แว่นตา ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับที่เด็กสายตาสั้น หากเราเลือกแว่นตาได้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ก็จะช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิต หรือมองเห็นได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งวันนี้ theAsianparent Thailand จะมาแนะนำวิธีการเลือกแว่นตาสำหรับเด็กให้คุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
ทำไมเด็กถึงสายตาสั้น
เด็กที่สายตาสั้นนั้นมักจะปวดหัว ปวดตา ตาล้าเมื่อต้องมองอะไรที่อยู่ไกล ๆ หรือมองสิ่งที่อยู่ไกล ๆ ได้ไม่ชัด ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ เรายังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เด็ก ๆ สายตาสั้น อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดเดาว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กสายตาสั้นอาจได้แก่ พันธุกรรม ภาวะกล้ามเนื้อสายตาทำงานหนักมากเกินไป หรือการใช้สายตาในการทำกิจกรรมบางอย่างนานเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ใส่แว่นตาแบบไหน ให้ดูดี ดูหล่อ ดูสวย
แว่นตา เลือกยังไงให้เหมาะกับเด็ก
ปัจจุบัน แว่นสายตามีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันออกไป หากอยากให้ลูก ๆ ใส่แว่นแล้วสบายตา มองเห็นได้ดี แนะนำให้เลือกแว่นตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้ค่ะ
กรอบแว่น
หลาย ๆ ร้านมีกรอบแว่นเด็กให้เลือกมากมาย ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในช่วงอายุไหน คุณแม่ก็สามารถเลือกสรรกรอบแว่นได้ตามอายุของเด็ก แต่ก็อย่าลืม ว่าจะต้องเลือกความหนาของกรอบแว่นตามคำแนะนำของหมอด้วย ไม่ใช่เลือกเพียงเพราะว่าสีสันหรือรูปร่างกรอบดูสวย และดึงดูดใจเพียงอย่างเดียว และหากเด็ก ๆ กำลังโต ชอบเล่นซุกซน ก็อาจจะต้องเลือกกรอบแว่นที่ทนทาน แข็งแรง ไม่อ่อน หรือดูหักง่าย เพื่อไม่ให้แว่นแตกหักตอนที่เด็กวิ่งเล่นจนหกล้ม หรือไปชนเข้ากับสิ่งของต่าง ๆ นอกจากนี้ คุณแม่ควรเลือกกรอบแว่นที่มีแป้นรองจมูกที่เหมาะกับดั้งของเด็ก เด็กใส่ได้พอดี แว่นไม่ร่วงจากจมูกได้ง่าย
ดีไซน์ สี และลวดลาย
เด็กส่วนใหญ่ ไม่ค่อยชอบใส่แว่นในช่วงแรกเพราะไม่เคยชิน ซึ่งคุณแม่อาจจะชวนเด็ก ๆ ไปเลือกแว่นด้วยกัน โดยให้เด็กเลือกสีแว่นหรือลายแว่นที่เด็กชอบ เพื่อให้เขารู้สึกมีส่วนร่วม และชอบในแว่นตาของตัวเอง จนรู้สึกอยากใส่นั่นเอง
ขาแว่นตา
เด็กที่อายุยังน้อย อาจจะยังไม่รู้จักวิธีถนอมของ หรือใช้แว่นอย่างทะนุถนอม ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกขาแว่นที่แข็งแรง ทนทาน ไม่แตกหักง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กทำแว่นแตกหัก เมื่อเด็กโยนแว่น พับขาแว่นแรง ๆ หรือนอนทับแว่นของตัวเอง
พื้นผิวของแว่น
หากสงสัยว่าควรเลือกซื้อแว่นที่ทำจากพลาสติกหรือโลหะดี ให้ลองสอบถามแพทย์เพื่อความแน่ใจทุกครั้งก่อนซื้อแว่น ซึ่งในปัจจุบัน มีทั้งแว่นที่ทำจากพลาสติกและโลหะที่ทำออกมาคล้าย ๆ กัน และมีลักษณะการใช้งานคล้ายกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันในเรื่องของราคา น้ำหนัก และความคงทน
สายคล้อง
หากคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าเด็กจะเล่นซน จนแว่นของเด็กหลุด หรือหล่นลงไปแตก แนะนำให้ซื้อสายคล้องแว่นตามาให้เด็กใช้ หากเด็กอยากถอดแว่นเมื่อไหร่ เด็กก็จะสามารถถอดออกมาได้ โดยที่ไม่ต้องพกกล่องใส่แว่นให้เกะกะเปล่า ๆ
เลนส์แว่นตา
เลนส์แว่นตา ถือเป็นอีกสิ่งที่สำคัญของแว่นตา เพราะเป็นวัสดุหลักที่ช่วยให้เด็กมองเห็น คุณแม่ควรเลือกเลนส์ที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตหรือไตรเว็กซ์ ซึ่งเป็นเลนส์ชนิดพิเศษ และต่างจากเลนส์ทั่วไปตรงที่ว่าน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก และป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี นอกจากนี้ เลนส์ชนิดนี้ยังช่วยปกป้องดวงตาของเด็กจากรังสียูวีได้ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตากุ้งยิง เป็นยังไง? ลูกเป็นตากุ้งยิงจะบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ไหม ?
