ลูกเป็นโรคคาวาซากิ อาการ
แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกเป็นโรคคาวาซากิ อาการ เริ่มต้นคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา มีน้ำมูก เสมหะ แต่ไข้สูงเกิน 5 วัน โดยแม่ได้เล่าอาการของลูกที่เป็นโรคคาวาซากิ ว่า ลูกแอคโค่หัวใจ มีเส้นเลือดอักเสบ สรุปว่าเป็น คาวาซากิ ต้องให้ยา IVIG 4 ขวด อาจจะมีผลในการแพ้ยา เลยต้องให้ยาที่ห้องไอซียู เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดจะได้แก้ไขทัน เฉพาะค่ายาก็เกือบแสนแล้ว ต้องขอบคุณป้าหมอที่ใส่ใจ และพยายามหาเหตุผลว่าทำไมไข้ถึงสูงต่อเนื่อง สูงสุด 41.5 จนลองทำแอคโค่ แล้วก็เป็นอย่างที่ป้าหมอคิดจริง ๆ ดีที่รู้ไว รู้หลังเป็นไข้ 5 วัน เพราะถ้ารู้หลังจาก 7 วัน การรักษาจะยากมากขึ้น โรคนี้ทำให้เด็กสามารถเสียชีวิตได้ และเป็นโรคที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น สมองอักเสบ โรคหัวใจ โรคร้าย ๆ ทั้งนั้น ถ้าปล่อยไว้ ไม่ให้ยา ไข้ก็จะลดเอง แต่!!! เส้นเลือดก็จะอักเสบ โดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าไม่รักษาให้ถูกทาง
แม่ ๆ ลองสังเกตนะค่ะ ถ้ามีไข้สูงเกิน 5 วัน ให้ขอหมอทำแอคโค่ดูเส้นเลือด เพราะลูกตรวจเลือดยังไม่เจอ มือเท้าตัวไม่เป็นผื่นหรือลอก อาการภายนอกมีแค่ 2 อย่างคือ ต่อมน้ำเหลืองโต (มาโตวันที่ 5) ปากแดง แค่นี้ค่ะ ถ้าไม่ทำแอคโค่ก็ไม่รู้ว่าเป็นคาวาซากิเลย
คุณแม่ยังได้เล่าเรื่องลูกวัย 1 ปี 1 เดือน 22 วัน ป่วยโรคคาวาซากิ เพิ่มเติมกับทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ว่า
- อาการเริ่มต้น คือ เป็นหวัด น้ำมูก เสมหะ เยอะค่ะ พามาที่โรงพยาบาล เพื่อมาดูดเสมหะ พบคุณหมอตลอด 2-3 วันครั้งค่ะ เป็นอยู่ 2 อาทิตย์ได้ อาการเริ่มดีขึ้น แต่เริ่มมีไข้ วันที่มีไข้ เลยพามาแอทมิดที่โรงพยาบาล ไข้ 38-41.5 ค่ะ
- ไข้มีตลอด จะเว้นช่วงแค่ 1-2 ชม ที่จะไม่มีไข้ อาจเพราะให้ยาลดไข้ 2 ชนิด คือ ยาลดไข้สูงกับลดไข้ปกติ
- คุณหมอ เช็คปอด เอกซเรย์ เจาะเลือดตรวจ RSV ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไม่พบค่ะ พบแค่ติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป ให้ยาฆ่าเชื้อทางสายน้ำเกลือ แต่ไข้ก็ยังไม่ลด คุณหมอแจ้งตั้งแต่ เป็นไข้วันแรก ๆ ว่า สงสัยว่าจะเป็น คาวาซากิ แต่อาจจะไม่เป็น เพราะ การแสดงอาการภายนอกไม่ได้บ่งบอกว่าจะเป็น ค่าเลือดการอักเสบก็ขึ้นน้อย ค่าเลือดไม่ได้บงบอกว่าเป็นค่ะ
- ให้ยารักษาแบคทีเรียเข้าวันที่ 5 อาการไข้สูง เริ่มมีระยะห่างมากขึ้น ไข้สูงประมาน 4-6 ชม. ต่อครั้ง
- คุณหมอมาตรวจ พบว่าต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเข้าข่ายโรคคาวาซากิแล้วค่ะ คุณหมอเลยตัดสินใจ ที่จะ ทำแอคโค่ หัวใจ เพื่อดูเส้นเลือด ว่ามีการอักเสบหรือป่าว สรุปว่ามีเส้นเลือดขยายขึ้น ปกติ 2 mm ตรวจพบ 3mm และมีโป่งพองบางจุดค่ะ นั่นหมายถึง อาการของโรคค่ะ
- คุณหมอแจ้งว่า โรคนี้ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่จะพบมากในเด็กที่ป่วยบ่อยค่ะ ประมาณว่า มีการต้านเชื้อ ร่างกายผลิตสาร ทำให้เกิดการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากตัวเองค่ะ คล้าย ๆ ว่า อักเสบภายใน
- คุณหมอแจ้งลำดับการรักษา – ให้ยาทางเส้นเลือด IVIG 4 ขวด – ให้ทานยา แอสไพริน 2-6 เดือน
- ข้อควรระวังการให้ยา อาจจะแพ้ยา ช็อค อ้วก ผื่นขึ้น หายใจติดขัด ชัก คุณหมอแจ้งว่า ให้ยา 2 ตัวนี้ คุณหมอจะส่งตัวไป ICU เพื่อจะติดตามอาการหลังจากให้ยาอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 16 ชม.
- ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องติดตามอาการทุก 2 เดือน
- ถามหมอว่า หากไม่ให้ยาจะเป็นยังไง เพราะแม่ค่อนข้างกังวล เรื่องผลข้างเคียงของยา คุณหมอแจ้งว่า ไข้ก็จะลงปกติ แต่ก็ต้องมาลุ้นเส้นเลือดเอาว่าจะผิดปกติในระดับไหน ซึ่งหากรักษาเลย ผลข้างเคียงก็จะน้อยกว่า หากเจอหลังจาก 7 วัน คุณหมอบอกว่า หมอก็หนาวเหมือนกัน เพราะจะรักษายากขึ้น
- อาการแทรกซ้อน หากเรารู้ช้าจะมีผลต่อการรักษา อาจจะไม่ตอบสนองต่อยาหรือดื้อยา หากไม่รู้อาจจะเป็นโรคหัวใจโป่งพอง ภาวะหัวใจล้มเหลว สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ
- การให้ยา คุณหมอแจ้งว่า หากมีการแพ้ยา อาจจะปรับยาให้ช้าลง หรือถ้าแพ้เยอะ ก็จะให้ยาลำดับต่อไป อาจจะไม่ดีเท่ากับยาตัวนี้ แต่ก็ใช้แทนกันได้ค่ะ
- หลังจากให้ยา เอคโค่หลังให้ยาทางสายน้ำเกลือ จะเห็นผลชัดว่า เส้นเลือดยุบลงค่ะ
“พอให้ยา IVIG ครบ 4 ขวด อาการดีขึ้น ไข้ไม่มี ร่าเริงขึ้นค่ะ หมอให้ทานยาแอสไพริน ขนาดแรงอีก 2 วัน + กับฉีดยาเคลือบกระเพาะ เพราะแอสไพริน มักจะไปกัดกระเพาะค่ะ ถ้าอาการดีขึ้น หมอจะลดปริมาณของแอสไพริน และให้กลับไปทานต่อที่บ้านเป็นเวลา 2-6 เดือนค่ะ แล้วแต่อาการ และต้องกลับมาพบหมอ ทุก ๆ 2 เดือนค่ะ น้องยังโชคดีที่ไม่แพ้ยาใด ๆ ค่ะ ไม่มีอาการแพ้เลย มีแต่เส้นเลือดแตกต้องเปิดเส้นใหม่ค่ะ ส่วนสายที่เห็นคือ วัดความดัน ชีพจร ค่าออกซิเจน เพื่อดูอาการระหว่างให้ยา”
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว ขอให้น้องแข็งแรงขึ้นเร็ว ๆ และขอบคุณคุณแม่ที่มาแบ่งปันประสบการณ์นะคะ
โรคคาวาซากิคืออะไร
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน อธิบายถึงโรคคาวาซากิ ว่า โรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลาง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงหัวใจ ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างที่แข็งแรงของหลอดเลือดแดง ผนังของหลอดเลือดโป่งพอง จนเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดจากก้อนลิ่มเลือดที่แข็งตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้หลอดเลือดแดงนั้นอุดตันในที่สุด
โรคนี้พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง และอายุเฉลี่ยน้อยกว่า 4 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปี พบบ่อยที่สุด
โรคคาวาซากิมีสาเหตุเกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคคาวาซากิ แต่สันนิษฐานว่าโรคนี้น่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ ทำให้มีการอักเสบของหลอดเลือดเกิดขึ้น
อาการและอาการแสดงของโรคคาวาซากิเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคคาวาซากิจะมีอาการไข้สูง นาน 1-2 สับดาห์, มีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขาหลังจากมีไข้ 2-3 วัน ลักษณะผื่นมีได้หลายแบบ ไม่คัน, ตาแดง โดยที่ตาขาวจะแดงโดยไม่มีขี้ตา เกิดหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน, ริมฝีปากแดง, แห้ง, ลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอร์รี่ , ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง ไม่เจ็บ ต่อมาจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายของเล็บมือและเท้า หลังมีไข้มากกว่า 1 สัปดาห์, มีต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโตข้างเดียวหรือสองข้างของลำคอก็ได้ โดยมีขนาดเกินกว่า 1.5 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย, ปวดข้อ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติแต่ไม่ติดเชื้อได้
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือการอักเสบหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหลอดเลือดหัวใจอาจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ จนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง และเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
อ่านเพิ่มเติม โรคที่พ่อแม่ควรทำความรู้จัก : โรคคาวาซากิคืออะไร?
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
อาบน้ำเด็กไข้ขึ้นสูง วิธีลดไข้สูง ทำให้ลูกไข้ลด ต้องใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็น อาบน้ำลูก
มีเด็กเล็กต้องระวัง เตือนโรคหัดระบาดพุ่งต่อเนื่อง ตายแล้ว 18 ป่วยอีกกว่า 2,500
โรคจากยุง การป้องกันโรคที่เกิดจากยุง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย อาการโรค วิธีป้องกันโรคร้ายจากยุง