มีลูกยาก ปัญหาของคู่สามีภรรยาที่พร้อมจะมีลูก แต่ไม่มีสักที หลายคนคิดว่าปัญหาการมีลูกยากนั้น เกิดจากสุขภาพร่างกายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่แท้จริงสาเหตุของการมีลูกยากไม่ได้มาจากเรื่องสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเท่านั้น แต่อาจเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของสภาวะความเครียดจากปัจจัยภายนอก โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้ตัว
มีลูกยาก เกิดจากอะไรบ้าง ควรเช็คร่างกายอย่างไร?
การ มีลูกยาก คือปัญหาต้น ๆ สำหรับคู่สมรส เพราะครอบครัวหนึ่งจะสมบูรณ์ได้ มักจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ทำให้พ่อแม่หลายๆ คู่ที่พร้อมตั้งใจมีบุตรทันที หลังจากแต่งงาน แต่หลายคู่อีกเช่นกัน ที่ปล่อยให้มีน้องตามธรรมชาติแล้ว กลับไม่มีลูกสมใจสักที มาดูว่ามีสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ มีบุตรยาก โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายของผู้ชายและผู้หญิงอะไรบ้าง
1. การตกไข่ของผู้หญิง
ปัญหาการตกไข่ของผู้หญิงสามารถตรวจได้ด้วยตัวเองจากชุดทดสอบการตกไข่ เพื่อตรวจดูฮอร์โมน LH Surge ว่าสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าสูงขึ้น ภายใน 24-36 ชั่วโมง ช่วงเวลานี้ควรมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ทันที เพราะจะเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้มากขึ้น ทั้งนี้คุณผู้หญิงสามารถตรวจอัลตราซาวด์บริเวณอุ้งเชิงกรานดูว่า มีจำนวนไข่มากน้อยแค่ไหน แพทย์จึงจะสามารถคาดคะเนวันไข่ตกได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญอายุของผู้หญิงเราก็มีผลต้อคุณภาพของไข่และจำนวนไข่ ยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งมีบุตรยาก สมัยนี้ผู้หญิงจึงนิยมฝากไข่ไว้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 35 ปี
2. ท่อนำไข่ของผู้หญิงมีปัญหา
รังไข่คืออวัยวะสำคัญของผู้หญิงในการตั้งครรภ์ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ “ท่อนำไข่” เนื่องจากเป็นจุดที่ ไข่ และ อสุจิ จะมาพบกันและเกิดการปฏิสนธิ หากพบว่าท่อนำไข่ตีบตันก็ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการรักษาอย่างจริงจัง แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องดูในอุ้งเชิงกราน เพื่อประเมินสภาพของท่อนำไข่ ว่าสามารถผ่าตัดแก้ไขได้หรือไม่
3. อสุจิของผู้ชาย
มาถึงปัญหาการมีลูกยากของคุณผู้ชายบ้างแล้วค่ะ เรื่องของอสุจิ ที่พบว่า คู่สมรสมีปัญหาอสุจิจากฝั่งผู้ชายจนทำให้มีบุตรยากถึง 40% สามารถตรวจความแข็งแรงของอสุจิได้ โดยจะทราบถึงคุณภาพถึงน้ำเชื้อ ปริมาณตัวอสุจิ รวมถึงรูปร่างและความแข็งแรงได้อีกด้วย แต่การตรวจนั้น แพทย์จะให้เว้นการมีเพศสัมพันธ์สัก 3-7 วัน ก่อนตรวจเพื่อการวิเคราะห์อย่างแม่นยำ
4. มดลูกและปากมดลูก
อีกหนึ่งสาเหตุของการมีบุตรยากนั่นคือ ปัญหาเกี่ยวกับมดลูก ซึ่งอาจมีความผิดปกติของปากมดลูก โพรงมดลูก มีติ่ง มีเนื้องอกเกิดขึ้น บางคนเป็นซีสมีพังผืด ทำให้ยากต่อการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการฝังตัวของอสุจิหรือตัวอ่อน บางคนติดแล้วแต่ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้จึงเกิดภาวะแท้ง ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงมีลูกยาก ควรตรวจมดลูกให้ละเอียด เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และหากมีการครรภ์เกิดขึ้นก็ต้องคอยระมัดระวัง เพราะหากมดลูกตีบตันหรือผิดรูปอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดและเด็กอาจเสียชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: ภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย ขนาดเจ้าโลกของสามี ทำให้มีลูกยาก?
10 พฤติกรรมเสี่ยงมีลูกยาก เช็คด่วน !
