ลูกท้องเสียจากน้ำนมแม่ ทารกถ่ายบ่อย จนก้นแดง ทั้งที่กินนมแม่อย่างเดียว

ผิดปกติหรือเปล่า กับอาการของลูกรัก กินนมแม่ทีปู๊ดป๊าด ท้องเสียตลอด ลูกถ่ายจนก้นแดงไปหมดแล้ว แม่นี้สงสาร แม่ต้องทำยังไง

ทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่

ทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่ ทารกถ่ายบ่อย เกิดจากอะไร ทำไมลูกถ่ายบ่อย ๆ นับสิบครั้ง ทั้งที่กินนมแม่อย่างเดียว ลูกแพ้อะไรหรือเปล่า ต้องหาหมอไหม แม่ต้องหยุดให้นมหรือไม่

 

ทารกถ่ายบ่อย

ทารกถ่ายบ่อยทุกครั้งหลังกินนมแม่ หรืออาการที่คล้ายกับท้องเสีย เป็นสิ่งที่แม่มือใหม่กังวลเป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้เลยว่าลูกเป็นอะไรหรือเปล่า นี่คืออาการปกติของทารกหรือไม่

ลูกถ่ายบ่อย หรือทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่? พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล อธิบายถึงอาการถ่ายบ่อย ๆ ของทารกที่กินนมแม่ว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวแล้วถ่ายบ่อย ๆ เป็นเรื่องปกติ นั่นก็เพราะนมแม่ย่อยง่าย โดยเฉพาะทารก 1 เดือนแรกนั้น กินนมแม่ไปถ่ายไปเลยทีเดียว แต่น้ำหนักทารกก็ยังขึ้นได้ดี สำหรับทารกที่ถ่ายจนก้นแดงมีสาเหตุมาจาก

  1. น้ำนมแม่มาก ทารกกินแล้วได้น้ำนมส่วนหน้าไปมากจนเต็มท้องก่อนจะถึงน้ำนมส่วนหลัง
  2. การที่ทารกกินนมแม่จากเต้าแรกไม่นาน แล้วเปลี่ยนไปกินอีกข้างหนึ่ง เปลียนไปมาบ่อย ๆ ในมื้อเดียวกัน

ทั้งสองการณีนี้ จะทำให้ทารกได้น้ำนมส่วนหน้าเข้าไปมาก น้ำนมส่วนนี้จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่าน้ำนมส่วนหลัง จึงทำให้ผ่านลงไปสู่ลำไส้เร็วกว่า และแลคโตสจำนวนมากที่ลงสู่ลำไส้ ลำไส้จะรับมือไม่ไหว ไม่สามารถดูดซึมได้หมด จึงเสมือนมีแลคโตสมาก และไปทำให้มีน้ำออกมาจากผนังลำไส้เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ถ่ายมีน้ำและลมปู๊ดป๊าดมาก ทั้งนี้ แลคโตสในนมแม่นั้นทารกย่อยได้อยู่แล้ว เพียงแต่ปริมาณที่ลงสู่ลำไส้จะมากกว่าที่ควร เพราะผ่านลงไปเร็ว ลำไส้ย่อยไม่ทัน

วิธีแก้ปัญหาทารกถ่ายบ่อยจนก้นแดง

  • หากแม่มีน้ำนมแม่มาก ให้แม่บีบน้ำนมส่วนหน้าที่มาก ๆ เอาแช่แข็งไว้ก่อนสักครึ่งเต้า แล้วค่อยเอาลูกมาดูด ทำอย่างนี้ทั้งสองข้างสักพักจนลูกถ่ายดีขึ้น
  • หากทารกกินนมแม่จากเต้าแรกไม่นาน แล้วเปลี่ยนไปกินอีกข้าง ให้แก้ปัญหาด้วยการให้ลูกดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้าเป็นข้าง ๆ ไป ให้ได้น้ำนมส่วนท้ายทีมีไขมันมาก นมจะได้อยู่ท้อง และไม่ลงไปทำให้มีน้ำมากในลำไส้

 

นมแม่ทำให้ถ่ายง่าย ทารกจึงถ่ายบ่อย

ในนมแม่ มีส่วนประกอบที่ทำให้ถ่ายง่ายอยู่หลายอย่าง เช่น มีเวย์โปรตีนที่ย่อยง่าย มีน้ำตาลแลคโตส (lactose) และโอลิโกแซคคาไรด์ (oligosaccharide) ซึ่งช่วยเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี เช่น เชื้อแลคโตบาซิลัส (lactobacillus) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวเร็ว เหล่านี้เป็นเหตุที่ช่วยให้ขับถ่ายง่ายและทำให้อุจจาระนิ่ม

