อาหารลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคนท้อง ต้องทำไง

อาหารลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำหรับคนท้องที่ต้องการควบคุมอาหาร และระดับน้ำตาลในเลือด วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือดแบบได้ผลที่คนท้องควรรู้

เบาหวานในคนท้อง เป็นโรคที่พบบ่อยมากๆ สาเหตุก็มาจากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการกินของคุณแม่ และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เนื่องจากช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ รกจะมีการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด บางชนิดมีผลต่อต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดมาใช้ น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเบาหวานค่ะ และต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินมากขึ้น วันนี้เราจึงได้นำ อาหารลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และวิธีลดน้ำตาลในคนท้อง มาให้คุณแม่ลองดูกันค่ะ โดยสามารถทำได้ ดังนี้

 

วิธีลดน้ำตาลในคนท้อง อาหารลดเบาหวานคนท้อง มีอะไรบ้าง

คนท้องจำเป็นต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งสามารถควบคุมอาหาร ได้โดยกระจายอาหารออกเป็น 3 มื้อต่อวัน และอาหารว่างอย่างน้อย 3 มื้อต่อวัน  ทั้งนี้อาจมีมื้อก่อนนอนด้วยเพื่อป้องกันภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงกลางคืน ซึ่งมีคำแนะนำดังนี้

 

  • สำหรับคนท้องที่มีค่าดัชนีมวลกายในเกณฑ์ปกติ ในไตรมาสแรกคนท้องควรได้รับพลังงาน 30 ถึง 35 แคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน สำหรับไตรมาสที่ 2 ถึง 3 คนท้องควรได้รับพลังงานเป็น 35 แคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งเป็น โปรตีนร้อยละ 12 ถึง 20 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 50 ถึง 60 ไขมัน ร้อยละ 20 ถึง 30
  • สำหรับคนท้องที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ให้จำกัดอาหารเป็น 25 แคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน
  • ในกรณีที่คนท้องมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ให้ลดจำนวนคาร์โบไฮเดรต เหลือร้อยละ 35 ถึง 40 ของจำนวนแคลอรี่ทั้งหมด

 

 

อาหารที่คนท้องเป็นเบาหวานต้องระวัง

  • งดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพื่อจำกัดจำนวนน้ำตาลที่เข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ น้ำตาล น้ำผึ้ง นมข้นหวาน ขนมหวานต่าง ๆ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ควรเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย ขนุน องุ่น มะม่วงสุก เป็นต้น และผลไม้อบแห้ง รวมถึงอาหารที่เติมน้ำตาล น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายแดง สารอาหารให้ความหวานด้วย
  • หลีกเลี่ยงผักที่เป็นหัว เพราะจะมีคาร์โบไฮเดรตสูง
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูติดมัน หนังไก่ เป็นต้น และใช้ไขมันจากพืชเพื่อป้องกันภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป บะหมี่พร้อมเครื่องปรุงสำเร็จรูป ซุปกระป๋อง มันฝรั่งบดพร้อมปรุง อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ขนมและของขบเคี้ยวต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น น้ำปลา เกลือ ของหมักดอง หมูเค็ม ปลาเค็ม พยายามอย่าปรุงอาหารให้เค็ม เพราะว่าผู้ที่เป็นเบาหวานจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ง่ายค่ะ

 

อาหารลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กินอะไรได้บ้าง

  • สามารถใช้น้ำตาลเทียม เช่น แอสปาเทม ซูคราโลส
  • ผักและผลไม้ให้ได้ 5 ส่วนต่อวัน
  • อาหารที่เป็นธัญพืช เช่น ข้าวกล้องแทนข้าวขาว
  • โปรตีนควรเน้นอาหารโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา หมูเนื้อแดง ไก่ชนิดที่ไม่ติดหนัง เนื้อวัวไม่ติดมัน เป็นต้น สำหรับโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และงา เป็นแหล่งโปรตีนที่มีใยอาหารจะช่วยระบบขับถ่าย และป้องกันไม่ให้ท้องผูกได้
  • น้ำนมเป็นแหล่งสารอาหารโปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนสำหรับร่างกาย ควรเน้นการดื่มนมสดชนิดจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย เพื่อหลีกเลี่ยงไขมันในนม หรือดื่มน้ำนมถั่วเหลืองแทน
  • เลือกทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ หรือผลิตภัณฑ์พืชที่ไม่ขัดสี
  • ผักประเภทใบ ได้แก่ ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักตำลึง กะหล่ำปลี แตงกวา ต้นหอม เห็ด บวบ ผักโขม ผักกาดขาว มะนาว เป็นต้น รวมถึงพวกกระเทียม พริกไทยด้วย

 

 

วิธีลดน้ำตาลในคนท้อง วิธีออกกำลังกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คนท้องสามารถออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน เพื่อเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และลดภาวะดื้ออินซูลิน ทั้งยังช่วยกระตุ้นหลอดเลือด และการทำงานของหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยมีคำแนะนำตามนี้

  • ออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงมากเกินไป และไม่ควรหักโหม เช่น การเดินนานๆ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ การว่ายน้ำ และการทำงานบ้าน พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในท่านอนหงาย เพราะหลอดเลือดอาจถูกกดทับได้
  • ควรใช้เวลาออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที และควรอบอุ่นร่างกายก่อน 5 ถึง 10 นาที เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
  • ในระหว่างที่ออกกำลังกาย ควรมีอัตราการเต้นของหัวใจไม่เกิน 140 ครั้งต่อวินาที
  • หากระหว่างออกกำลังกายมีเลือดออกให้หยุดทันที

 

ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย

  • ในกรณีที่มีระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 มก./ดล. และมีการออกกำลังกายเกิน 45 นาที ควรทานอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย
  • ถ้ามีระดับน้ำตาลในมากกว่า 250 มก./ดล. ให้ตรวจเช็กคีโตนด้วย ถ้าเป็นผลบวกให้งดการออกกำลังกายไว้ก่อนจนกว่าจะควบคุมระดับน้ำตาลและคีโตนได้
  • ถ้ามีระดับน้ำตาลในมากกว่า 300 มก./ดล. แต่ไม่มี่คีโตน คุณแม่ควรออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง หากคุณแม่ออกกำลังกายมาก่อนสามารถออกกำลังกายต่อได้ แต่ถ้าไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ค่ะ

หมายเหตุ: สำหรับคุณแม่ที่รักษาเบาหวานด้วยอินซูลิน ควรระมัดระวังในการออกกำลังกายค่ะ

 

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

8 น้ำผลไม้ ที่แม่ท้องควรดื่ม คนท้องกินแล้วดีต่อลูกในครรภ์

5 สารอาหารที่คนท้องควรได้รับก่อนคลอด สำคัญอย่างไร และมีสารอาหารอะไรบ้าง

ตารางน้ำหนักและขนาดของทารกในครรภ์ ที่จะบอกว่าลูกในท้องแข็งแรงดีแค่ไหน

ที่มา : กาญจนา ศรีสวัสดิ์ และ อรพินท์ สีขาว (2557). การดูแลหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์. วารสารพยาบาลทหารบก ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (พ.ค. ถึง ส.ค.)

บทความโดย

Khunsiri