สายตาสั้น รักษาให้หายได้หรือเปล่า
ในยุคปัจจุบัน พ่อแม่หลาย ๆ คน เริ่มให้เด็ก ๆ ใช้โทรศัพท์กันตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อใช้หาความรู้ อ่านนิทาน ดูรายการคู่ใจ เล่นเกม หรือฟังเพลงที่ชอบ จนเด็กบางคนอาจสายตาสั้นหรือสายตาเสียได้ ซึ่งคุณแม่เอง อาจช่วยให้เด็ก ๆ หายสายตาสั้น โดยการพาเด็กเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา หรือทำเลสิค ซึ่งปัจจุบันก็มีคลินิกหลาย ๆ แห่งที่เปิดให้บริการผ่าตัดกระจกตาหรือทำเลสิค แถมบางที่ยังมีโปรโมชั่นและคิดราคาไม่แพงอีกด้วย และถ้าไม่อยากให้เด็ก ๆ ต้องเจ็บตัว แต่ก็ไม่อยากให้เด็กใส่แว่น ก็สามารถสอนให้เด็ก ๆ ใส่คอนแทคเลนส์สายตาแทนการใส่แว่นได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะให้เด็กเริ่มใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กเองนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กยุคดิจิตอลจะเรียนรู้ได้ดีต้องเริ่มต้นจาก…สายตาที่ดี
ข้อแนะนำสำหรับเด็กที่สายตาสั้น
หากลูก ๆ ของเราสายตาสั้น คุณแม่ควรดูแลเด็กดังต่อไปนี้
- เมื่อต้องซื้อแว่น ให้พยายามเลือกแว่นที่ค่าสายตาน้อยกว่าค่าสายตาปัจจุบันของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กสายตาสั้น -2.50 ก็ควรเลือกซื้อแว่นที่มีค่าสายตาระหว่าง -2.25 หรือ -2.0 แทน เพราะการใส่แว่นที่ค่าสายตาพอดีกับค่าสายตาของเด็ก อาจทำให้เด็กสายตาสั้นมากกว่าเดิมได้
- ให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้านบ่อย ๆ อย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 1-2 ชั่วโมง เพื่อบริหารกล้ามเนื้อสายตา และเพื่อไม่ให้เด็กจดจ่ออยู่กับทีวี หรือโทรศัพท์มากเกินไป
- ไม่ให้เด็กเล่นโทรศัพท์ โน้คบุ๊ค แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้ตาเด็กล้ามากขึ้นกว่าเดิม
- หากเด็กต้องอ่านหนังสือ หรือทำการบ้าน ควรให้เด็กพักเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อสายตาของเด็กทำงานหนักเกินไป
- พาเด็ก ๆ ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสายตาและขอรับคำแนะนำในการดูแลเด็กเป็นระยะ ๆ
หากเด็กอายุยังน้อย และสายตาสั้นขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะในขณะที่เด็กโตขึ้น ขนาดและรูปร่างดวงตาของเด็กจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนส่งผลให้เด็กสายตาสั้นขึ้นนั่นเอง และแม้ว่าอาการสายตาสั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะพันธุกรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมหรือยับยั้งได้ แต่การดูแลสายตาของเด็กตั้งแต่ยังเนิ่น ๆ ไม่ให้เด็กจ้องหน้าจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตนาน ๆ ก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เด็กสายตาสั้นได้ในอนาคตนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
6 อาหารบำรุงสายตา ให้ลูกกินอะไรบำรุงสายตาดี อาหารอะไรที่ทำให้ลูกสายตาดี
ปล่อยให้ลูกทานอาหารเอง ทางลัด เพิ่มทักษะสมอง สองมือ และสายตา ให้เจ้าตัวเล็ก
ทารกจะมองเห็นตอนกี่เดือน ? นี่คือ ภาพพ่อแม่จากสายตาของทารกแรกเกิด
ที่มา : webmd ,optometrists , nhs