 

รู้ได้อย่างไรว่า ทารกท้องเสียเพราะไม่สบาย

แม่ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบกับอาการท้องเสีย จะได้รู้ว่า ลูกกำลังไม่สบาย ต้องพาไปหาหมอทันที ซึ่งแม่ต้องดูอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังนี้

  • ลูกงอแงผิดปกติ
  • มีอาการซึม
  • เป็นไข้ หากมีไข้สูงให้ระวังอาการชัก
  • ลูกอาเจียนบ่อย ๆ
  • หายใจไม่สะดวก หายใจหอบ
  • เบื่ออาหาร ไม่อยากกินนม

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สีของอึทารก อึของเด็กที่กินนมแม่กับกินนมผงต่างกันหรือไม่ อึแบบไหนผิดปกติ

 

โรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

อันตรายเมื่อลูกมีอาการเหล่านี้ ท้องเสีย เป็นไข้ อาเจียน โดยมากมักเป็นช่วงปลายฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว ติดต่อง่ายจากการสัมผัสเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาจากน้ำ อาหาร สิ่งของ ของเล่น เมื่อเด็กนำมือเข้าปากก็สามารถติดเชื้อได้แล้ว การที่ทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่ในช่วงเดือนแรก ๆ ถือว่า ไม่ผิดปกติ แม่อย่าหยุดให้นมแม่ ต้องให้นมแม่อย่างต่อเนื่องนะคะ แต่แม่ก็ห้ามนิ่งนอนใจ สิ่งที่แม่ ๆ ต้องสังเกตให้ดีเป็นประจำ คือ สีอุจจาระทารก

 

อึทารกแรกเกิด อึทารกปกติ ต้องสีแบบไหน

สีอุจจาระทารกเป็นสิ่งสำคัญที่แม่ ๆ ต้องหัดสังเกตให้ดี โดยพญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล บอกเล่า ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ว่า ลักษณะของอุจจาระทารก และสีของอุจจาระของทารก จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุของทารกและอาหารที่แม่รับประทานเข้าไป

 

อึทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว

ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจะค่อนข้างเหลว บางครั้งทารกก็ถ่ายเป็นน้ำ ทำให้แม่คิดว่าทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่ แต่จริง ๆ แล้ว สีและลักษณะอุจจาระของทารก มีสิ่งที่สำคัญที่แม่ต้องหัดสังเกต ตั้งแต่วัยทารกแรกเกิดหรือเพิ่งคลอด โดยสีอุจจาระของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจออกมาเป็นน้ำสีเขียว ๆ ปนเม็ดมะเขือ เป็นน้ำสีเหลือง หรือน้ำสีเขียวจำนวนไม่มากติดออกมากับผ้าอ้อม บางคนมีมูกเขียว ๆ ปนออกมาด้วย กลิ่นของอุจจาระจะยังคงเป็นกลิ่นหอมอ่อน ๆ ต่างจากกลิ่นเหม็นเน่าหรือเหม็นเปรี้ยวของอุจจาระทารกที่ท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

 

การเปลี่ยนแปลงของอุจจาระทารกที่กินนมแม่

  • อึทารกแรกเกิด 1-2 วันแรก

ทารกจะถ่ายไม่บ่อย เพียงวันละ 1 – 2 ครั้ง ในช่วง 1-2 วันแรก ส่วนลักษณะของอุจจาระทารกแรกเกิด จะเหนียว สีของอุจจาระทารกแรกเกิดจะออกสีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิน เรียกกันว่า ขี้เทา

  • อึทารกแรกเกิด วันที่ 2

ในวันที่ 2 จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สีของอุจจาระทารกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวจาง ๆ ลักษณะของอุจจาระทารกเริ่มมีน้ำปนมากขึ้น อุจจาระของทารกบางคนอาจมีสีน้ำตาลปนเม็ด ๆ ในอุจจาระ อย่างไรก็ตาม ทารกที่ขับถ่ายขี้เทาได้ดีในวันแรก ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ทารกได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ ข้อดีอีกอย่างคือ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตัวเหลือง หลังคลอด

  • อึทารกแรกเกิด วันที่ 3-4

สีอุจจาระจะค่อย ๆ จางลงจากเขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง เพราะทารกได้ดูดนมแม่บ่อยขึ้น ลักษณะของอุจจาระทารกจะเหนียวน้อยลงและมีน้ำปนมากขึ้น และทารกจะเริ่มขับถ่ายบ่อยขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 4 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว

  • อึทารกแรกเกิด วันที่ 4 เป็นต้นไป

เมื่อถึงวันที่ 4 ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจถ่ายท้องคล้ายกับอาการท้องเสีย สีอุจจาระทารกออกเป็นสีเหลืองทอง คล้ายโจ๊กใส่ฟักทอง ลักษณะอุจจาระทารกจะนิ่ม ๆ จนถึงขั้นเหลว เพราะมีน้ำปนอยู่มาก หากสังเกตผ้าอ้อมจะเห็นว่า เนื้ออุจจาระอยู่ตรงกลาง มีน้ำ ๆ อยู่รอบ ๆ ย้ำอีกครั้งนะคะว่านี่ไม่ใช่อาการท้องเสียของทารกที่กินนมแม่!

  • อึทารกปกติ : ลูกอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์

ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ จะถ่ายโดยมีเนื้ออุจจาระมากขึ้น และถ่ายท้องได้ 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ทารกบางคนถ่ายน้อย ๆ แต่ถ่ายบ่อย ๆ หลังจากดูดนมแม่ทุกครั้ง เป็นสัญญาณที่ดีว่าทารกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอ ลักษณะอุจจาระคล้ายเม็ดมะเขือปนอยู่ มีสีเหลืองทอง

  • อึทารกปกติ : ลูกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงของอุจจาระทารกในช่วงนี้จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น ลักษณะอุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้น จากที่เคยเละเป็นโจ๊ก จะคล้ายกับยาสีฟันเหนียว ๆ สีอุจจาระมีตั้งแต่สีเหลืองทองจนถึงสีออกเขียวปนเหลือง สีของอุจจาระทารกในช่วงนี้จะเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทาน ส่วนจำนวนครั้งก็จะลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง

นอกจากนี้ อาการทารกท้องผูก ก็ยังเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย เช่น กรณีทารกอายุ 1 เดือน ไม่ถ่ายอุจจาระมา 7 วัน ตรวจร่างกายทารกปกติดีไม่มีท้องอืด เมื่อกระตุ้นโดยการใช้นิ้วก้อยสอดเข้าในทวารหนัก ทารกถ่ายอุจจาระสีเหลืองทองจำนวนมากไม่พบลักษณะก้อนแข็ง เช่นนี้คืออุจจาระปกติของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงเดือนที่สองเป็นต้นไป

 

แม่กินอะไร สีอุจจาระของลูกก็เปลี่ยนไปได้อย่างนั้น

อาหาร ผักบางชนิด น้ำผลไม้ หรือ วิตามินที่แม่รับประทานอาจจะทำให้สีอุจจาระของลูกเปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น จากปกติที่สีอุจจาระทารกเป็นสีเหลืองทอง แต่แม่ทานผักบุ้งจำนวนมาก ก็ทำให้สีอุจจาระลูกออกมาเป็นสีเขียวได้

 

สิ่งที่แม่ต้องสังเกตเมื่อลูกอึ

อุจจาระทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวไม่ควรพบเลือดสีแดง ๆ ปน ถ้าพบว่ามีเส้นสีแดง ๆ อยู่ในอุจจาระอาจเกิดจาก

  • ทารกเพศหญิงในวันแรก ๆ หลังคลอดอาจมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดจากอิทธิพลของฮอร์โมนของแม่ เป็นภาวะปกติที่จะค่อย ๆ หายไป
  • ปฏิกิริยาต่อนมวัว หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่แม่รับประทาน และมีโปรตีนนมวัวเล็ดลอดออกมากับนมแม่
  • รอยแผลที่บริเวณทวารหนัก หรือในลำไส้

 

ที่มา : https://www.thaibreastfeeding.org , ยายบอกว่าลูกถ่ายเหลวเพราะกำลังยืดตัว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทารกตัวเหลือง มีอุจจาระสีซีด ผิดปกตินะแม่! ต้องรีบพาลูกไปพบหมอแล้วล่ะ

โรคแพ้ถั่วปากอ้า โรคพร่องเอนไซม์ G6PD คืออะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน

ทารกจามบ่อย ผิดปกติไหม เพิ่งคลอดไม่นาน ทำไมจามบ่อยแบบนี้

ถุงเท้าทารก รองเท้าเด็กอ่อน ยังเดินไม่ได้ จะให้ใส่ทำไม?

 

บทความโดย

Tulya