โมโห เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับเด็ก รวมทั้งเด็ก ๆ ยังอยู่ในวัยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีพอ ลูกขี้โมโห คุณแม่จะทำยังไงได้บ้าง รับมือยังไงดี วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีรับมือกับลูก ๆ ที่ขี้โมโหกัน
ทำไมเด็กถึงโมโห
อารมณ์โมโหในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เด็กบางคนโมโหไม่นานก็หาย แต่เด็กบางคนโมโหรุนแรง บางทีก็ทั้งเหวี่ยงและวีน ซึ่งหากเด็กขี้โมโหจนเกินไป อาจต้องพาเข้ารับการรักษา หรือเข้ารับการจัดการกับอารมณ์โกรธอย่างถูกวิธี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กโกรธหรือโมโห อาจมีดังนี้
ไม่ได้ดั่งใจ อาจจะมีบางครั้งที่เราไม่อนุญาตให้เด็กรับประทานอาหาร ของโปรด ขนม หรืออนุญาตให้เขาทำอะไรที่เขาอยากทำ และนั่น ก็อาจทำให้เด็กโกรธและวีนเหวี่ยง ทั้งนี้ เด็กบางคนยังมีนิสัยเอาแต่ใจ และโมโหทุกครั้งที่ไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการอีกด้วย
รู้สึกถูกคุกคาม เด็กเล็กหรือเด็กโตบางคน อาจโมโหเมื่อรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคาม หรือไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควรจากคนอื่น เช่น โดนเพื่อนแกล้ง โดนหยอกล้อในทางที่ไม่ชอบ โดนคนอื่นมองเหยียดไม่ให้ความเคารพ หรือโดนแย่งของเล่น เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพจิต เด็กบางคนอาจโมโห เพราะเป็นโรคเกี่ยวกับทางจิต เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคทูเร็ตต์ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และการแสดงออกของเด็ก จึงอาจทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือความคิดของตัวเองได้
สาเหตุอื่น ๆ นอกจากนี้ ความเศร้า การสูญเสียคนสนิทหรือคนรัก ความเหนื่อย ความหิว ความเจ็บปวดทางร่างกาย ความผิดหวัง หรือความล้มเหลวที่เจอ ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กรู้สึกโมโหได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งหากเด็กถูกเลี้ยงมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี พ่อแม่มักโมโห หรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก ก็อาจทำให้เด็กซึมซับมาและเลียนแบบได้ จนกลายเป็นคนที่โมโหร้าย และก้าวร้าวกับคนอื่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : การขึ้นเสียงใส่ลูกส่งผลกระทบระยะยาว การพูดด้วยอารมณ์โมโหส่งผลเสียต่อลูก
ลูกขี้โมโห เลี้ยงยังไงดี
การที่เด็กโมโหไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ เพราะอารมณ์โมโหหรืออารมณ์โกรธนั้น เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่เราต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของเด็ก ให้เด็กแสดงออกอย่างเหมาะสม และสอนให้เด็กจัดการกับอารมณ์โมโหของตัวเองได้ถูกวิธี
อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ควรสอนให้เด็กพยายามข่มอารมณ์โมโหไว้ ไม่ต้องแสดงออก แต่นั่นอาจทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสุขภาพอย่างโรคหัวใจ โรคความดันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคแผลในกระเพาะอาหาร ฉะนั้น ควรสอนให้เด็กระบายความโกรธอย่างถูกวิธีแทน ซึ่งอาจทำได้โดยการพูดคุยกับเด็ก ให้เด็กระบาย และปรึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เด็กโมโห หรือหากิจกรรมให้เด็กทำเพื่อลดความโกรธก็ได้ และอีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่ควรทำ คือหมั่นสังเกตอารมณ์ และท่าทางของเด็ก ก่อนที่เด็กจะโมโหอย่างรุนแรง และไม่ควรปล่อยให้เด็กอารมณ์ไม่ดี ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้
1. อย่าปล่อยให้เด็กล้า
เด็กบางคนโมโหเพราะรู้สึกเหนื่อย อยากนอน หากสังเกตเห็นว่าเด็กเริ่มมีท่าทางที่แปลก ๆ เช่น หาว เอามือขยี้ตา มีท่าทางเหมือนคนง่วงนอน เป็นต้น ก็ควรพาเด็กเข้านอน เพราะหากชวนเด็กเล่นทั้ง ๆ ที่เด็กง่วง จะทำให้เด็กงอแงและโมโหได้
