แพ้ท้อง เป็นอาการทั่วไปของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกคน แต่หากคุณแม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหนัก และมีอาการแพ้ท้องมากกว่าผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของการ แพ้ท้องรุนแรง ได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ น้ำหนักลดลง เวียนศีรษะ หรือถึงขั้นเสียชีวิต บทความนี้จะพาไปดูอาการของภาวะแพ้ท้องรุนแรงพร้อมวิธีรับมือ เพื่อที่คุณแม่จะได้ทันสังเกตค่ะ
ภาวะแพ้ท้องรุนแรง คืออะไร
อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนเอชซีจีหรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin) ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับภาวะตั้งครรภ์ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้คุณแม่อาเจียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือไม่สบายตัว โดยมักจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง
แต่สำหรับคุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง (Hyperemesis Gravidarum) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วง 9-13 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ แต่ภาวะนี้จะไม่หายไปเหมือนอาการแพ้ท้องทั่วไป อาจทำให้คุณแม่กินอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ได้ จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ผิวแห้ง อ่อนแรง เป็นลม หน้ามืด ปัสสาวะน้อย หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นช็อกและอาเจียนเป็นเลือดได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพ้ท้องมาก อันตรายไหม วิจัยเผย แม่แพ้ท้องมีโอกาสที่จะไม่แท้ง!
แพ้ท้องรุนแรง เกิดจากอะไร
ถึงแม้อาการแพ้ท้องรุนแรงจะเกิดขึ้นบ่อยกับคุณแม่หลายคน แต่ในปัจจุบันแพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะนี้ได้ แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- หูชั้นในมีปัญหา
- ไขมันในเลือดสูง
- ลำไส้เล็กรั่วกลับไปยังช่องท้อง
- ร่างกายขาดสังกะสีและวิตามินบี 6
- ระดับฮอร์โมนไทรอกซินเพิ่มสูงขึ้น
- ตั้งครรภ์แฝดหรือภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก
- เกิดความผิดปกติที่ตับหรือการบีบตัวของทางเดินอาหาร
- การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอชซีจี ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น
อาการแพ้ท้องรุนแรงเป็นอย่างไร
อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงมักพบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ซึ่งหากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยทันที
- ปวดหัว มึนงง
- ความดันโลหิตต่ำ
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- มีน้ำลายมากผิดปกติ
- มีภาวะขาดน้ำ ผิวแห้ง
- คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง
- รับประทานอาหารไม่ได้
- อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม
- อาเจียนบ่อย มากกว่า 3-4 ครั้งต่อวัน
- น้ำหนักลดลงกว่า 5% หรือลดลงมากกว่าก่อนตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน อาการของคนท้อง พร้อมวิธีรับมือ บรรเทาอาการ
วิธีรักษาอาการแพ้ท้องรุนแรง
แพ้ท้องรุนแรงสามารถรักษาได้หลายวิธี หากคุณแม่สังเกตว่าตัวเองมีอาการแพ้ท้องผิดปกติ ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยโดยทันที ซึ่งวิธีการรักษาอาการแพ้ท้องรุนแรงแพทย์จะวินิจฉัยตามอาการของคุณแม่ ดังนี้
-
ใช้ยา
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะจ่ายยาตามอาการของคุณแม่ เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาลดกรดไหลย้อน และยาต้านฮิสตามีน เป็นต้น ซึ่งหากคุณแม่ไม่สามารถรับประทานยาได้ แพทย์อาจใช้ยาเหน็บหรือให้ยาทางหลอดเลือดดำแทน ซึ่งการจะใช้ยาแต่ละอย่างนั้น คุณแม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้
