ผ้าอ้อมกัดหัวลูก อาการผมร่วงบริเวณด้านหลังของหัวทารกในช่วงแรกเกิด ซึ่งทำให้ผมบริเวณนั้นแหว่ง หรือหลุดร่วงหายไป ซึ่งบางบ้านก็เป็น บางบ้านก็ไม่เป็น แท้จริงแล้วเกิดจากการที่ผ้าอ้อมกัดหัวลูกของเราจริงหรือไม่มาหาคำตอบกันดีกว่าค่ะ
ผ้าอ้อมกัดหัวลูก มีอาการอย่างไรบ้าง?
ผมร่วง หรือที่เรามักเรียกกันว่า ผ้าอ้อมกัดหัวลูก นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุ 6 เดือนแรก และจะเป็นมาก หรือสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนช่วงอายุ 3 เดือน โดยผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ว่า ในทารกแรกเกิดจนถึงช่วง 6 เดือน เป็นช่วงที่มีการงอกของเส้นผม และการหลุดร่วงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งการที่ผมของทารกร่วงจนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนนั้นอาจมาจากการร่วงที่รวดเร็วเกินไป จนผมที่จะงอกใหม่งอกไม่ทันนั่นเอง นอกจากนี้การที่ผมของเด็กทารกร่วงอาจมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การถูกลูบ หรือถูกเสียดสีบริเวณผมมากจนเกินไป การสระผมในอ่าง หรือการอบผ้าขนหนูไว้บนศีรษะทารกหลังจากสระผมเสร็จ หรือแม้แต่การที่เด็กนอนนานจนเกินไป เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ : ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กแรกเกิด เปรียบเทียบคุณสมบัติผ้าอ้อมสำเร็จรูป
สาเหตุของอาการผมร่วงของทารก
การที่ทารกแรกเกิดมีอาการผมร่วงนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะผมของมนุษย์เรานั้นงอกใหม่ และหลุดร่วงในทุก ๆ วัน โดยที่เรานั้นไม่รู้ตัว โดยอาการผมร่วงต่าง ๆ เหล่านี้มีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
1. ภาวะผมร่วง ผมบาง (Telogen effluvium)
สำหรับเด็กทารกแล้วนั้นมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ทำให้ผมในระยะ anagen (ระยะการเจริญเติบโต) ส่วนหนึ่งเข้าสู่ระยะ telogen (ระยะพัก หรือระยะสุดท้าย) เร็วขึ้น โดยในระยะสุดท้ายนี้จะอยู่ในช่วง 12-14 วัน และหลังจากนั้นผมของทารกก็จะหลุดร่วงออกไป ทั้งนี้ที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นเพราะว่าตอนที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้นจะได้ฮอร์โมนจากคุณแม่ผ่านสายสะดือ จึงทำให้พวกเขามีเส้นผมที่ดกดำ และไม่หลุดร่วงตอนที่อยู่ในครรภ์ หรืออยู่ในช่วง anagen นั่นเอง แต่เมื่อพวกเขาได้ออกมาลืมตาดูโลกแล้ว ทำให้ร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นเหตุทำให้ผมร่วงนั่นเอง
2. แรงเสียดทาน (Friction)
การถูกับวัตถุ อาจส่งผลทำให้ทารกผมร่วงได้ โดยเฉพาะด้านหลังศีรษะที่มักเป็นส่วนที่เกิดอาการผมร่วงมากที่สุด เนื่องจากผมนั้นถูกับพื้นแข็งของที่นอน เปล รถเข็น หรือแม้แต่ผ้าอ้อมที่ห่อตัวขณะนอนหลับนั่นเอง ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้วางทารกให้ท่านอนหงายขณะหลับ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเสียชีวิตอย่างกะทันหัน หรือ SIDS ก็ตาม ดังนั้นการที่ผมของทารกนั้นร่วงที่บริเวณด้านหลัง หรือที่เรียกว่าผ้าอ้อมกัดนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หรือร้ายแรงต่อร่างกายของทารก เพราะเมื่อเด็ก ๆ สามารถกลิ้งไปกลิ้งมาได้ (อายุประมาณ 7 เดือน) ปัญหานี้ก็จะหมดไปเอง
บทความที่น่าสนใจ : ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก เด็กแรกเกิด–4 เดือน วิธีจัดเตียงนอนที่ปลอดภัย
3. ภาวะต่อมไขมันอักเสบ (Cradle Cap)
อาการนี้ส่วนใหญ่มักเกิดกับทารกช่วง 2-3 สัปดาห์แรก และสามารถเป็นได้นานถึง 3 เดือน โดยภาวะต่อมไขมันอักเสบนั้นไม่ได้อันตรายต่อร่างกายของทารก เพราะเป็นเพียงภาวะของผิวหนังที่มีไขมันส่วนเกินมากเกินไป และยังยึดติดกับศีรษะของทารกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผิวบริเวณศีรษะไม่สามารถผลัดเซลล์ส่วนเกินออกไปได้ตามปกติ นอกจากนี้ภาวะต่อมไขมันอักเสบนี้ยังไม่มีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น อาการคัน เจ็บปวด แสบศีรษะ หรือติดต่อสู่คนอื่นได้ เป็นต้น อีกทั้งยังไม่สามารถทำให้ผมร่วงได้อีกด้วย แต่การที่ภาวะนี้เป็นสาเหตุของอาการผมร่วงของเด็กนั้น เป็นเพราะความพยายามที่จะขจัดเซลล์ส่วนเกินออกจากศีรษะทารกนั่นเอง จึงอาจทำให้มีเส้นผมติดออกไปบางส่วน โดยที่คุณเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจ
4. กลาก
จากการศึกษาของแพทย์พบว่า กลาก นั้นไม่สามารถเกิดจากเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีแน่นอน แต่การที่ทารกในช่วงแรกเกิดจนถึง 2 ปีที่พบว่าเป็นกลาก นั้นมีสาเหตุหลังมาจากการติดต่อจากคนอื่น โดยกลากนั้นสามารถส่งต่อจากคนสู่คนได้ หากในบ้านของคุณพบว่ามีคนเป็นกลากอยู่แล้วหละก็ ก็ควรอยู่ให้ห่างทารกให้มากที่สุด เพราะว่าทารกอาจติดกลากจากคุณก็เป็นได้ ซึ่งกลากนั้นเกิดจากเชื้อราหลายชนิด ที่เป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงและมักจะมีผื่นแดงขึ้นเป็นสะเก็ดคล้ายวงแหวนบนศีรษะ
บทความที่น่าสนใจ : รู้ไหมกลากน้ำนมไม่ได้เกิดจากนมนะ
ถ้าผมร่วงมาก ๆ จะทำให้ทารกหัวล้านหรือไม่?
