ถ้าพูดถึงโรคที่กำลังมาแรงและระบาดไปทั่วโลก ก็คงจะไม่มีใครไม่รู้จักโควิด และหากกำลังท้องอยู่ ก็ยิ่งต้องดูแลตัวเองให้ดี ช่วงโควิดคุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร วันนี้เราจะมาดูกัน
ปัจจุบัน สถานการณ์โควิดในไทยกำลังเข้มข้น โดยมียอดผู้เสียชีวิตตอนนี้รวมแล้วอยู่ที่ 188 ราย และในวันนี้ ก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,871 ราย ส่วนรัฐบาลไทย ก็ได้มีมาตรการเริ่มฉีดวัคซีนกับผู้ที่ทำงานสายการแพทย์ และก็คาดว่าจะเริ่มเปิดให้คนทั่วไปลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนในเดือนหน้านี้แล้ว
โควิดสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย
โควิดที่กำลังระบาดอยู่ในไทยขณะนี้ คือโควิดสายพันธุ์ประเทศอังกฤษ ซึ่งแพร่ระบาดได้ไวกว่าโควิดสายพันธุ์ทั่วไปมากถึง 1.7 เท่า และมีระยะฟักตัวที่นานกว่าเดิม โดยคนที่เสี่ยงติดโควิดสายพันธุ์นี้ ได้แก่ ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงที่โควิดสายพันธุ์นี้กำลังระบาด ผู้ที่ต้องพบปะคนเยอะในแต่ละวัน และผู้ที่ใกล้ชิดและสัมผัสคนที่ติดโควิดสายพันธุ์นี้ ส่วนในเรื่องของอาการ โควิดสายพันธุ์นี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับโควิดสายพันธุ์เดิม คือ เป็นไข้ มีไข้สูงมากกว่า 37.5. องศา ไอ เจ็บคอ หายใจหอบ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือมีการรับรสที่เปลี่ยนไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : สถานการณ์เสี่ยงติดโควิด ที่คุณแม่และเด็ก ๆ ต้องหลีกเลี่ยง !!
ช่วงโควิดคุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมอนามัยได้ออกมาแนะนำข้อปฏิบัติในการดูแลคนท้องช่วงโควิด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งคำแนะนำก็มีดังต่อไปนี้
1. พิจารณาเรื่องการเข้าพบหมอ
หากต้องการฝากครรภ์ ให้พิจารณาจากช่วงอายุครรภ์ ความเสี่ยงที่อาจเกิด และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ โดยคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเข้ารับการตรวจทุกครั้ง หากไม่ได้มีนัดตรวจพิเศษอะไร ก็สามารถเลื่อนนัดออกไปได้ก่อนในช่วงนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้าน ทั้งนี้ หากต้องไปโรงพยาบาลตามนัด ควรนัดล่วงหน้า ใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลให้น้อยที่สุด นั่งให้ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร รวมทั้งไม่ควรใช้รถสาธารณะในการเดินทางไปโรงพยาบาล เพราะอาจทำให้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว และเมื่อกลับมาบ้าน ก็ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นให้เปลี่ยนเสื้อผ้า และทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใส่ไปโรงพยาบาลทันที
โดยทั่วไปแล้ว นัดสำคัญที่ไม่ควรเลื่อนได้แก่ นัดตรวจครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ นัดตรวจอัลตร้าซาวด์ นัดตรวจโรคเบาหวาน นัดตรวจอาการดาวน์ซินโดรมหรือธาลัสซีเมียของเด็กในครรภ์
2. เฝ้าสังเกตอาการตนเองที่บ้าน
แม้จะอยู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยเสมอไป เพราะคุณแม่อาจไปรับเชื้อจากคนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัว โดยกรมอนามัยได้แนะนำว่า ให้คุณแม่เฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการ เช่น เป็นไข้มากกว่า 37.5 องศา ปวดตามตัว เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย หรือหายใจไม่สะดวก เป็นต้น ก็ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยด่วน
3. หมั่นดูแลสุขภาพจิตตนเอง
ในช่วงนี้ ก็มีทั้งข่าวโควิดที่เป็นความจริงและข่าวเท็จ ที่มักสร้างความตกใจ และทำให้คนอ่านข่าวตื่นตระหนกไปไกล ซึ่งคุณแม่เองควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกน้อยในครรภ์ โดยให้เสพข่าวจากช่องทางที่น่าเชื่อถือไม่เสพข่าวจากหลากหลายช่องทางจนเกินไป รวมทั้งควรพยายามใช้ชีวิตตามปกติที่บ้าน หมั่นรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและลูกน้อย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4. ดูแลตัวเองและลูกหลังการคลอด