-
ให้น้ำเกลือ
หากคุณแม่มีภาวะร่างกายขาดน้ำ แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อคืนสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ซึ่งเป็นวิตามินและสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งวิธีนี้จะใช้กับคุณแม่ที่มีอาการอาเจียนตลอดช่วงตั้งครรภ์ หากมีอาการที่รุนแรงมาก ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำนั่นเอง
-
ให้อาหารทางสายยาง
กรณีที่คุณแม่เกิดภาวะขาดสารอาหาร อาจจำเป็นต้องได้รับอาหารผ่านสายยางตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารสมดุล โดยอาจเป็นการใส่ท่อผ่านทางจมูกเผื่อลงไปยังกระเพาะอาหาร หรือใส่สายอาหารทางหน้าท้องไปยังกระเพาะอาหาร หากคุณแม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจรักษาอาการแพ้ท้องรุนแรงด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การกดจุด การสะกดจิตบำบัด การบำบัดแบบโฮมิโอพาธี และการพักผ่อนบนเตียง เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่รู้สึกผ่อนคลายด้วย
วิธีป้องกันอาการแพ้ท้องรุนแรง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันอาการแพ้ท้องรุนแรงโดยตรง แต่หากคุณแม่มีอาการคล้ายภาวะแพ้ท้องอย่างรุนแรง ห้ามรับประทานยาด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยของร่างกายและลูกในครรภ์ ซึ่งวิธีการบรรเทาเพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้ท้องรุนแรง มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงแสงไฟสว่างหรือไฟกะพริบ
- รับประทานธาตุเหล็กเสริมเมื่ออาการคลื่นไส้ดีขึ้น
- รับประทานวิตามินบี 6 ขิง สะระแหน่ ตามคำแนะนำของแพทย์
- ไม่รับประทานอาหารมากในมื้อเดียว ควรแบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อในปริมาณที่น้อยกว่า
- หลีกเลี่ยงการฟังเสียงรบกวนบางอย่าง เช่น เสียงวิทยุ เสียงทีวี หรือเสียงรถ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารฤทธิ์ร้อนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง เช่น ข้าวเหนียว กะทิ มะพร้าว ให้รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นแทน เช่น แตงโม แก้วมังกร น้ำใบเตย หรือข้าวยำธัญพืช เป็นต้น
- นอนพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายเกิดความสบาย แต่ระวังอย่านอนมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและน้ำหนักตัว
- รับประทานอาหารที่มีรสจืดหรือแห้ง เช่น โจ๊กหมู กล้วยสุก น้ำเต้าหู้ ปลากะพงนึ่งมะนาว และขนมปังแคร็กเกอร์ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีแก้แพ้ท้อง ตอนเช้า ตื่นมาแล้ว คลื่นไส้ตอนเช้า รับมืออย่างไร อะไรช่วยได้บ้าง
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
หากคุณแม่ใช้วิธีบรรเทาอาการข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยทันที ซึ่งอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงที่ต้องรีบไปพบแพทย์นั้น มีดังนี้
- ปวดท้อง
- อาเจียนปนเลือด
- มีภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม
- น้ำหนักลดกว่า 5% ของน้ำหนักเดิมก่อนตั้งครรภ์
- มีภาวะขาดสารอาหาร เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง
แพ้ท้องรุนแรง ถือเป็นภาวะอันตรายที่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกต หากพบว่าตัวเองแพ้ท้องหนักกว่าปกติ อาเจียนบ่อย อ่อนเพลีย เป็นลม หรือใจสั่น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นอาจหมายถึงคุณแม่กำลังมีภาวะแพ้ท้องรุนแรง ซึ่งหากไม่ทันระวัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อกหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แพ้ท้องหนักมาก แต่ลูกออกมาไอคิวสูง คุณแม่จะยอมไหม???
รวม 10 เมนูอาหาร บรรเทาอาการแพ้ท้อง สำหรับคุณแม่แพ้ท้องหนัก
วิธีแก้อาการแพ้ท้อง แม่ตั้งครรภ์แพ้ท้องหนักมาก แก้อาการแพ้ท้องอย่างไร?
ที่มา : hellokhunmor, pobpad