-
ความเครียด
ความเครียดนอกจากส่งผลต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากอีกด้วย เพราะฮอร์โมนจากความเครียดจะทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ ทำให้ไข่เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิฝังตัวในมดลูกยาก
-
ดื่มแอลกอฮอล์มาก
การดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีลูกยาก เพราะจะทำให้ปริมาณของอสุจิลดลง ไม่แข็งแรง หรือมีรูปร่างผิดปกติ
-
กินอาหารไม่มีประโยชน์
การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้อาหารไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ ดังนั้นควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม
-
สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ อสุจิลดลง อสุจิไม่มีคุณภาพ และยังเป็นการลดการตกไข่รวมถึงการฝังตัวของตัวอ่อนอีกด้วย
-
อายุที่มากขึ้น
อายุที่มากทำให้ฮอร์โมนและความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปตามด้วย โดยเพศหญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โอกาสมีลูกก็จะน้อยลงด้วย และยังเสี่ยงต่อการที่ลูกในท้องมีความผิดปกติ เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคตับ ม้ามโต โรคปากแหว่งเพดานโหว่
-
น้ำหนักตัวที่มากเกิน
น้ำหนักขึ้น ๆ ลง ๆ หรือน้ำหนักมากหรือน้อยจนเกินไป ทำให้ร่างกายปรับตัวสำหรับการมีลูกได้ยาก และมีโอกาสเสี่ยงง่าย เนื่องจากผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์อาจจะใช้เวลา 2 เท่าถึงจะตั้งท้องได้ และหากผู้ชายมีน้ำหนักที่มากเกินไปก็ทำให้จำนวนอสุจิลดลงถึง 22 %
-
ดื่มกาแฟ
คาเฟอีนมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้มีลูกยาก และส่งผลให้โอกาสในการมีลูกลดลงถึง 26 %
-
ดื่มน้ำอัดลมบ่อย
การดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ จะทำให้อ้วน และความอ้วนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการมีบุตรยาก
-
รับสารเคมีมากเกินไป
เครื่องสำอาง สภาพแวดล้อม รวมถึงการกินอาหารที่มีสารเคมีเจือปน ก็ส่งผลให้ร่างกายทำงานหนัก ส่งผลต่อรังไข่ทำให้เซลล์สืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ
-
ไม่ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้สุขภาพดีแล้ว ยังกระตุ้นความรู้สึกทางเพศช่วยในการเจริญพันธุ์
หากอยากมีลูก ควรดูแลตัวเองอย่างไรทั้งผู้ชายและผู้หญิง
เมื่อเรารู้ระบบสืบพันธุ์ทางเพศแล้ว ว่าอะไรคือปัญหาการมีลูกยากแล้วนั้น ซึ่งเกิดจากระบบภายในร่างกายของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น อสุจิ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ที่สำคัญที่สุด การดูแลตัวเองให้ดี ย่อมส่งผลต่อระบบอวัยวะภายในร่างกายทุกส่วน ทั้งเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย
1. บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารขยะบ้าง
เราได้ยินกันมามากมายเหลือเกินว่า ต้องกินดี มีประโยชน์นะ หลายคนทำได้แต่หลายคนก็ทำไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันของทั้งผู้ชายผู้หญิงล้วนมีข้อจำกัด เช่น การหาอาหารรับประทานที่ได้อย่างใจและ ครบถ้วนตามโภชนาการนั้นยิ่งยากค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุดนั่น “เลิกกินไขมันทรานส์”
เพราะไขมันทรานส์ คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีคุณสมบัติเหมือนไขมันอิ่มตัว มักแทรกอยู่ในเนื้อสัตว์สีแดงและนมเพียง 2-5 % ถือว่าน้อยมากสำหรับไขมันทรานส์ที่พบในธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์นั้นสามารถสังเคราะห์ไขมันชนิดนี้ได้จากไขมันไม่อิ่มตัวของพืชให้อยู่ในรูปของ ทรานส์แฟต (Trans Fat) มาในรูปของเนยขาว เพื่อลดต้นทุนเนยสด จึงเป็นที่นิยมในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตขนม และอาการแปรรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่า โดนัท มันฝรั่งทอด ไก่ทอด ป๊อปคอร์น และขนมปังเป็นต้น ซึ่งอาหารและขนมเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพในด้านลบ เช่น