อาการทารกผมร่วงนั้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมาก ถึงแม้ว่าเด็กบางคนอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ตาม โดยคุณไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะว่าการที่ทารกผมร่วงตั้งแต่เด็กนั้นไม่ส่งผลต่อการที่จะเติบโตเป็นบุคคลที่มีหัวล้านได้ เพราะการที่หัวล้านนั้นส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องของฮอร์โมน และกรรมพันธุ์ โดยอาจเริ่มจากผมขึ้นช้า ผมบาง และสุดท้ายคือผมไม่มีการงอกอีกเลย หรือหัวล้านนั่นเอง แต่สำหรับการร่วงของผมทารกนั้นเป็นเพียงการลดระดับของฮอร์โมนเท่านั้น เมื่อผ่านช่วงที่ร่างกายของพวกเขาสามารถสร้างฮอร์โมนได้เอง ผมก็จะกลับมาเป็นปกติ และจะกลับไปเป็นแบบเดิมอีกครั้งก็ต่อเมื่อพวกเขาโต หรือเป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นเอง
ข้อปฏิบัตสำหรับทารกที่มีอาการผมร่วง
- อย่าพยายามดึงผมที่ยังมีเหลืออยู่มาปิดผมที่หายไป เพราะว่าบริเวณผมที่หายไปนั้นจะค่อย ๆ กลับมาในไม่ช้า ซึ่งผมของเด็ก ๆ จะเริ่มร่วงและหายไปในช่วงอายุ 3 เดือนแรก และจะกลับมาเป็นดังเดิมตอนอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี
- ห้ามใช้ยากระตุ้นผมกับเด็กเด็ดขาด เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวกระตุ้นผมของพวกเขาให้งอกใหม่โดยเร็วได้ แต่หากคุณสงสัยว่าทารกมีอาการ หรือคาดว่าจะเป็นกลาก หรือผมร่วงผิดปกติก็ให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อขอความช่วยเหลือในการวินิจฉัย และรักษา
- ลดการเสียดสีของศีรษะ อาจช่วยเรื่องลดการหลุดร่วงได้ โดยคุณอาจจะให้เขาเปลี่ยนท่าในการนอนเป็นตะแคงบ้าง หรือไม่นอนหงายนานจนเกินไป หรือแม้แต่การให้พวกเขานอนบนเปล หรือรถเข็นเด็กที่เคลื่อนที่ เพราะการกระทำดังกล่างทำให้เกิดแรงเสียดสีระหว่างศีรษะ และพื้นผิวที่แข็ง ที่สามารถทำให้ผมร่วงได้
- ใช้แชมพูสำหรับเด็ก ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ และอย่าขัด หรือใช้แปรงที่มีขนที่แข็งกับศีรษะของเด็กทารก เพราะอาจทำให้เกิดผมร่วงได้
หลังจากทราบสาเหตุของผ้าอ้อมกัดหัวลูกแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ สบายใจขึ้นมาบ้างแล้วหรือยัง แต่หากลูกของคุณมีอาการนอกเหนือจากนี้ หรือแม้แต่เกิดความผิดปกติที่หนังศีรษะก็ควรรีบพาเด็ก ๆ ไปพบแพทย์ทันทีนะคะ เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรคทางผิวหนังอื่น ๆ ได้ และแพทย์จะได้ช่วยเหลือ และรักษาลูกของคุณให้กลับมามีผมที่ดกดำเหมือนเดิม
บทความที่น่าสนใจ :
5 ผลผลิตธรรมชาติ ที่ช่วยเร่งให้ ลูกมีผมดกดำ ปลอดภัยทั้งแม่และลูก
คุณแม่ กินอะไรให้ลูกผมดก? อยากให้ลูกผมดก คิ้วหน้าดู 8 อาหารที่ทำให้ลูกผมดก
ผมร่วงเยอะมาก เกิดจากอะไรได้บ้าง? จะเป็นอันตรายไหม?
ที่มา :healthline , mustelausa, babycenter