2. อย่าทำให้เด็กหิว
เด็กบางคนมีร่างกายที่ไวต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากเด็กหิวมาก ๆ และมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเยอะ อาจทำให้เด็กวีนเหวี่ยงได้ ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้น้องหิว ควรจัดวางตารางการรับประทานอาหารให้เด็ก ๆ และให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารตรงเวลา โดยอาจจะให้เขาทานขนมหรือของว่างระหว่างวันด้วยก็ได้ ซึ่งขนมที่ให้เขาทาน ก็ควรเป็นขนมที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต เพราะจะช่วยให้เขาได้รับพลังงานและอิ่มได้นาน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กทานอาหารที่หวานเกินไป เพราะอาจทำให้เขาฟันผุ หรือเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ควรให้เขาทานแต่พอดีและเหมาะสมจะดีที่สุด
3. อย่าให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี
เด็กบางคนไม่ชอบที่ ๆ เสียงดังหรือมีคนเยอะ หรือหากเด็กโดนรังแก ก็อาจทำให้เด็กโมโหได้เช่นเดียวกัน คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตท่าทางของเด็ก และดูว่าเด็กมีนิสัยและชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หากเด็กบังเอิญไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ชอบ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้โมโหหรือโกรธ คุณแม่ควรหาที่เงียบ ๆ บริเวณใกล้ ๆ ให้เด็กนั่งสงบอารมณ์ และระบายความรู้สึก ณ ตอนนั้น เพื่อไม่ให้เด็กกดดัน หรือเก็บกดจนเกินไป นอกจากนี้ คุณแม่สามารถหากิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำไปพลาง ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกโมโห เช่น ให้เขาดูรายการทีวี เล่นเกม ฟังเพลง หรือฟังนิทานที่ชอบ เป็นต้น
4. อย่าบังคับเด็ก
คุณแม่ควรให้ตัวเลือกกับเด็กในการเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ควรบังคับจนเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กอึดอัดและไม่ชอบใจจนโมโห ลองให้อิสระเด็ก ๆ ในการคิดและแสดงออก เกี่ยวกับสิ่งที่เขาต้องการพูด หรืออยากทำ รวมทั้งควรลองถามความเห็นเด็กก่อนที่จะให้เด็กทำอะไร ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองได้รับความเคารพ และไม่โดนคุกคาม อย่างไรก็ตาม หากมีสิ่งไหนที่คุณแม่จำเป็นจะต้องให้เขาทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรอธิบายให้เขาฟัง และใช้คำพูดดี ๆ กับเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจ
5. อย่าปล่อยปละละเลย
พ่อแม่บางคนไม่ค่อยสนใจลูก จนทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจและโมโห ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาว่างอยู่กับลูก โดยอาจจะชวนลูกมานั่งดูการ์ตูน หรือรายการทีวีที่เขาชอบ และร่วมพูดคุยกับเด็ก เพื่อสร้างความสนิทสนม หรือจะชวนเด็ก ๆ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมงานอดิเรกที่เขาชื่นชอบ เพื่อเป็นการฝึกทักษะของเขาไปพร้อมๆ กันด้วยก็ได้
อย่างที่ได้บอกไป ว่าอารมณ์โมโหเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะกับทั้งผู้ใหญ่ เด็กเล็ก และเด็กโต แต่เนื่องจากเด็กยังเป็นวัยที่ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ หรืออาจจะจัดการอารมณ์ของตัวเองไม่ค่อยเก่ง คุณแม่จึงควรสอนให้เขาแสดงออกอย่างเหมาะสม และเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์โกรธได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่เขาจะได้เติบโตไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การขึ้นเสียงใส่ลูกส่งผลกระทบระยะยาว การพูดด้วยอารมณ์โมโหส่งผลเสียต่อลูก
โกรธ จะควบคุมอารมณ์โกรธยังไงดี มีวิธีไหนช่วยได้บ้าง ต้องอ่าน!!
20 คำปลอบลูก ทำอย่างไรให้ลูกหายโกรธ ง่าย ๆ ด้วยคำพูด
ที่มา : thehopeline , mayoclinic , yalemedicine