- คนเราสามารถได้รับพลังงานจากไขมันในรูปของไขมันทรานส์เพิ่มขึ้น 2 % และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 25%
- หากบริโภคไขมันทรานส์เพียงแค่ 2% ก็มีผลเสี่ยงต่อร่างกาย เท่ากับ การรับประทานไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ มากถึง 15 %
- มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง จากการที่ไขมันทรานส์เพียงน้อยนิด ไปแตกตัวที่ผนังเซลล์ของร่างกาย เปิดช่องให้สารก่อมะเร็งเข้าจู่โจมเซลล์ได้ง่ายขึ้น
- ไขมันทรานส์เพิ่มโอกาสการเป็นเบาหวานมากขึ้น ทำให้อ้วนลงพุง ตับทำงานหนักมากขึ้น
- ผู้หญิงที่ได้รับไขมันทรานส์มากๆ มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม และยังทำให้ตกไข่ยากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยากขึ้นค่ะ
ไขมัน คือสิ่งที่ดีต่อร่างกาย แต่ควรเลือกบริโภคอาหารและไขมันที่มีประโยชน์ เพิ่มคาร์โบไฮเดรตที่ดี เช่น แป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี คงคุณค่าสารอาหารไว้ครบถ้วนและ มีไฟเบอร์สูงอีกด้วย
2. ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป
การออกกำลังกายนั้นช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกได้ดี หากคุณผู้หญิงและคุณผู้ชาย รับประทานอาหารดี ออกกำลังกายดี ย่อมสร้างระบบภายในร่างกายที่ดี แต่การที่ทำอะไรมากเกินไปมักจะส่งผลเสียได้ เช่น การออกกำลังที่หักโหมมากเกิน การออกกำลังผิดวิธี อย่างผู้หญิงไปยกน้ำหนัก เล่นเวทอย่างผิดวิธี ก็อาจเสี่ยงอันตรายต่อมดลูกและอุ้งเชิงกราน ซึ่ง ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี อธิบายว่า
“การออกกำลังกายที่หักโหมมากเกินไป มักจะส่งผลให้มีลูกยาก เนื่องจากระบบในร่างกายเสียสมดุล เช่น กล้ามเนื้อ ระบบสมองหรือต่อมใต้สมอง ไปส่งผลระบบฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอร์โรน ทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติ ดังนั้น เมื่อการตกไข่ผิดปกติ ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ นั่นส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ในคุณผู้หญิงบางท่านอาจคิดว่า อารที่ประจำเดือนขาดคือสัญญาณของการตั้งครรภ์ แต่แท้จริงแล้ว มดลูกคุณกำลังมีปัญหาก็ได้”
- ควรออกกำลังกายในระดับปกติ เช่น เผาผลาญแคลอรี 500-1,000 ต่อวัน
- ออกกำลังกายวันละ 30-45 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- สามารถเฉลี่ยการออกกำลังกายวันละ 30 นาที 7 วันก็ได้
- ควรทำสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายเกิดการสมดุล มีการสร้างกล้ามเนื้อ มีการตกไข่อย่างปกติ ประจำเดือนไม่ขาด ก็จะทำให้มีลูกง่ายขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง:ผอมเกินไป ตั้งครรภ์ได้ยากจริงหรือ?
3. รักษารูปร่างให้ได้มาตรฐาน
ไม่ว่าคู่สมรสจะอ้วนหรือผอม ก็สามารถมีลูกได้ค่ะ แต่ต้องอ้วนและผอมอย่างพอดี มีสุขภาพที่ดี เพราะคนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนจะส่งผลทำให้คุณมีบุตรยากมากขึ้น หรือ หากคุณมีรูปร่างที่ผอมเกินไปมาก น้ำหนักตัวน้อย เช่น ผู้หญิงที่ผอมมากมักมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนในระดับต่ำ จะอ้วนหรือผอมนั้นบางครั้งรูปร่างอาจไม่สามารถบอกได้ ลองมาดูค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) กันค่ะ
- ผู้หญิงที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานหรือมีค่า BMI ระหว่าง 14-18 จะมีโอกาสให้กำเนิดลูกที่มีสุขภาพแข็งแรง 34%
- ผู้หญิงที่มีน้ำหนักมาตรฐานหรือน้ำหนักเกินเล็กน้อย (ค่า BMI 19-28) มีโอกาสสูงถึง 50%
- ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากหรือเป็นโรคอ้วน (ค่า BMI 29-43) มีโอกาส 45%
4. อย่าปล่อยให้ความเครียดเข้าสู่ชีวิตมากเกินไป
