การกระโดดเป็นการออกกำลังกาย ที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรเลย แต่กลับสามารถทำให้สุขภาพกายใจ แข็งแรงได้ ไม่แพ้วิธีออกกำลังกายอื่นๆ สำหรับคุณหนูๆ แล้วสามารถสนุกคนเดียวได้ด้วยกระโดดโลดเต้นอย่างอิสระ หรือกระโดดสลับขา กระโดดเหยาะๆ อยู่กับที่ หรือกระโดดตบมือ ซึ่งท่าทางการกระโดดต่าง ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์เป็น เกมกระโดด เพื่อเล่นสนุกสนานกับเพื่อนหลายๆ คนได้ ไปจนถึงไม่จำกัดจำนวนอีกด้วย
ประโยชน์ของการกระโดดโลดเต้น เกมกระโดด ในเด็ก
การกระโดดโลดเต้น เกมกระโดด เป็นการบริหารร่างกายทุกส่วน ที่ต้องใช้กำลังแขนและขาในการเคลื่อนไหว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าก่อให้เกิดการกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เลือดสูบฉีดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้ดี อีกทั้งยังมีประโยชน์อีกหลาย ๆ ด้าน ได้แก่
- ทำให้เด็กมีสุขภาพดี
- กล้ามเนื้อแข็งแรง
- ผ่อนคลายความตึงเครียด
- พัฒนาความแข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด
- มีความจำดี/มีสมาธิ (เพราะต้องจดจ่อกับการกระโดดให้ถูกจังหวะ)
- สร้างมวลกระดูก ช่วยเพิ่มความสูง
- ลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็ก
- ช่วยให้นอนหลับสนิท
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยิมนาสติก เริ่มเรียนได้แต่อายุเท่าไหร่? เรียนแล้วดีต่อลูกของเราอย่างไรบ้าง?
คำแนะนำสำหรับเกมกระโดดในเด็กช่วงวัยต่างๆ
คำแนะนำสำหรับการกระโดดตามช่วงวัยนี้ จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเด็กๆ ได้ว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระโดดใดๆ ที่จะให้เด็กๆ ได้ทำนั้นเหมาะสมกับวัยแล้วหรือไม่
-
เด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี
ยังไม่แนะนำให้เด็กวัยนี้เล่นกระโดด เด็กในวัยแรกเกิด – 1 ปียังคงเน้นกิจกรรมบนพื้นเป็นหลัก เช่น การนอนคว่ำชันคอ การเอื้อมหยิบจับของเล่น การคลาน การนั่ง การยืน และการเดิน
-
เด็กวัย 1 – 3 ปี
การกระโดด ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเคลื่อนไหวพื้นฐานที่เด็กวัยนี้ควรได้ฝึก เช่น กระโดดอยู่กับที่ ควรปล่อยให้เด็กเล่นตามความชอบ เน้นความสนุกสนาน มีกิจกรรมการเล่นที่หลากหลายภายใต้ผู้ดูแล สถานที่และอุปกรณ์เล่นที่ปลอดภัย โดยไม่เน้นการเล่นในรูปแบบที่มีกติกาหรือเน้นผลแพ้ชนะ
-
วัย 3 – 5 ปี
เด็กวัยนี้ ควรให้ได้รู้จักสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ หรือผู้คนรอบตัว โดยการพาไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือกิจกรรมร่วมกับเด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ สำหรับการกระโดด อาจเป็นกิจกรรมการเล่นกระโดดที่ใช้อุปกรณ์ เช่น กระโดดเชือก กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ตลอดจนกิจกรรมการเล่นกระโดดที่ไม่ใช้อุปกรณ์ เช่น กระโดดขาเดียว เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : กระโดดเชือกให้หุ่นเป๊ะปัง 9 ประโยชน์การกระโดดเชือก ที่ไม่ควรมองข้าม !
