เปลี่ยนนมทีไร ลูกไม่สบายทุกที อาจเป็นเพราะนมแต่ละสูตรมีองค์ประกอบและสัดส่วนของสารอาหารที่แตกต่างกัน บางทีลูกอาจจะปรับตัวไม่ทัน กับการเปลี่ยนแปลงของสารอาหารในนมใหม่ ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย บทความนี้มีเคล็ดลับ วิธีเปลี่ยนนม เพื่อคุณแม่สบายใจ คุณลูกสบายท้องมาฝาก
สำหรับลูกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน นมคืออาหารหลักสำหรับลูกวัยนี้ค่ะ นมคือสิ่งจำเป็นสำหรับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดไปจนโต เพราะเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีน และไขมันที่จำเป็นสำหรับลูกน้อย ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และพัฒนาสมองให้ลูกน้อย
นมแม่มีสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทารก
สำหรับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะแม่ๆ อย่างเรารู้กันดีประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อลูกนั้นมากมายมหาศาล นมแม่ เปรียบเสมือนอาหารชั้นเลิศจากธรรมชาติ ที่มอบสารอาหารครบถ้วน สมดุล และเหมาะสมกับความต้องการของทารกมากที่สุด
- นมแม่เปี่ยมไปด้วยสารอาหารสำคัญ นมแม่ประกอบไปด้วยโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกอย่างครบถ้วน
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน นมแม่มีสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) จากแม่ที่ช่วยปกป้องลูกน้อยจากโรคต่างๆ เช่น โรคท้องร่วง โรคปอดอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร และโรคภูมิแพ้
- ส่งเสริมพัฒนาการสมอง นมแม่มีกรดไขมัน DHA และ ARA ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของสมองและระบบประสาท ช่วยให้ลูกน้อยมีความฉลาด เรียนรู้ไว
- ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังในทารก เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
- สร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก การให้นมแม่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และได้รับความรักจากแม่
ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ จึงแนะนำให้ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด แต่สำหรับแม่คนไหนที่จำเป็นให้นมลูกเองไม่ได้ คุณอาจจะจำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับนมผสมรวมไปถึงวิธีเปลี่ยนนมที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ
สูตรนมแต่ละช่วงวัยสำหรับลูกน้อย
ก่อนจะเข้าสู่เรื่อง วิธีเปลี่ยนนม เรามารู้จักนมสูตรต่างๆ สำหรับลูกแต่ละช่วงวัยกันก่อนค่ะ
-
นมสูตร 1
- นมสำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิด – 1 ขวบ คือนมแม่ หรือนมผงดัดแปลงที่มีส่วนประกอบใกล้เคียงนมแม่ ซึ่งมีโปรตีน และไขมันที่ย่อยง่าย มีสารอาหารที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง และภูมิคุ้มกัน
-
นมสูตรที่ 2
- นมสำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือน – 3 ปี เพิ่มปริมาณโปรตีน แคลเซียม และฟอสฟอรัส เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ รองรับความต้องการของพลังงานจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น
-
นมสูตรที่ 3
