือพ่อแม่คนอื่นๆ ที่ได้พบเจอจะมีความเข้าใจกันดีเนื่องจากเคยผ่านช่วงเวลานี้มาแล้วเช่นกัน อีกทั้งในสวนสาธารณะ ร้านกาแฟ และพื้นที่เล่นสำหรับเด็กนั้นเสียงร้องไห้ของทารกถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ ไม่มีอะไรต้องกังวลเลย

  1. ตอบสนองความต้องการลูกได้ในทุกที่

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อย่ากังวลที่จะต้องหยุดกลางทาง กลางคัน เพื่อดูแลลูกน้อยค่ะ การให้นม ตบหลัง เปลี่ยนผ้าอ้อมลูก ไม่ว่าจะในลานจอดรถ ท้ายรถ ข้างถนน ร้านอาหาร และในสถานที่อื่นๆ นอกบ้าน ไม่ต้องอายหรือคิดว่าจะเป็นการรบกวนคนรอบข้าง ถ้าการทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยสงบลงและหยุดร้องไห้ ไม่มีใครว่าแน่นอนค่ะ

พบเจอเพื่อนๆ เพื่อแลกเปลี่ยน

ทั้ง 7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ ข้างต้น หากทำเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณแม่มือใหม่ กลายเป็นคุณแม่มือโปร สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้และปลอบประโลมให้ลูกน้อยสงบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยจะร้องไห้น้อยลง เพราะคุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้และคาดการณ์ความต้องการของลูกได้แล้ว ว่าอะไรคือการร้องไห้แบบปกติ และเมื่อใดที่ควรต้องกังวล และเป็นความจริงที่ว่าช่วงเวลาของการร้องไห้นี้จะต้องสิ้นสุดลงสักวัน ไม่คงอยู่ตลอดไปหรอกค่ะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีลูกร้องไห้งอแงมากๆ จนคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถรับมือได้ อย่า! เขย่าตัวลูก หรือจับลูกอย่างรุนแรงนะคะ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจพิการได้ค่ะ

 

ที่มา : www.nct.org.uk , www.samh.co.th , www.pobpad.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ไขรหัสเสียงร้องลูก ร้องแบบไหน ต้องการอะไร

5R เคล็ดลับสร้างลูกฉลาด บ่มเพาะทักษะและความฉลาดให้ลูกง่ายๆ เริ่มได้ที่บ้าน

ฝึกลูกกล่อมตัวเอง หลับง่ายใน 5 ขั้นตอน วิธีฝึกลูกนอนยาวอย่างได้ผล

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!