ปัจจุบันผู้หญิงที่แต่งงานและต้องการมีลูกในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการมีบุตรยาก และเกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการตกไข่ที่ลดลงซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องการมีบุตร หลายคนอาจสงสัยว่า ท้องตอนอายุ30 ลูกจะออกมาแข็งแรงจริงไหม และจะเกิดความเสี่ยงต่อคุณแม่ที่ต้องการตั้งครรภ์หรือเปล่า วันนี้เราจะพาไปดูกันค่ะ
อายุมาก มีลูกยากจริงไหม
แม้ว่าในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป จะเป็นช่วงที่คุณแม่ได้เปรียบมากกว่าช่วงอายุ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเงิน วุฒิภาวะ และความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ แต่ก็มีข้อควรระวังหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงตอน 30 ปีไปแล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากภาวะตกไข่ที่น้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปแล้วซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับคุณแม่ที่ต้องการมีบุตร ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งในสามของกลุ่มวิจัยประสบปัญหามีลูกยาก รวมถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าปกติด้วย
อายุมาก ลูกจะฉลาดน้อยลงหรือเปล่า
การที่แม่อายุมากขึ้นประสบกับปัญหามีบุตรยาก แต่ก็ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการและความฉลาดของลูกโดยตรง เพราะจริง ๆ แล้ว ความฉลาดของลูกส่วนหนึ่งมาจากร่างกายของตัวเด็กเอง รวมถึงการบำรุงร่างกายของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ว่าได้รับสารอาหารเหมาะสมและครบถ้วนหรือไม่ หรือมีการฝากครรภ์ที่เหมาะสมหรือเปล่า รวมถึงการดูแลสุขภาพของคุณแม่เมื่อเกิดความผิดปกติต่าง ๆ
และเมื่อคลอดลูกแล้ว การเลี้ยงดูลูกก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อความฉลาดของลูกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกกินนมแม่ หากลูกได้รับสารอาหารในน้ำนมอย่างเพียงพอ ก็จะมีผลต่อพัฒนาการของเซลล์สมองลูกนั่นเอง ซึ่งหากคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ก็จะช่วยพัฒนาเซลล์สมองและเส้นประสาทของลูกด้วยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวมความรู้ มีลูกตอนอายุ 45 ท้องตอนวัยทอง ควรรู้อะไรบ้าง? มีอะไรที่น่ากังวลบ้าง
ท้องตอนอายุ30 ลูกจะฉลาดแข็งแรงจริงไหม
มีงานวิจัยหลายแห่งที่ได้ออกมาแนะนำว่า หากคุณแม่อยากมีลูกที่ฉลาดและแข็งแรง ควรมีตอนอายุ 30-39 ปี เช่นงานวิจัยจาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวว่าทารกที่เกิดจากคุณแม่ในช่วงอายุ 30-39 ปี จะมีพัฒนาการที่ดี เพราะผู้หญิงวัยนี้มีความพร้อมทั้งด้านการงาน รายได้ การศึกษา วุฒิภาวะ และสุขภาพที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนได้
อย่างไรก็ดี งานวิจัยของ Thomas Perls จากสถาบัน New England Centenarian Study (NECS) ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังได้กล่าวว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุ 33 ปี จะมีโอกาสอายุยืนกว่าผู้หญิงที่มีลูกคนสุดท้องก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งมีโอกาสอายุยืนมากกว่า 95 ปีได้ ดังนั้น การมีลูกเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูก แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่เช่นกัน
ทำไมผู้หญิงไม่ควรมีลูกเมื่ออายุมาก
ถึงแม้งานวิจัยจะได้กล่าวว่าการมีลูกช่วงอายุ 30 ปี จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี แต่จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ผู้หญิงในช่วงอายุ 30 ปีขึ้น ก็แนวโน้มที่จะเกิดภาวะมีบุตรยากเนื่องจากภาวะการตกไข่ที่น้อยลง เพราะปกติแล้ว เซลล์ไข่จะอยู่ในรังไข่ของผู้หญิง จนอายุ 13-14 ปี ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นเพื่อให้รังไข่เริ่มตกจนเกิดเป็นประจำเดือนนั้นเอง ดังนั้น เมื่อคุณแม่เริ่มเติบโตขึ้น ร่างกายก็จะสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและสารเคมีต่าง ๆ จนทำให้คุณภาพรังไข่เสื่อมลงนั่นเอง
เมื่อคุณแม่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป รังไข่จะเสื่อมลงส่งผลให้เซลล์ไข่แย่ลงด้วย ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่มีคุณภาพและส่งผลต่อลูกที่เกิดมา อาจทำให้ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมสูง ดังนั้น การตั้งครรภ์ที่ดี คือไม่ควรตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้น ก็จะทำให้ตัวอ่อนมีคุณภาพดี และพัฒนาการของลูกก็จะดีตามไปด้วยเหมือนกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เช็กความเสี่ยงก่อนตัดสินใจ แม่ตั้งท้องตอนอายุมาก มีลูกตอนอายุมาก อันตรายไหม
ความเสี่ยงเมื่อท้องตอนอายุมาก