9 เกมกระโดด เด็กเล่นได้ง่าย ๆ ได้สุขภาพ
โดยทั่ว ๆ ไป ก่อนกระโดดหรือเล่น เกมกระโดด ทุกครั้ง ควรวอร์มร่างกายก่อนอย่างน้อยสัก 5 นาที จะวอร์มด้วยท่ายืดแขน ยืดขาทั่วไป หรือวอร์มด้วยการซ้อมกระโดดเหยาะ ๆ ก็ได้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ร่างกาย โดย เกมกระโดด สนุกๆ เหล่านี้ มีอุปกรณ์ที่หาง่าย เตรียมไม่ยุ่งยาก อีกทั้งชวนกันเล่นได้จำนวนคนมาก ๆ อีกด้วย
-
กระโดดเชือกเดี่ยว
วิธีเล่น
ผู้เล่นจับปลายเชือก 2 ข้าง แก่งไปข้างหน้าพอเชือกแกว่งมาถึงปลายเท้าก็กระโดดข้ามเชือกทีละขา หรือพร้อมกันทั้ง 2 ขาก็ได้ ถ้าเหยียบเชือกหรือกระโดดข้ามไม่พ้นเชือกก็ต้องให้ผู้เล่นคนอื่นกระโดดต่อ ซึ่งในการกระโดดเชือกเดี่ยวนี้บางคนอาจจะแกว่งเชือกไปทางด้านหลังก็ได้
อุปกรณ์
เชือก 1 เส้น มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้เล่น (เมื่อจับเชือกสองมือใช้เท้าเหยียบกลางเชือก แล้วยกแขนขึ้นสูงระดับศีรษะของตัวเอง)
-
กระโดดเชือกคู่
วิธีเล่น
เลือกผู้เล่น 2 คนมาจับปลายเชือกคนละข้าง แล้วแกว่งไปด้านข้างทางเดียวกัน ผู้เล่นที่เหลือเข้าไปกระโดดข้ามเชือกที่กำลังแกว่าง จะกระโดดทีละคนหรือพร้อมกันหลาย ๆ คนก็ได้ ถ้าใครกระโดดสะดุดเชือก หรือกระโดดคร่อมเชือก ถือว่าตายต้องไปถือเชือกแกว่ง และให้คนที่ถือเชือกอยู่เดิมมากระโดดแทน
อุปกรณ์
เชือก 1 เส้น ยาวประมาณ 5.10 เมตร
-
กระต่ายขาเดียว
วิธีเล่น
ขีดเส้นแบ่งเขตบนพื้น และมีเขตจำกัดเส้นออกไว้ด้วย แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายเท่า ๆ กัน ตกลงกันว่าใครจะเป็นกระต่ายก่อน กลุ่มที่เป็นกระต่ายจะคิดคำขึ้นหนึ่งคำ ให้มีพยางค์เท่ากับจำนวนคนในหมู่และจำต้องกำหนดพยางค์ให้แต่ละคนด้วย เมื่อคิดคำได้แล้วหมู่ที่เป็นฝ่ายเล่นทั้งหมดก็จะเป็นผู้เลือกว่า จะเอาพยางค์ใด ฝ่ายกระต่ายคนที่มีพยางค์ตรงกับที่โดนเลือกก็จะวิ่งกระโดดขาเดียวให้เร็วที่สุด และไล่จับแตะคนในฝ่ายเล่น ถ้าคนใดโดนจับหรือถูกตัวกระต่ายก็ต้องออกจากการเล่น แต่ถ้ากระต่ายเปลี่ยนขาหรือขาแตะพื้นจะต้องเปลี่ยนเป็นกระต่ายตัวใหม่ที่ฝ่ายเล่นจะเลือก เมื่อฝ่ายเล่นถูกไล่ตีจนหมดแล้วก็ถือว่าแพ้ ต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายบ้าง
ตัวอย่างการเล่น
ฝ่ายกระต่ายมีสมาชิก 4 คน ก็คิดคำ 4 พยางค์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง คนแรกเป็น “ทุ” คนที่ 2 เป็น“เรียน” คนที่ 3 เป็น“หมอน” คนที่ 4 เป็น“ทอง” เมื่อฝ่ายเล่นเรียก“ทอง” คนที่เป็นทองต้องกระโดดขาเดียวไล่จับคนฝ่ายเล่น ถ้าเท้าตกถึงพื้นฝ่ายเล่นจะเลือกคนใหม่อีก จนกว่าจะหมด ถ้าฝ่ายกระต่ายแตะได้ก่อน หรือฝ่ายเล่นวิ่งออกนอกเส้นแบ่งเขต จะหมดสิทธิ์เป็นฝ่ายเล่นต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายแทน
-
กระโดดกบ
วิธีเล่น
เอาผ้าผูกขา 2 ข้างของผู้เล่นติดกัน เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้เล่นทุกคนจะกระโดดออกจากเส้นเริ่มต้นไปจนถึงเส้นชัย ใครไปถึงก่อนเป็นผู้ชนะ (แนะนำจำนวนผู้เล่นไม่เกิน 10 คน)
อุปกรณ์
ผ้าสำหรับใช้ผูกขาเท่าจำนวนผู้เล่น
