นอกจากการเรียนใน โรงเรียน ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะส่งลูกๆ ไปเรียนเสริมทักษะด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ลูกมากขึ้น เช่น วิชาภาษาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาที่เสริมความสามารถพิเศษต่างๆ ทำให้มีการเปิดธุรกิจโรงเรียนพิเศษมากขึ้น ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนโรงเรียนติวพิเศษเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยและสถาบันชื่อดังที่ต้องแข่งขันต่างๆ
โรงเรียนกวดวิชาขายแฟรนไชส์โรงเรียนอนุบาล
ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน หรือ สช. โดยมีนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ได้รับข้อสั่งการจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ตรวจสอบการร้องเรียนว่าโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งย่านบางใหญ่ จ.นนทบุรี ว่ามีความผิดปกติทางการการเรียนการสอน
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เข้าตรวจสอบเบื้องต้น โรงเรียน อนุบาลแห่งนี้ไม่มีการเรียนการสอนในระดับอนุบาล แต่พบว่ามีการจัดสอนในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชาแทน ซึ่งการจะเปิดโรงเรียนกวดวิชาที่ถูกต้องแต่ต้องดำเนินการขออนุญาตการจัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลือกโรงเรียนประถมให้ลูก หลักสูตรแบบไหนดี?
โรงเรียนอนุบาลถูกตรวจสอบทั่วประเทศ
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ทั่วประเทศ พบสำนักงานใหญ่ของโรงเรียนตั้งอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี โดยใช้ชื่อว่า
“โรงเรียนสร้างเสริมทักษะภาษาอังกฤษแอมโกร์วอิง” ซึ่งดำเนินการขอจัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบตามระเบียบอย่างถูกต้อง แต่พบว่าเมื่อเป็นโรงเรียนเสริมทักษะกวดวิชา แทนที่จะทำกิจการตามระเบียบการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน แต่กลับไปขายแฟรนไชส์เปิดเป็นโรงเรียนอนุบาล โดยคิดหลักสูตรเอง แถมอ้างว่าทำมาแล้ว 6 ปี ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน หรือสช. จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการองค์กรหลักครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการพบโรงเรียนเถื่อนลอตใหญ่ที่ไม่ได้รับอนุญาตจัดตั้ง
ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า “ขณะนี้โรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าวได้สร้างแฟรนไชส์ไปแล้วจำนวน 38 แห่งใน 31 จังหวัด ดังนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี แล้ว และแจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) 31 แห่งแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบภายใน 7 วัน”
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ยังได้ดำเนินการตรวจสอบภาษี โดยมอบหมายให้กรมสรรพากรตรวจสอบการชำระภาษี แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้ตรวจสอบครูผู้สอนชาวต่างชาติ พร้อมกับแจ้งกรมการจัดหางานให้ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของครูผู้สอนชาวต่างชาติว่ามีใบอนุญาตทำงานและสอบวัดมาตรฐานการสอนสำหรับครูต่างชาติผ่านเกณฑ์หรือไม่
ที่สำคัญโรงเรียนเอกชนดังกล่าวไม่ได้มีการยื่นขอจัดตั้งการเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. จึงต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ในมาตรา 120 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดโรงเรียนหากต้องการซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนควรตรวจสอบข้อมูลการอนุญาตจัดตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ให้ถูกต้องเพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้
บทความที่น่าสนใจ :
ก่อนเข้าเรียนอนุบาล ลูกต้องทำอะไรเป็นบ้าง
อยากให้ลูกเก่งอังกฤษควรเลือกโรงเรียนนานาชาติอย่างไร
ช่วยด้วย! พ่อแม่ต้องทำอย่างไรดีเมื่อ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน
ที่มา: hongpakkroo