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่อตัวเองและลูกในครรภ์ได้ ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้นมีดังนี้
-
มีลูกยาก
แน่นอนว่าเมื่อคุณแม่อายุมากขึ้น ก็จะยิ่งมีลูกยากและส่งผลต่อพัฒนาการของลูกด้วย เนื่องจากผู้หญิงมีจำนวนไข่ในรังไข่ที่มีจำกัด เมื่อคุณแม่อายุมากขึ้นไข่บางส่วนก็จะฝ่อไป ทำให้ไข่มีความสมบูรณ์น้อยลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกเกิดความผิดปกติด้วย
-
ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม
หากคุณแม่อายุมาก ก็จะมีโอกาสที่ลูกเป็นดาวน์ซินโดรมสูง เพราะมีโอกาสที่การแบ่งตัวของเซลล์ไข่มีความผิดพลาดและเกิดจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติ ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีภาวะโครโมโซมผิดปกติ หรือเป็นดาวน์ซินโดรมสูงเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า
-
เสี่ยงแท้ง
ยิ่งคุณแม่อายุมากก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการแท้งลูกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 35 ปีขึ้นไป คุณแม่อาจเสี่ยงแท้งได้มากกว่าปกติ และมักเกิดการแท้งช่วงอายุครรภ์ 6-14 สัปดาห์ เนื่องจากคุณภาพไข่ที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและมดลูกในร่างกาย
-
ตั้งครรภ์นอกมดลูก
ผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก 4-8 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากความผิดปกติของโครโมโซมทำให้รกผิดปกติหรือการทำงานของท่อนำไข่เสื่อมลง ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกนั่นเอง
-
ครรภ์เป็นพิษและความดันโลหิตสูง
แม่ตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ขึ้นไป พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตสูงและภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งภาวะนี้ถือว่าเป็นภาวะอันตรายสำหรับแม่และลูก อาจถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ได้ในกรณีที่ครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง อาจทำให้ลูกโตช้า ตัวเล็ก ขาดออกซิเจน และอาจคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ค่ะ
-
เบาหวานขณะตั้งครรภ์
การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้ตอนอายุมาก โดยมีโอกาสสูง 3-6 เท่าในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า ซึ่งภาวะนี้ส่งผลทารกเกิดพัฒนาการร่างกายที่ปกติ อาจพิการหรือมีโอกาสเสียชีวิตได้
-
ลูกน้ำหนักตัวน้อย
การศึกษาได้พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะคลอดลูกน้ำหนักน้อยสูงกว่าผู้หญิงที่อายุ 20-34 ปี ซึ่งหากทารกมีน้ำหนักตัวที่น้อยตั้งแต่แรกเกิด ก็จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตช่วงแรกคลอด หรืออาจเกิดการเจ็บป่วย และมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไขข้อสงสัย ผู้หญิงควร มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี ไม่ควรมีลูกหลังอายุ 35 จริงไหม?
มีลูกตอนอายุมาก ควรดูแลตัวเองอย่างไร
แม้ว่าการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก จะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่คุณแม่และทารกน้อยมากขึ้น แต่ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก สามารถวางแผนการมีบุตรได้อย่างปลอดภัยได้ ซึ่งหากคุณแม่กำลังคิดจะมีลูกตอนอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อคัดกรองโรค
- ไปฝากครรภ์และตรวจครรภ์ตรงเวลา เพื่อให้แพทย์คอยติดตามพัฒนาการลูกน้อย
- ตรวจคัดกรองต่าง ๆ เมื่อตั้งครรภ์ เช่น เจาะน้ำคร่ำ ตรวจชิ้นรก เป็นต้น
- รับประทานวิตามินคนท้องอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะคนท้องต้องการพลังงานมากกว่าคนทั่วไป
- เน้นรับประทานโฟลิกและธาตุเหล็ก เพื่อช่วยพัฒนาการทารกและลดความเสี่ยงของโรคโลหิตจาง
- นับลูกดิ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ เพื่อตรวจเช็กว่าลูกมีความผิดปกติหรือไม่
- รีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อร่างกายมีความผิดปกติ เช่น ปวดท้อง เจ็บป่วย ลูกไม่ดิ้น หรือมีน้ำไหลออกจากช่องคลอด
ท้องตอนอายุ30 อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านของร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่วางแผนที่จะมีลูกในช่วงอายุมาก อาจจะต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อความปลอดภัยของร่างกายและลูกในครรภ์ ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างสมบูรณ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คลินิกมีบุตรยาก ช่วยทำให้มีลูกได้อย่างไร รักษามีบุตรยากที่ไหนดี?
อยากมีลูกต้องทำยังไง ทำอย่างไรให้มีลูกเร็วสมใจ วิธีให้ลูกติดไว ๆ
ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก? เปิดเหตุผล พร้อมข้อดี มีลูกแล้วดียังไง
ที่มา : sanook, bumrungrad, babyandmom