8 เคล็ดลับสำหรับ แม่ท้องนอนไม่หลับ แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว
คุณแม่ที่กำลังตั้งท้องทุกท่านคะ หากคุณแม่เป็นคนหนึ่งที่มีอาการนอนไม่หลับแล้วเกิดความกังวลใจคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติละก็ อย่าได้กังวลไปเลยนะคะ เพราะอาการนี้เป็นอาการปกติที่มักจะเกิดกับคุณแม่ท้องทุก ๆ คน ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของแต่ละไตรมาสด้วยนะคะ
ไตรมาสแรก 1 – 3 เดือน
ตั้งครรภ์ระยะ 1 – 3 เดือน ระยะนี้จะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) สูง ทำให้ง่วงนอน นอนเก่ง แต่เนื่องจากจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ทำให้นอนไม่เพียงพอซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการง่วง และหลับในเวลากลางวันบ่อย ๆ ทำให้กลางคืนมักจะหลับยาก
ไตรมาสที่สอง 4 – 6 เดือน
จะมีสาเหตุหลักจากการดิ้นของลูกในท้องประกอบกับช่วงนี้เอง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายของคุณแม่ยังคงสูงอยู่ ดังนั้นคุณแม่ก็อาจจะหลับยากได้เช่นกัน
ไตรมาสที่สาม 7 – 9 เดือน
คุณแม่บางคนอาจจะนอนไม่หลับ เนื่องจากการขยายใหญ่ของหน้าท้อง จึงรู้สึกแน่นท้อง เสียดท้อง ปวดหลัง หรือปวดปัสสาวะจนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ
มาถึงตอนนี้แล้วคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะเรามีเคล็ดลับที่ไม่ลับมาฝากกัน ที่สำคัญง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนไม่วุ่นวาย จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการหยุดนอนดูละคร ดูทีวี เล่นมือถือ และหันไปออกกำลังกายเบา ๆ ทุกวัน ๆ ละ 10 นาทีไม่ว่าจะเป็นเดินในน้ำหรือไม่ก็โยคะคนท้อง ร่างกายจะได้ยืดเส้นยืดสายได้บ้าง
2. ใครว่าคนท้องต้องมีหมอนใบเดียว คุณแม่ ๆ ลองหาหมอนที่ตัวเองกอดแล้วถูกใจ ก่ายได้สบายสักใบสองใบ รับรองหลับสบาย และถ้าท้องโตขึ้นมาหน่อยละก็หาหมอนเล็ก ๆ มาหนุนขาทั้งสองข้าง ก็จะช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น
3. อย่าพยายามคิดหรืออยู่คนเดียว หาเพื่อนคุยระบายบ้างก็ดีนะคะ หรือหากลุ่มคุณแม่ที่ท้องเหมือนกันตามเพจต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่แน่น๊า คุณอาจจะได้เพื่อนสนิทอีกคนก็เป็นได้ แต่ก็ต้องเลือกคบเลือกคุยกันด้วยนะคะสมัยนี้ เพราะเราไว้ใจใครไม่ได้จริง ๆ
4. เปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ ให้ลูกในท้องแล้วก็ตัวเองฟัง พูดคุยกับลูกไป นอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการลูกในท้องแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วยนะคะ
5. หาตัวช่วยแก้เมื่อยด้วยการสะกิดคนข้าง ๆ หรือคุณสามีให้มาช่วยบีบช่วยนวดเบา ๆ ตามหัวไหล่ คอ และขาบ้าง หรือจะทาโลชั่นที่มีกลิ่นหอมเบา ๆ ด้วยก็ได้ไม่มีใครว่า
6. ควรปรับสิ่งแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม กำจัดสิ่งรบกวนการนอนให้มากที่สุด ห้องที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนคือ ห้องที่เงียบ เย็น และมืด หากมีเสียงรบกวนอาจทำให้แม่ท้องนอนไม่หลับหรือหลับยากได้
7. เข้านอนให้เป็นเวลา และตื่นนอนให้เป็นเวลา ทำเช่นนี้ทุกวัน ร่างกายจะปรับตัว เหมือนตั้งนาฬิกาเอาไว้เลยทีเดียว เมื่อถึงเวลานอนคุณแม่จะง่วงนอนขึ้นมาทันทีเลย
8. ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ที่ไม่มีคาเฟอีนผสมอยู่ เช่น นมอุ่น ๆ ก่อนที่จะเข้านอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์ด้วย การดื่มน้ำก่อนนอนในระยะไตรมาสแรก และไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้คุณแม่ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำกลางดึกได้ คุณแม่ควรสังเกตตัวเองและปรับใช้วิธีนี้อย่างเหมาะสม
เป็นอย่างไรบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ง่าย ๆ เท่านี้เราก็สามารถนอนหลับสบายไร้กังวล ไม่ต้องตื่นนอนบ่อยหรือต่อให้ตื่นก็สามารถสานต่อได้อย่างสบายแล้วละค่ะ
ที่มา : pregnancycorner.com
The Asianparent Thailand เพื่อลงทะเบียนรับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสแรก มาติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ลูกโตขึ้นแค่ไหนกันนะ ไตรมาสที่ 2 มาฟังเสียงลูกน้อย นับว่าหนึ่งวันลูกดิ้นไหมนะ และลูกดิ้นวันละกี่ครั้ง ด้วยแอพพลิเคชั่น The Asianparent นี่เป็นแค่ตัวอย่างกิจกรรมบนแอพพลิเคชั่นในส่วนแรก เพราะคุณแม่จะได้รับการดูแล ทั้งอาหารการกิน โดยการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญว่า ควรทานอะไรบ้างในแต่ช่วงอายุครรภ์ ยาที่เป็นอันตรายชนิดไหนบ้าง ที่ไม่ควรทาน กิจกรรมใดบ้างที่ทำได้ หรือทำไม่ได้ เคล็ดลับการตั้งชื่อลูกอย่างไร ให้เป็นมงคลทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย รวมถึงเตรียมแผนการล่วงหน้าถึงอนาคต การเตรียมคลอด การดูแลตนเองหลังคลอด ที่ครอบคลุมทุกช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องการ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใน :
วิจัยเผย แม่ท้องสูบบุหรี่ มีผลเสีย ต่อลูกน้อยในครรภ์ ควันบุหรี่มีผล ต่อทารกในครรภ์
นอนไม่หลับ ทําไง ? วิธีแก้โรคนอนไม่หลับ อย่าใช้ห้องนอนทำอย่างอื่น
ทำไมคนท้อง นอนไม่หลับ ไขข้อสงสัย ท้องไตรมาสแรก ทำไมหลับยาก