แม่ท้อง ลาคลอดได้กี่วัน รวมทุกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับการลาคลอด ปี 2568

lead image

สิทธิลาคลอดไม่ใช่แค่การหยุดงาน แต่ยังเกี่ยวกับค่าจ้างและสวัสดิการ บทความนี้มีคำตอบว่า แม่ท้องลาได้กี่วัน ลาคลอดได้เงินเดือนไหม เบิกได้เท่าไหร่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การลาคลอดเป็นอีกหนึ่งสิทธิที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้ เพราะช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงสำคัญในการดูแลลูกน้อยและฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่ ซึ่งสิทธิการลาคลอดไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของระยะเวลาการหยุดงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับค่าจ้างและสวัสดิการที่คุณแม่มีสิทธิได้รับ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองและลูกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตใจของแม่และลูกให้ได้รับช่วงเวลาที่ดีที่สุดร่วมกัน ดังนั้น การรู้สิทธิของตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลาคลอดได้กี่วัน เพื่อให้คุณแม่สามารถวางแผนการลาคลอดได้อย่างเหมาะสมและได้รับประโยชน์สูงสุดจากสิทธิที่มีอยู่ แล้วสิทธิลาคลอด 2568 ที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้มีอะไรบ้าง? บทความนี้มีรายละเอียดมาฝาก

 

ลาคลอดได้กี่วัน อัปเดตปี 2568

ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิ ลาคลอดบุตรได้สูงสุดรวม 98 วัน โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอด 8 วัน และ วันลาหลังจากคลอดบุตร เพื่อพักฟื้น ดูแลร่างกายตนเองและลูกน้อยอีก 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือนนั่นเอง 

โดยจำนวน 98 วันนี้ คุณแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ตั้งแต่ก่อนคลอดหรือจะเริ่มใช้สิทธิ์ลาหลังคลอดก็สามารถเลือกได้

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าการลาคลอด ไม่เท่ากับ การลาป่วย ดังนั้นการลาไปตรวจครรภ์ คุณแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้เลย ไม่ต้องลาป่วย เพราะ พรบ.แรงงาน กำหนดวันลาสำหรับตรวจครรภ์เพิ่มให้อีก 8 วัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นสามารถใช้สิทธิลาคลอด เดือนละ 1 ครั้งระหว่างตั้งครรภ์ได้ หรือจะเก็บไว้ลายาวๆ 98 วันหลังคลอดรวดเดียวก็ได้เช่นกัน 

 

ลาคลอด 98 วัน นับยังไง นับวันหยุดไหม

หลังจากคลอด คุณแม่มีสิทธิลาคลอดได้อีก 90 วัน โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ว่า ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุดด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ซึ่งวันหยุดในที่นี้ หมายถึง วันหยุดประจำสัปดาห์ (เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย) วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี

หมายความว่าเมื่อแจ้งวันลาคลอดกับบริษัท ระบุวันแน่นอนแล้ว สิทธิวันลาคลอดนั้นก็จะนับรวดเดียวจากวันนั้นๆ ไปจนครบ 90 วัน  เช่น หากคุณระบุลาคลอดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 สิทธิลาคลอดก็จะใช้ได้จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นั่นเอง 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลาคลอดได้เงินเดือนไหม จ่ายอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์สงสัยกันมากก็คือ เมื่อลาคลอดแล้วยังได้เงินเดือนหรือเปล่า ลาคลอด 98 วัน จ่ายกี่วัน

ตามมาตรา 59 ระบุไว้ว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 45 วัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือคุณแม่จะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนในระยะเวลา 45 วันที่ลาคลอดจากนายจ้างนั่นเอง
ซึ่งตามกฎหมายแรงงาน สิทธิลาคลอดรวมทั้งสิ้น 98 วัน แบ่งเป็น ลาคลอด 90 วัน และ ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอด 8 วัน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายให้ 45 วัน และอาจจ่ายเพิ่มอีก 8 วัน หากลูกจ้างใช้สิทธิลาตรวจครรภ์ครบตามสิทธิ อย่างไรก็ตาม นายจ้างสามารถเลือกจ่ายเฉพาะ 45 วันแรกก่อน แล้วพิจารณาจ่ายเพิ่มภายหลังตามข้อตกลงกับลูกจ้างได้ แต่ไม่สามารถจ่ายต่ำกว่า 45 วันได้ เพราะหากจ่ายน้อยกว่านี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 59 และอาจถูกปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท

ลาคลอดประกันสังคม เบิกเงินได้เท่าไหร่

ในส่วน 45 วันที่เหลือจากการลาคลอดทั้งหมด 90 วันนั้น ประกันสังคมเป็นผู้จ่าย โดยได้รับเงินจำนวน 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน) ทั้งนี้แม้จะลาคลอด แต่เนื่องจากคุณแม่ยังเป็นพนักงานประจำ ได้รับเงินเดือนอยู่ จึงจะยังถูกหักประกันสังคมจากเงินเดือนตามปกติค่ะ

ลาคลอด 98 วัน สิทธิ์ข้าราชการ

สำหรับ ข้าราชการหญิง ปัจจุบันมีสิทธิ์ ลาคลอด โดยได้รับค่าจ้าง 98 วัน ซึ่งช่วยให้คุณแม่มีเวลาพักฟื้นและดูแลลูกน้อยในช่วงแรกเกิดได้มากขึ้น นอกจากนี้ หากคุณแม่ต้องการลาต่อเนื่องเพื่อดูแลลูกหลังครบกำหนด 98 วันแล้ว ก็สามารถลาต่อได้อีก สูงสุด 90 วัน โดยยังได้รับเงินเดือนในอัตรา 50% ของเงินเดือนปกติ รวมแล้ว คุณแม่ข้าราชการสามารถลาคลอดได้ถึง 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน เลยทีเดียว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

สามีลาคลอด เพื่อดูแลภรรยาและลูกได้ไหม 

สามีลาช่วยภรรยาคลอดบุตรได้กี่วัน คุณพ่อที่เป็น ข้าราชการ สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 15 วัน แต่ต้องเป็นการลาที่ไม่ติดกัน เช่น ลา 2 วันแรกที่ภรรยาคลอดบุตร แล้วกลับมาทำงาน และลาอีก 3 วันเพื่อพาลูกไปหาหมอตรวจพัฒนาการ สะสมไปได้เรื่อยๆ จนครบ 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับพนักงานบริษัทเอกชน ตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้กำหนดสิทธิ์ลาคลอดสำหรับผู้ชายโดยตรง ดังนั้น การลาขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท อาจจะมีหรือว่าไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสวัสดิการขององค์กร  

 

ลาคลอดใช้เอกสารอะไรบ้าง

ลาคลอด อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทหรือหน่วยงานที่คุณแม่ทำงานอยู่ บางองค์กรอาจมีสิทธิ์ลาคลอดตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ในขณะที่บางแห่งอาจมีสวัสดิการเพิ่มเติมให้คุณแม่สามารถลาคลอดได้นานขึ้น

โดยทั่วไป การยื่นเรื่องลาคลอด มักต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจเป็น หนังสือลา ที่คุณแม่เขียนขึ้นเอง โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องการลาและวันที่คาดว่าจะกลับมาทำงาน หรือบางองค์กรอาจมี แบบฟอร์มลาคลอด ให้กรอกเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ องค์กรบางแห่งอาจกำหนดให้แนบ หลักฐานทางการแพทย์ เช่น กำหนดวันคลอดจากแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันความพร้อมในการลา

อย่างไรก็ตาม ในหลายองค์กร อาจไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เป็นเอกสารประกอบการลาคลอด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นไปตามสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การลาคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น คุณแม่ควรตรวจสอบระเบียบขององค์กรตนเองล่วงหน้า และแจ้งฝ่ายบุคคลแต่เนิ่น ๆ เพื่อวางแผนการลาคลอดได้อย่างเหมาะสม จะได้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารในภายหลังค่ะ


สุดท้ายแล้ว การลาคลอดเป็นสิทธิที่คุณแม่ควรรู้ และวางแผนการใช้สิทธิลาคลอดอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ได้ใช้เวลาช่วงแรกของชีวิตกับลูกอย่างมีความหมายที่สุด รวมทั้งยังเป็นการดูแลฟื้นฟูร่างกายตัวเองให้พร้อมรับบทหน้าที่ Working Mom ต่อไป 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ที่มา: FlashHR , The Coverage 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เพื่อนร่วมงานโหด! วางยาคนท้อง ลั่นไม่อยากให้ลาคลอด เพราะไม่อยากเหนื่อย

สิทธิแม่ลาคลอด 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 80

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team