- นมสำหรับลูกน้อยวัย 3 ขวบขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว มีการเพิ่มปริมาณโปรตีนมากขึ้น มีวิตามิน แร่ธาตุ เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมอง ความแข็งแรง และส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว
วิธีเปลี่ยนนม แบบคุณแม่สบายใจ คุณลูกสบายท้อง
1. เปลี่ยนนมให้ลูกทันทีได้เลยไหม
ในวิธีนี้ต้องสังเกตว่า ลูกสามารถรับประทานนมผงชนิดใหม่ได้ดีหรือไม่ โดยไม่มีผลแทรกซ้อน คือ อาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย นอนหลับสบาย ไม่โยเย ถ่ายปกติ ท้องไม่เสีย และมีการเจริญเติบโตทั้งน้ำหนักและส่วนสูงปกติ ซึ่งควรชั่งน้ำหนักตรวจสอบอาทิตย์ละครั้ง
2. เปลี่ยนชนิดของนมผงสลับกันระหว่างนมเดิมกับนมใหม่
วิธีเปลี่ยนนม แบบสลับกระหว่างนมเก่ากับนมใหม่ทั้งขวด ทำได้โดยเพิ่มจำนวนมื้อของนมใหม่ ตามสัดส่วนดังนี้ โดยต้องสังเกตอาการของลูกเช่นเดียวกับวิธีแรก
- วันที่ 1-3 ใช้นมใหม่แทนนมเดิม 1 ขวดในมื้อแรก ที่เหลือเป็นนมเดิม
- วันที่ 4-6 ใช้นมใหม่ 2 ขวดแรก
- วันที่ 7-9 ใช้นมใหม่ 3 ขวดแรก
- วันที่ 10 ใช้นมใหม่ทั้งหมด
3. ผสมนมผงชนิดเก่าและใหม่ในขวดเดียวกัน
หากต้องการผสมนมเก่าและใหม่ในขวดเดียวกันสามารถเริ่มต้นโดยการเพิ่มผสมนมสูตรใหม่วันแรก 1 ช้อน วันที่สอง 2 ช้อน วันที่สาม 3 ช้อน จนถึงวันที่ 7 จะเป็นนมใหม่หมดทั้งมื้อ คุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกรับประทานนมได้ดีหรือไม่ในแต่ละมื้อเช่นเดียวกับข้อแรก
เคล็ดลับเพิ่มเติมสำหรับการเปลี่ยนนมลูกน้อย
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนนม
โดยทั่วไปแล้ว แนะนำให้เปลี่ยนสูตรนมตามอายุที่ระบุไว้บนฉลากนมผง แต่ละยี่ห้อจะมีสูตรนมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม คุณแม่สังเกตอาการของลูก ดังนี้
- ลูกน้อยมีน้ำหนักตัวและพัฒนาการตามเกณฑ์
- ลูกน้อยกินนมหมดขวด
- ลูกน้อยขับถ่ายเป็นปกติ
- ลูกน้อยมีสุขภาพดี
เหล่านี้เป็นสัญญาณว่าลูกอาจจะพร้อมสำหรับการเปลี่ยนนมแล้ว
การเตรียมตัวก่อนเปลี่ยนนม
ควรเลือกนมสูตรที่เหมาะสมกับวัยของลูก เตรียมน้ำอุ่นสะอาด ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมนม ฆ่าเชื้อขวดนมและจุกนม อ่านคู่มือการเตรียมนมอย่างละเอียด
วิธีเตรียมนม
ขั้นตอนการชงนมทำได้ดังนี้ ต้มน้ำให้เดือด เทน้ำร้อนใส่ขวดนม ใส่ผงนมตามปริมาณที่ระบุบนฉลาก ปิดฝาขวดนมและเขย่าให้ละลาย ตรวจสอบอุณหภูมิของนมก่อนให้นมลูก
การให้นมลูก
การให้นมลูกที่ถูกต้อง ควรอุ้มลูกให้อยู่ในท่าที่สบาย ป้อนนมจากขวดนมช้าๆ สังเกตว่าลูกดูดนมได้สะดวกหรือไม่ หยุดให้นมเมื่อลูกอิ่ม ไม่ควรบังคับลูกให้กินนมจนหมดขวด
การสังเกตอาการของลูกหลังเปลี่ยนนม
สังเกตอาการของลูกน้อยหลังเปลี่ยนนม ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ว่ามีอาการผิดปกติอะไรบ้าง หากพบอาการแพ้ เช่น อาเจียน ท้องเสีย ผื่นแดง ควรหยุดให้นมใหม่ทันที และปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม สังเกตว่าลูกถ่ายเป็นปกติหรือไม่ หากลูกท้องผูก ควรให้น้ำลูกดื่มมากขึ้น หรือลองเปลี่ยนนมสูตร สังเกตว่าลูกนอนหลับสบายหรือไม่ หากลูกนอนหลับกระสับกระส่าย ควรปรึกษาแพทย์
ที่มา : องค์การยูนิเซฟ , Mommy Bear Club , Enfababy