ปัจจุบันมีปัญหาความเครียดเข้ามาแทบทุกครัวเรือน ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และเรื่องสังคม ทำให้คู่ของเรามีลูกยากนั้นก็บอกได้เลยว่าเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง นอกจากความเครียดแล้ว ตัวการสำคัญอื่น ๆ คือไลฟ์สไตล์และกิจกรรมของคุณผู้ชาย ซึ่งบางอย่างได้ทำลายอสุจิ
- ควรเลิกบุหรี่ เพราะบุหรี่นั้นส่งผลต่อจำนวนเชื้อและความพลิ้วไหวของตัวอ่อนของคุณผู้ชาย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคือต้นเหตุของการลดฮอร์โมนเพศชาย ทำให้น้องชายไม่สู้ นกเขาขันยาก ลดการสร้างเชื้ออสุจิ ดังนั้นคุณผู้ชายทั้งหลาย ควรดื่มแต่พอดี
- ระวังยาบางชนิด สำหรับการรักษามะเร็ง เช่น การฉายแสงหรือเคมีบำบัดเพราะส่งผลทำลายล้างการสร้างสเปิร์มได้ ดังนั้นถ้าคุณผู้ชายมีโรคเรื้อรัง แล้วมีบุตรยากให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยารักษาโรคที่มีผลกระทบต่อการสร้างอสุจิ
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อน หรือซาวน่าบ่อย ๆ และเลี่ยงการวางโน้ตบุ๊กไว้บนตัก อย่าใส่กางเกงรัดเกินไป เพราะจะทำให้อัณฑะร้อน ตัวสเปิร์ม อ่อนแอ จนทำให้มีบุตรยากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้สารหล่อลื่นในการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเจลหล่อลื่น สามารถทําลายอสุจิได้ หากต้องการมีลูกต้องคำนึงถึงการเลือกใช้สารหล่อลื่น เพราะทุกวันนี้มีสารหล่อลื่นอยู่หลายประเภท ทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น สารหล่อลื่นที่ผสมสารทำลายอสุจิ หรือสารหล่อลื่นที่เป็นมิตรกับอสุจิ ทำให้มีลูกได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ต้องใส่ใจคือค่า PH ที่เหมาะสม (2 – 8.0)
บทความที่เกี่ยวข้อง: อยากสเปิร์มแข็งแรงต้องไม่ทำลายลูกอ๊อด บอกสามีเลี่ยงกิจกรรมเหล่านี้ รับรองมีลูกสมใจ
วิธีนับวันไข่ตกสำหรับคุณผู้หญิง
การนับวันตกไข่เป็นวิธีการมีลูกตามธรรมชาติ ซึ่งคุณหมอจะแนะนำสำหรับคู่สมรสที่มีบุตรยากก่อน จะไปถึงขั้นผสมเทียมหรือ IVF ดังนั้น ทั้งสองคนจึงต้องคำนวณวันตกไข่ให้ดี ซึ่งผู้หญิงจะมีภาวะตกไข่ ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน แต่การนับวันตกไข่ที่แม่นยำนั้น จะมีผลกับผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาปกติและตรงกันทุกเดือน
- หากประจำเดือนมาทุก 28 วัน ปกติแล้วไข่จะตกในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่
- วันไข่ตกจะอยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน โดยวันที่ 1 คือวันที่ประจำเดือนมาวันแรก
- คุณสามีภรรยาจะต้องมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนวันตกไข่ประมาณ 2 วัน
- โดยเริ่มวันที่ 12 ของรอบเดือน เพราะอสุจิจะอยู่ได้ประมาณ 2 วันก่อนการตกไข่
สำหรับคนที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอการนับวันไข่ตกจะสามารถทำได้ ต้องมีการบันทึกวันที่ประจำเดือนมาในรอบก่อนหน้าอย่างน้อย 2 รอบเดือน คนที่รอบเดือนประจำแปรปรวนไม่สม่ำเสมอ อาจต้องบันทึกนานกว่านั้น
- นำระยะห่างระหว่างรอบเดือนลบด้วย 14 เช่น ถ้าระยะห่างระหว่างรอบเดือนคือ 28 วัน นำ 28 -14 = 14 ดังนั้นจะตกไข่ในวันที่ 14 ของรอบเดือน
- ถ้าระยะห่างระหว่างรอบเดือนคือ 32 วัน นำ 32-14 = 18 ดังนั้นจะตกไข่ในวันที่ 18 ของรอบเดือน
อย่างไรก็ตาม คุณสามีภรรยา ที่มีลูกยากแล้วอยากมีลูกมากนั้น ควรไปตรวจร่างกายให้ละเอียด หากร่างกายของทั้งคู่แข็งแรงสมบูรณ์ อยากให้ลองดูการใช้ชีวิตประจำวันว่าแต่ละวันนั้นเรามีความเสี่ยงต่อการมีลูกยากมากแค่ไหน หากพยายามทำตามวิธีทุกทางแล้วยังไม่สำเร็จ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อแนวทางการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมกับทั้งคู่ต่อไปค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ความเครียด ทำให้มีลูกยากจริงหรือไม่ ความเครียดมีผลกับการตั้งครรภ์จริง ๆ หรือ
5 เคล็ดลับ เปลี่ยนฮวงจุ้ยคุณแม่มีลูกยาก เปลี่ยนปุ๊บท้องปั๊บ
ภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย ขนาดเจ้าโลกของสามี ทำให้มีลูกยาก?
ที่มา: bangkokhospital , dailynews , vcharkarn , brightside