การถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ทางพันธุกรรมไม่ใช่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนิสัยด้วย ทำไมนิสัยพ่อแม่ถึงถ่ายทอดไปถึงลูกได้ ทั้งนี้ไม่น่าเป็นไปได้ และนอกจากร่างกายโดยรวมกับนิสัยแล้ว ยังมีโรคทางพันธุกรรมที่ผู้ปกครองจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากก่อนที่จะมีบุตร เพราะ เรื่องพันธุกรรมสำคัญกว่าที่คิด
เรื่องพันธุกรรมสำคัญกว่าที่คิด แล้วพันธุกรรม คืออะไร ?
พันธุกรรม (Heredity) คือ รูปแบบการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น ที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด คือ จากพ่อแม่สู่ลูก เช่น ลักษณะสีผิว, ความสูง, ลักษณะเส้นผม, อุปนิสัย และสีของดวงตา เป็นต้น ซึ่งลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกส่งผ่านจาก พ่อแม่ไปยังลูก เรียกว่า “ลักษณะทางพันธุกรรม (Genetic Character) ลักษณะเหล่านี้ต้องพิจารณาจากหลาย ๆ รุ่น เนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง อาจไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นในรุ่นลูก แต่อาจปรากฏออกมาในรุ่นหลานแทนได้ การถ่ายทอดนี้จะถูกควบคุมโดย DNA (Deoxyribonucleic acid) หรือ RNA (Ribonucleic acid) โดยอาศัยเซลล์สืบพันธุ์หรือเซลล์ชนิดอื่น ๆ เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดทั้งยีนส์ (Gene) หรือโครโมโซม (Chromosome) เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เลี่ยงโรคทางพันธุกรรมที่จะเกิดขึ้น
วิดีโอจาก : Easy biology by DrPukan
ทำไมนิสัยพ่อแม่ถึงถ่ายทอดไปถึงลูกได้ ?
เวลาที่พ่อแม่เห็นลักษณะนิสัยของลูก อาจมีความคิดว่าทำไมเหมือนพ่อจัง หรือทำไมคล้ายแม่มาก ทั้ง ๆ ที่ผู้ปกครองไม่ได้บอกให้ทำ หรือแทบไม่ได้ทำให้เห็นเลย เรื่องนี้มีการวิจัยพบว่า พันธุกรรมลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางชีวภาพ, กายภาพ หรือจิตวิทยา ล้วนแล้วแต่จะถูกถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกได้ โดยสิ่งเหล่านี้จะถ่ายทอดผ่านยีนที่อยู่ในโครโมโซมนั่นเอง ซึ่งปริมาณการถ่ายทอดลักษณะนิสัยก็มากพอ ๆ กับลักษณะทางกายภาพ เช่น งานวิจัยฝาแฝดที่เลี้ยงแยกห่างกัน พบว่ามีรูปแบบของการใช้ชีวิต หรือความชอบเรื่องต่าง ๆ คล้ายคลึงกันอยู่ เป็นต้น แต่ไม่ใช่เพียงแค่พันธุกรรมเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ลูกมีนิสัยคล้ายกับพ่อแม่ด้วย
ปัจจัยดังกล่าว คือ “สิ่งแวดล้อม (Environment Factors)” และ “สถานการณ์ (Situation Conditions)” ที่ช่วยหล่อหลอมอุปนิสัย และพฤติกรรมของลูกด้วย เช่น ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน คนรอบปฏิบัติตัวใส่กันอย่างไร พ่อแม่อาจไม่รู้ว่าทารกนั้นจดจำพฤติกรรมของพ่อแม่มาโดยตลอด และมีโอกาสที่จะเกิดการเลียนแบบในอนาคตด้วย หรือสถานการณ์รอบตัวที่เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของเด็ก ว่าควรทำตัวอย่างไร แสดงออกอย่างไร ทำให้มีผลต่อนิสัยโดยรวมได้นั่นเอง จึงสรุปได้ว่าแท้จริงแล้วพันธุกรรมมีการถ่ายทอดอุปนิสัยของพ่อแม่สู่ลูกจริง แต่ปัจจัยรอบตัวของลูกก็มีส่วนสำคัญด้วยนั่นเอง
ไม่ใช่แค่นิสัย หรือหน้าตา แต่ยังมีโรคทางพันธุกรรมด้วย
พอกล่าวถึงการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมทั้งรูปร่างหน้าตา และอุปนิสัยต่าง ๆ คงไม่มีอะไรแปลก ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่สิ่งที่ลูกได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น เพราะยังมีโรคทางพันธุกรรมที่สามารถส่งต่อมาได้ด้วย เนื่องจาก “ยีน” หน่วยย่อยของการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรม เพื่อสร้างโปรตีนองค์ประกอบเล็กสุดของยีนคือสายDNA โรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมสามารถเกิดได้จากความผิดปกติของทั้งโครโมโซม และยีน โดยโรคที่สามารถส่งต่อได้นั้นมีอยู่หลายโรค ตัวอย่างเช่น
1. โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
เป็นโรคเลือดจางเป็นโรคที่มีหลายกลุ่ม และมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ห่างพ่อหรือแม่เป็นพาหะเพียงคนเดียว ทารกแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย แต่หากเป็นทั้งคู่จะทำให้ทารกมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อาการโดยทั่วไปมักจะไม่ได้รุนแรง ที่รุนแรงนั้นเป็นส่วนน้อย หากทารกมีอาการรุนแรงจะเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือหลังคลอด 1 – 2 ชั่วโมง สำหรับอาการไม่รุนแรงหากดูแลทารกถูกวิธีก็สามารถเติบโตได้ปกติเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ
2. ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกส์พีดี (G6PD)
คือเอนไซม์ที่มีอยู่ในเม็ดเลือดแดง มีประโยชน์ในการป้องกันการถูกทำลายของเม็ดเลือดแดงจากสิ่งแปลกปลอม หรือการทานอาหาร โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ถ่ายทอดพันธุกรรมดังกล่าวได้ โดยอาหาร หรือสารเคมีบางชนิด สามารถกระตุ้นให้ผู้มีภาวะนี้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตก ซีดลง สังเกตจากการที่มีอาการดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น หากพบว่ามีภาวะดังกล่าวนี้ควรบอกกับแพทย์ทุกครั้งที่รับการตรวจ, รับการผ่าตัด หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการมีบุตร เป็นต้น
3. กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down syndrome)
ผู้ป่วยจะมีเชาวน์ปัญญาต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป, สื่อสารพูดได้ช้า, มีปัญหาในการใช้กล้ามเนื้อ และมีลักษณะภายนอกหน้า, หัว, จมูกแบน และตาเล็กเป็นวงรี, คอสั้น และตัวเตี้ย อาจเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย จึงเสี่ยงอายุสั้นกว่าปกติ โรคนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของพ่อแม่ แต่เป็นความผิดพลาดขณะตัวอ่อนเติบโตในครรภ์ หากได้รับการรักษาตามอาการได้ทันท่วงทีแล้วหลังจากคลอด การมีอายุยืนที่มากขึ้นของเด็กกลุ่มนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
4. โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
เลือดออกง่าย และหยุดยาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีอาการเลือดออกนานกว่าคนปกติ โดยเฉพาะตามข้อศอก, ข้อเท้า และหัวเข่า เลือดอาจออกและร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่การดูแลตัวเองให้ถูกต้องสามารถทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้เป็นปกติเช่นกัน หากพ่อแม่พบว่าลูกตัวเองมีอาการเลือดออกง่ายแต่หยุดยากควรรีบมาพบแพทย์ทันที
5. โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (Inborn errors of metabolism)
ความผิดปกติในการสร้างโปรตีน ทำให้กระบวนการย่อยสลาย และสังเคราะห์สารอาหารในร่างกายผิดปกติ ไม่สามารถเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานได้ สารอาหารจะสะสมตกค้างเป็นพิษ เซลล์จะตาย ทำให้เสียชีวิตได้ สามารถรักษาได้ด้วยการควบคุมอาหารที่ร่างกายผู้ป่วยย่อยไม่ได้ รวมทั้งให้นมพิเศษหรืออาหารพิเศษ และกินยาตลอดชีวิต
สำหรับนิสัย หรือรูปลักษณ์คงไม่ใช่ปัญหา แต่ในส่วนของโรคนั้นคงต้องให้ความสำคัญมากกว่า หากพบว่าตนเองเป็นโรคที่สุ่มเสี่ยงจะถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ ควรปรึกษาแพทย์ และวางแผนในการมีบุตรล่วงหน้าให้ดี ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย เพราะอาจมีผลต่อลูกรักไปตลอดชีวิต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกฉลาดไม่ฉลาด พันธุกรรมพ่อแม่ ก็มีเอี่ยวนะ!!
โรคของทารกแรกเกิด โรคที่พบบ่อยในปัจจุบัน คนท้องต้องระวังตั้งแต่ยังไม่คลอด
พ่อแม่ขาวลูกดำ เป็นไปได้ไหม สีผิวลูกจะเหมือนพ่อหรือแม่ ขึ้นอยู่กับอะไร
ที่มา : siphhospital, bccgroup, mthai