-
ปลาหมอตกกะทะ
วิธีเล่น
แบ่งผู้เล่นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนั่งเป็นวงกลมจับมือต่อกัน กลุ่มที่ 2 ยืนอยู่นอกวง และพยายามกระโดดเข้าไปในวงกลมให้ได้ ผู้ที่นั่งอยู่ต้อง พยายามยกมือที่จับกันไว้ขึ้นสูงเพื่อกั้นเอาไว้ ถ้าถูกตัวหรือชายกระโปรง กางเกงของคนกระโดด ก็ถือว่าตายต้องมานั่งจับมือเป็นกะทะด้วย พอปลาหมอกระโดดเข้าไปหมดก็ต้องพยายามกระโดดกลับออกมาอีก แล้วผลัดกันให้กะทะไปเป็นปลาหมอคอยกระโดดข้ามบ้าง
อุปกรณ์
ไม่มี
-
เขย่งเก็งกอย
วิธีเล่น
แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละเท่า ๆ กัน ให้พวกหนึ่งเป็นผีเก็งกอย กางแขนทั้งสองข้างออกแล้วกระโดดขาเดียวไป (เรียกว่าเขย่งเก็งกอย) เมื่อเขย่งเก็งกอยไปพบผู้เล่นอีกพวกหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นชาวบ้านผีกองกอยก็จะร้องถามไปว่า
ผีกองกอย: เขย่งเก็งกอยเห็นวัวกินอ้อยที่ไหนบ้าง
ชาวบ้าน: วัวสีอะไร
ผีกองกอย: สีแดง
ชาวบ้าน: ตกน้ำแกงตายไปแล้ว
เมื่อได้รับคำตอบดังนั้นแล้ว พวกที่เป็นผีกองกอยก็จะเขย่งเก็งกอยไป แล้ววนกลับมาหาชาวบ้านอีก แล้วก็ถามกันเหมือนเดิม เพียงแต่จะเปลี่ยนสีของวัวไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าผีกองกอยตอบว่าวัวของเขาสี…
สีขาว – ชาวบ้านจะตอบว่า ตกน้ำข้าวตายไปแล้ว
สีดำ – ชาวบ้านจะตอบว่า ตกน้ำครำตายไปแล้ว
สีเขียว – ชาวบ้านจะตอบว่า ตกน้ำก๋วยเตี๋ยวตายไปแล้ว
สีเหลือง – ชาวบ้านจะตอบว่า ตกน้ำเหมืองตายไปแล้ว
สีฟ้า – ชาวบ้านจะตอบว่า ตกน้ำท่าตายไปแล้ว
สีน้ำตาล – ชาวบ้านจะตอบว่า ตกน้ำบาดาลตายไปแล้ว
อาจมีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นผีกองกอยบ้างก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน
อุปกรณ์
ไม่มี
-
ตั้งเต
วิธีเล่น
- วาดตารางตั้งเตบนพื้น – ชอล์กใช้ได้ดีที่สุดในการเขียนบนพื้นยางมะตอย พื้นหิน และพื้นคอนกรีต ช่องสี่เหลี่ยมที่วาดควรมีขนาดที่ใหญ่พอสำหรับเท้าหนึ่งข้าง และเมื่อโยนหินไปแล้ว หินจะไม่กระเด็นออกนอกช่อง แม้ว่าจะสามารถวาดตารางได้หลายรูปแบบ ตารางที่พบเห็นได้บ่อยตามโรงเรียนคือตาราง “หัวกระโหลก” นิยมให้ช่อง “10” ที่เป็นช่อง “หัวกระโหลก” เป็นช่องสำหรับพักหรือหยุด ซึ่งเป็นช่องที่ผู้เล่นสามารถหันหลังกลับหรือทรงตัว บางครั้งมีการตั้งชื่อช่องนี้อย่างสร้างสรรค์ เช่น “สวรรค์” เป็นต้น
- โยนหินรูปร่างแบน – หรือของที่มีรูปร่างคล้ายกัน (ถุงถั่วเล็ก ๆ, เปลือกหอย, กระดุม, ของเล่นพลาสติก) ไปในช่องที่หนึ่ง หินจะต้องอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมนั้นโดยที่ไม่สัมผัสขอบของช่อง หรือกระเด็นออกไป ถ้าโยนออกนอกช่อง จะต้องข้ามตาของตัวเองไป แล้วส่งหินให้ผู้เล่นคนอื่น แต่ถ้าโยนได้ ให้ทำขั้นตอนต่อไป
- เขย่งกระโดดไปตามช่อง – โดยข้ามช่องที่โยนหินไว้ จะเริ่มด้วยเท้าข้างไหนก่อนก็ได้ โดนห้ามให้เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นพร้อมกัน ยกเว้น มีช่องสี่เหลี่ยมสองช่องเขียนไว้ข้าง ๆ ในกรณีนี้ สามารถวางเท้าสองข้างพร้อมกันได้ (ช่องละหนึ่งข้าง) จะต้องให้เท้าอยู่ด้านในช่องสี่เหลี่ยมเสมอ ถ้าเหยียบเส้น ตาในเล่นก็จะจบลง