หลังจากที่คลอดลูกน้อย คุณหมอจะนัดตรวจหลังการคลอด 6 สัปดาห์ แต่หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง น้ำคาวปลามีกลิ่น แผลคลอดอักเสบ ลูกตัวเหลือง ลูกไม่กินนม เป็นต้น ให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวตามวันและเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในระหว่างที่พักรักษาตัวหลังจากการคลอด ไม่ควรเชิญแขกหรือคนอื่น ๆ มาบ้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด รวมทั้ง หากคุณแม่ต้องการให้นมลูกน้อย ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนทุกครั้งอย่างน้อย 20 วินาที รวมทั้งให้เช็ดหัวนมด้วยสบู่และน้ำเปล่า และใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ
สำหรับใครที่มีลูกที่โตขึ้นมาหน่อย ก็ไม่ควรพาเด็กออกไปนอกบ้าน หรือพบเจอกับใคร หากเด็กรู้สึกเบื่อ ก็ลองหากิจกรรมอื่น ๆ มาให้ทำแก้เบื่ออย่างการออกกำลังกาย หรือการเล่นของเล่น นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรรับประทานอาหารจานเดียวกับเด็กหรือเป่าอาหารให้เด็ก รวมทั้งควรสอนให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค
5. ทำความสะอาดของเล่นเด็ก
เด็กทารกบางคน ก็อาจจะโตมากพอที่จะเล่นของเล่นได้ ซึ่งคุณแม่ควรหมั่นล้างทำความสะอาดของเล่นน้อง ๆ อยู่เสมอ โดยอาจทำได้ ดังนี้
- ของเล่นที่ทำจากผ้า หลังจากที่เด็กเล่นของเล่นเสร็จ ให้ซักของเล่นด้วยผงซักฟอก สบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาวให้สะอาด และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
- ของเล่นที่เป็นพลาสติก ควรล้างทำความสะอาดของเล่นด้วยน้ำสบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาฆ่าเชื้อ ผงซักฟอก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผสมแอลกอฮอล์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นให้เช็ดให้แห้ง
- ของเล่นทำจากกระดาษ หรือการ์ดของเล่น ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาด และปล่อยให้แห้ง
6. เฝ้าระวังอาการของเด็ก
นอกจากคุณแม่จะต้องดูแลตนเองแล้ว ก็ยังต้องหมั่นดูแลและเอาใจใส่ลูกด้วย คุณแม่ไม่ควรให้เด็กรับรู้ข่าวสารโควิด หรือสร้างความตื่นตกใจให้กับเด็ก จนเด็กรู้สึกกลัวและเครียด รวมทั้งควรแสดงออกทางอารมณ์และคำพูดอย่างเหมาะสมเมื่ออยู่ต่อหน้าเด็ก นอกจากนี้ หากลูกมีอาการเหนื่อยหอบ ปวดตามตัว มีไข้ ไอ หรือกินอาหารไม่ได้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีความเสี่ยงที่เด็กจะติดโรคโควิด
บทความที่เกี่ยวข้อง : เที่ยวช่วงโควิด กับ 11 วิธี เที่ยวปลอดภัยไม่ต้องออกจากบ้าน
แม่ท้องอยู่แต่ติดโควิด ลูกจะติดด้วยไหม
คุณแม่หลายคนก็คงเป็นกังวล ว่าถ้าหากท้องอยู่แล้วติดโควิด ลูกในท้องจะเป็นโควิดด้วยไหม ซึ่งในตอนนี้ ยังไม่มีรายงานว่าลูกในท้องสามารถติดโควิดได้จากแม่ แต่เด็กทารกที่เพิ่งเกิดนั้น สามารถติดโควิดได้จากการสัมผัสละอองน้ำลายจากการไอหรือจามของผู้ป่วยโควิด อย่างไรก็ตาม หากแม่เป็นโควิดตอนที่ท้องอยู่ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แทน เช่น คลอดก่อนกำหนด แท้งลูก หรือเด็กในครรภ์มีพัฒนาการช้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่คุณแม่ติดโควิด แต่มีอาการไม่รุนแรง ก็อาจจะยังให้นมลูกได้ ยกเว้นช่วงที่มีไข้ แต่หากคุณแม่อาการรุนแรง หมออาจจะแนะนำให้เลี่ยงการให้นมลูกไปก่อน และไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับลูก เพราะเด็กอาจติดโรคได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็ก 3 เดือนก็ติดโควิดได้ ! อาการโควิดในเด็ก สังเกตยังไงดี มีสิ่งไหนที่คุณแม่ควรรู้
วิธีดูแลตัวเองของคนทั่วไป
คนทั่วไปนั้น ก็สามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีที่ง่าย ๆ ซึ่งคุณหมอก็แนะนำมาว่า ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านแม้ว่าจะเป็นช่วงหยุดยาวก็ตาม เพราะมีโอกาสที่คนอื่น ๆ อาจจะออกมาข้างนอกเยอะขึ้น จนทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากเราต้องออกไปข้างนอก ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือปากโดยไม่จำเป็น หมั่นล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่ หรือเจลล้างมือ ที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์อยู่เสมอ และไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิดอย่างเด็ดขาด
บทความที่เกี่ยวข้อง :
คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดแล้วอันตรายหรือเปล่า ฉีดได้ตอนไหน
โควิด-19: เกิดอะไรขึ้นในบราซิล อะไรทำให้ทารกบราซิลจำนวนมากตายด้วยโรคนี้
โควิด19 สายพันธ์ุใหม่ อันตรายแค่ไหน จะดื้อวัคซีนหรือไม่ มาดูกัน