แสบร้อนกลางอก เป็นอาการที่พบบ่อยในคนท้อง เพราะว่าเวลาที่ลูกในท้องเจริญเติบโตขึ้น มดลูกก็จะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นที่ในกระเพาะอาหารลดน้อยลง ออกร้อนท้อง กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารนั่นเอง โดยอาการเหล่านี้จะพบได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ขึ้นไปเลยค่ะ ขึ้นอยู่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย
แสบร้อนกลางอก อาการของโรคกรดไหลย้อน ออกร้อนท้อง
อาการแสบร้อนกลางอก พบมากในขณะคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น เพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้สะดวกต่อการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ จึงทำให้หูรูดที่บริเวณทางเข้าของกระเพาะอาหารคลายตัว ส่งผลให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปสู้กลางอก นอกจากนี้ครรภ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้ความดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดอาการดังนี้
- เกิดอาการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ แสบร้อนกลางอก
- มีอาการเรอเปรี้ยว กลืนได้อย่างลำบาก เจ็บคอ
- มีอาการแสบร้อนในกระเพาะ
- ทานอาหารแล้วรู้สึกขม
- อึดอัดแน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย
- บางครั้งอาจรู้สึกปวดทรวงอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการงอตัว การนอนราบ หรือหลังรับประทานอาหาร
วิธีแก้อาการแสบร้อนหน้าอกตอนท้อง แสบร้อนกลางอก
1. แบ่งมื้ออาหารให้มากขึ้น
คุณแม่ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ ให้ถี่ขึ้น เพื่อที่จะได้ทานอาหารแต่ละมื้อน้อยลงจะได้ไม่รู้สึกจุกแน่นจนเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนด้วยนะคะ
2. ไม่นอนหลังทานอาหารทันที
หากคุณแม่ชอบนอนทันทีหลังที่ทานข้าวเสร็จให้เปลี่ยนซะ แล้วควรนั่ง หรือลุกยืนเพื่อให้อาหารได้ย่อยก่อนแบ่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมงแล้วค่อยล้มตัวนอนค่ะ
3. ไม่ดื่มน้ำระหว่างทานอาหาร
ให้คุณแม่เปลี่ยนมาดื่มน้ำทีเดียวหลังจากทานอาหารเสร็จจะดีกว่า หรือถ้าใครอดไม่ได้จริง ๆ ก็พยายามดื่มให้น้อยลงนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิจัยเผย คนท้องดื่มน้ำผลไม้ ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์
4. ไม่ทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน
อาหารจำพวกรสจัด ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม องุ่น มะนาว สับปะรด อาหารที่มีไขมันสูง น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชา กาแฟ หลีกเลี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยงนะคะ
5. ไม่ทานอาหารที่มีส่วนผสมของมินต์
หากคุณแม่กำลังมีอาการปวดแสบปวดร้อนเพราะกรดไหลย้อนดู แนะนำว่าให้งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีมินต์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนรุนแรงขึ้น
6. เคี้ยวหมากฝรั่ง ช่วยได้
การเคี้ยวหมากฝรั่งมีข้อดีคือ จะช่วยเพิ่มน้ำลายให้ออกมาชะล้างกรดในกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้
7. รับประทานโยเกิร์ต
คุณแม่ควรโยเกิร์ตตอนเช้า ๆ เพราะมีสรรพคุณที่ช่วยให้บรรเทาอาการกรดไหลย้อนของคนท้องได้ดี
8. นอนหนุนหมอนตะแคงซ้าย
คุณแม่ต้องนอนในท่าที่ให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนมาที่หลอดอาหารอีก โดยที่ให้นอนตะแคงซ้ายแล้วใช้หมอนหนุนช่วย เพราะถ้านอนตะแคงขวาจะทำให้กระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหาร อาการกรดไหลย้อนก็จะรุนแรงขึ้นไปด้วย
9. ใช้ยาลดกรด
คนท้องสามารถใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหารได้ แต่อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะเริ่มต้นทานยาค่ะ
10. แสบร้อนกลางอก รับประทานผลไม้ลดอาการกรดไหลย้อน ช่วยบรรเทา
ผลไม้หลายชนิดที่ให้สรรพคุณยา และให้ความชื่นใจเวลารับประทาน อีกทั้งยังมีสารอาหารและวิตามิน ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเลือกผลไม้ได้ตามใจชอบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินผลไม้อะไรดี ผลไม้ที่ดีสำหรับคนท้องและลูกในท้องมีอะไรบ้าง?