- หยิบหินที่โยนไปตอนขากลับ – เมื่อกระโดดมาถึงช่องสุดท้าย ให้หันหลังกลับโดยยังเขย่งอยู่ แล้วกระโดดย้อนกลับมา เมื่อมาถึงช่องสี่เหลี่ยมข้างๆช่องคุณโยนหินไว้ ให้โน้มตัวลงขณะเขย่งอยู่ แล้วหยิบหินขึ้นมา กระโดดข้ามช่องนั้น แล้วกระโดดมาจนสุด
- ส่งหินให้ผู้เล่นคนถัดไป – ถ้าโยนหินไปที่ช่องที่หนึ่งในตาแรกโดยที่ไม่แพ้ ในตาต่อไปให้โยนไปที่ช่องที่สอง เป้าหมายคือต้องโยนหินให้ได้ครบทุกช่อง คนที่ทำได้คนแรกจะเป็นผู้ชนะ
อุปกรณ์
ชอล์กใช้วาดตารางตั้งเต, หินรูปร่างแบนหรือของที่มีรูปร่างคล้ายกันสำหรับโยนลงช่องตารางตั้งเต
บทความที่เกี่ยวข้อง : แคมป์ปิ้ง กับครอบครัว มีกิจกรรมอะไรสนุก ๆ น่าทำบ้าง ?
- เกมกระโดด กบผลัด
วิธีเล่น
แบ่งผู้เล่นจำนวนเท่ากัน 3-4 แถว ผู้เล่นเข้าแถวตอนลึก เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มเล่นให้คนแรกของแถวทำท่ากระโดดกบไปอ้อมเสาหลัก แล้วกระโดดกลับมาที่แถวเดิม แตะมือเพื่อนคนถัดไปแล้วไปต่อท้ายแถว ผู้เล่นคนถัดไปทำเช่นเดียวกับคนแรก แถวไหนเล่นหมดครบทุกคนก่อนเป็นฝ่ายชนะ
อุปกรณ์
เสาหลัก
- เกมกระโดด กระต่ายผลัด
วิธีเล่น
แบ่งผู้เล่นจำนวนเท่ากัน 3-4 แถว ผู้เล่นเข้าแถวตอนลึก ผู้เล่นเป็นกระต่ายต้องทำท่ากระต่ายชูนิ้วข้างหู เท้าชิดติดกัน เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มเล่นให้คนแรกของแถว ทำท่ากระต่ายกระโดดเท้าคู่ไปอ้อมเสาหลัก กลับมาแตะมือเพื่อนคนถัดไปแล้วไปต่อท้าย ผู้เล่นคนถัดไปทำเช่นเดียวกับคนแรก แถวไหนเล่นหมดครบทุกคนก่อนเป็นฝ่ายชนะ
อุปกรณ์
เสาหลัก
ข้อแนะนำในการกระโดดเล่นสนุก เกมกระโดด
ควรเลือกกระโดดบนพื้น หรือบนพื้นถนนที่มีผิวเรียบเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และป้องกันการสะดุดล้มที่อาจทำให้ข้อเท้าแพลงได้ และเด็ก ๆ ควรฝึกกระโดด ฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ดังนี้
- เด็กควรกระโดดโลดเต้นเล่นสนุกจนรู้สึกเหนื่อย หรือ หอบ อย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป)
- ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อวันละ 20 นาที ควรทำวันเว้นวัน
- ฝึกความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อวันละ 20 นาทีทุกวัน
ถึงแม้ว่า ปัจจุบันนี้จะมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย และเด็กๆ จะมีของเล่นแสนสวยราคาแพง แต่การได้เล่นเกมกระโดดกับเพื่อนๆ อาจจะเป็นความทรงจำที่จะติดตัวเด็กไปจนโต เหมือนที่ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ก็เคยมีความทรงจำที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน จากการได้เล่นแบบนี้ในวัยเด็กเช่นกันค่ะ
ที่มา (animalfun)
บทความที่คุณอาจจะสนใจ
เรียนยังไงให้เกรดพุ่ง แนะนำ 13 วิธีบริหารสมอง ให้มีความจำดี ไม่ยากต้องลองทำ
10 กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ ให้ลูกน้อย เติบโตสมวัย
100 แคปชั่นออกกำลังกาย ออกกำลังกายวันละนิด เพื่อสุขภาพที่ดี