ผลไม้แก้อาการกรดไหลย้อน
- แตงไทย แตงไทยเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น สามารถแก้อาการร้อนท้องปวดแสบปวดร้อนได้ดี เหมาะกับคนท้องที่มีอาการกรดไหลย้อนได้
- แคนตาลูป แคนตาลูปเป็นผลไม้ที่มีความใกล้เคียงกับแตงไทยมาก อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่ให้ฤทธิ์เย็นเช่นเดียวกันจึงแก้อาการปวดแสบปวดร้อนกลางอกของคนท้องได้
- แอปเปิ้ล แอปเปิ้ลจะช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ เพราะที่แอปเปิ้ลมีสารที่ทำหน้าที่เป็นยาลดกรดแบบธรรมชาติค่ะ แนะนำให้คุณแม่ทานก่อนหรือหลังอาหารประมาณ 40 นาทีจะได้ผลดีที่สุด
- กล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์เย็น มีฤทธิ์ช่วยในการย่อยอาหาร สามารถเคลือบลำไส้ได้ดี อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมที่ช่วยบรรเทาอาการอยากอาเจียนได้ด้วย
- มะละกอ นอกจากเป็นผลไม้ที่ช่วยย่อยอาหารแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน อาการท้องผูก และอาการกรดไหลย้อนได้ด้วย
- ชมพู่ เป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารมากช่วยให้ร่างกายขับถ่ายคล่อง และยังช่วยแก้อาการปวดแสบปวดร้อนจากกรดไหลย้อนได้ดี
อาการกรดไหลย้อนแบบใด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์
จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ต้องไปพบแพทย์หากไม่มีอาการรุนแรงมาก แต่ระวังภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะนำความลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ได้ ซึ่งหากไปพบแพทย์ จะมีการวินิจฉัยและรักษาเบื้องต้น เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร หรือเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง ตรวจการทำงานของหลอดอาหาร ซึ่งวิธีวินิจฉัยให้ผลแม่นยำที่สุด คือ การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหารและการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร และมีการรักษาดังนี้
1. แสบร้อนกลางอกรักษาโดยไม่ใช้ยา
ต้องตรวจสภาพร่างกาย หากผู้ป่วยไม่ได้ตั้งครรภ์ แพทย์อาจสั่งลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก หรืองดสูบบุหรี่ในผู้ที่ติดบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดดื่มน้ำอัดลม งดทานอาหารรสจัด หรืองดอาหารมีไขมันสูง ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และปรับระดับการนอนให้ศีรษะสูงขึ้น หรือนอนตะแคงซ้ายในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืน เป็นต้น
2. แสบร้อนกลางอกรักษาโดยใช้ยา
แพทย์จะแบ่งการรักษาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ ยา H2-blockers สามารถลดการหลั่งกรดและบรรเทาอาการได้บางส่วน อีกกลุ่มหนึ่งคือ ยา proton-pump inhibitors สามารถลดกรดได้มากกว่าหากมีอาการรุนแรง แพทย์จะใช้ยากลุ่มที่สอง ซึ่งในปัจจุบันการรักษาด้วยยาให้ผลการรักษาที่ดี
3. รักษาโดยการผ่าตัด
หากผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนที่รุนแรงมาก รักษาด้วยวิธีที่ 1 และ 2 ก็ไม่ดีขึ้น อีกทั้งรักษาด้วยยามาเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีผลแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อน เช่น มีแผลในหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบหรือมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหาร เช่น Barrett’s esophagus แพทย์จะทำการวินิจฉัยและทำการผ่าตัดต่อไป
โรคกรดไหลย้อน สามารถกลายเป็นมะเร็งได้
ฟังดูแล้วโรคเล็กน้อย ทำไมถึงมีโอกาสพัฒนาไปสู่การเป็นมะเร็ง เนื่องจากมีอาการเรื้อรัง รักษามานานแล้วไม่หาย หรือเป็นมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเป็นมะเร็งนั้นน้อยมาก โดยเฉพาะคนไทยและเอเชีย ที่มีอาการอักเสบของหลอดอาหารไม่รุนแรงนัก แต่หากมีระดับความรุนแรงมาก ก็จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
แสบร้อนกลางอก สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงตลอดตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยการรับประทานผลไม้ให้มากขึ้น แบ่งมื้ออาหารให้ถี่ขึ้น และใช้ยาลดกรด เพียงเท่านี้ก็จะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกได้แล้วค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แสบร้อนกลางอก ช่วงตั้งครรภ์ อาการแบบนี้เกิดจากอะไร
คนท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลมในท้องเยอะ แก้ท้องอืดได้อย่างไร
เป็นกรดไหลย้อนช่วงตั้งครรภ์ กรดไหลย้อนเกิดจากอะไร? รับมือยังไงดี?
ที่มา : pobpad, bumrungrad