กังวลจังเมื่อ ฟันลูกเก ตั้งแต่เด็ก พอฟันแท้ขึ้นจะเกอีกไหม ปัญหาสุขภาพช่องปากของลูก เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กับปัญหาอื่น ๆ ของลูกน้อยเลย บทความนี้จึงขอพาคุณพ่อคุณแม่มาเตรียมรับมือกับปัญหาของฟันไม่เป็นระเบียบของลูกน้อยกันค่ะ
ฟันเก คืออะไร
ฟันเกเป็นลักษณะของฟันที่เรียงกันผิดปกติจากเดิม ส่วนมากจะพบว่าเกิดกับฟันหน้าได้มากกว่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากโดยรวมได้ ฟันเกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และเป็นจุดตั้งต้นของปัญหาสุขภาพเหงือก และฟันของเด็กหลายคน เนื่องจากผู้ปกครองบางท่านอาจคิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก จึงอาจทำให้ละเลยการรักษาไป ผลกระทบที่พบได้บ่อยหากไม่รักษา เช่น โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ และฟันโยก บางรายอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทั่วไปอื่น ๆ เช่น การเคี้ยวอาหาร หรือการออกเสียงพูดคุยที่ไม่ชัด เป็นต้น
เด็กอายุเท่าไร มีความเสี่ยงฟันเกมากที่สุด
สำหรับเด็กเล็กจะพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 6 – 7 ปี เนื่องจากในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่มีชุดฟันแท้เริ่มขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนมบ้างแล้ว จึงทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นได้ เพราะเมื่อฟันแท้จะงอก แต่ฟันน้ำนมบางส่วน ยังคงไม่หลุดออกไป ทำให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอ สำหรับฟันที่งอกขึ้นมาใหม่ จนอาจเกิดการเบียด จนทำให้ฟันมีลักษณะเก หรือซ้อนกันไปมา เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ : พัฒนาการเด็ก 7 ขวบ เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ จะได้รับมือทัน!!
ฟันลูกเก เกิดจากอะไร แบบไหนที่เด็กอาจเสี่ยง
สาเหตุที่ทำให้ฟันของลูกน้อยเก เกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายในช่องปากบางโรคได้ ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นปัจจัยเดียวกันกับผู้ใหญ่ด้วย ได้แก่
- มีประวัติเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณขากรรไกรมาก่อน หรือเกิดอุบัติเหตุการกระแทกบริเวณช่องปาก เป็นต้น
- มีขนาดของช่องปากที่เล็กกว่าปกติ ทำให้ฟันที่ขึ้นมาเกิดการเบียดกัน
- ขากรรไกรข้างบน และข้างล่างไม่เท่ากัน
- เด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด ทำให้ฟันแท้ขึ้นมาอย่างไร้แนวทาง
- เด็กมีพฤติกรรมติดการดูดนิ้ว หรือติดจุกมากจนเกินไป
- เป็นผลกระทบจากโรคเหงือกอักเสบ
- อาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกบริเวณปาก หรือขากรรไกร
นอกจากนี้ฟันเกในเด็ก ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดพันธุกรรม และมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาให้เร็วที่สุด เพราะส่งผลให้ทำความสะอาดฟันได้ยาก อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ค่ะ
ฟันน้ำนมเก อาจไม่ได้หมายถึงฟันแท้เก
เด็กเล็กหลายคนในช่วงที่มีฟันน้ำนมขึ้นนั้น ผู้ปกครองอาจพบว่าฟันของลูกมีลักษณะเก เบียดเสียดกัน จนเกิดความกังวลว่าจะส่งผลต่อฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นตามมาในอนาคตได้ หากปัญหาฟันน้ำนมเกเกิดจากพฤติกรรมของลูกเอง เช่น ลูกติดจุกนม ติดดูดนิ้ว แต่หากเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ได้ก่อนที่ฟันแท้จะขึ้น ก็มีโอกาสที่ฟันแท้จะขึ้นมาอย่างปกติเช่นกัน แต่ถ้าหากเกิดจากปัจจัยอื่น อาจส่งผลให้ฟันแท้เกตามไปด้วยได้เช่นกัน เช่น ปัญหาฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลา ส่งผลให้ฟันแท้ที่ขึ้นตามมาไม่มีทิศทางที่ถูกต้อง หรือฟันแท้ที่ขึ้นมีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้พื้นที่ในการขึ้นไม่เพียงพอจนเกิดการเบียด ไปจนถึงปัญหาฟันเกจากพันธุกรรม เป็นต้น
ลูกชอบดูดขวดนมทำอย่างไรไม่ให้ฟันเก
การดูดขวดนมเองก็ส่งผลต่อลักษณะของฟันได้เช่นกัน เพราะเด็กที่ดูดขวดนม ปกติแล้วจะใช้ลิ้นดุนฟันด้านหน้าอยู่ตลอด ยิ่งนานวันจะยิ่งทำให้ฟันเกเสียรูปทรงได้ ดังนั้นจึงควรหันมาให้ลูกกินนมผ่านทางอื่นบ้าง เช่น หลังจากเด็กดื่มนมแม่ 6 เดือนไปแล้ว อาจฝึกให้ลูกทานนมจากแก้วบ้าง แทนการใช้ขวดนมตลอด หรือป้องกันการดูดขวดนมนานเกินไป ด้วยการพยายามให้ลูกเลิกขวดนม ตามช่วงอายุที่ 1 ปี หรือไม่เกิน 1 ปีครึ่ง
ถ้าฟันลูกเกจะทำอย่างไรดี
ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตในช่วงฟันแท้ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในช่วงที่เด็กมีอายุ 6 – 7 ปี อาจช้า หรือเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสุขภาพ และพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กแต่ละคน หากพบว่าแม้จะเป็นฟันแท้ ก็ยังเกเหมือนเดิม ผู้ปกครองควรพาลูกเข้าพบทันตแพทย์เฉพาะเกี่ยวกับการรักษาฟันเก จะเหมาะกว่าการพบทันตแพทย์ทั่วไป หากเด็กมีฟันเกมากแพทย์จะวางแผนในการรักษาให้ตามความเหมาะสม แต่หากไม่หนักแพทย์จะแนะนำให้รอถึงช่วงอายุ 12 ปี (หรือช่วงอายุที่ฟันแท้ขึ้นจนครบแล้ว) จะทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม
ฟันเกรักษาอย่างไร
การรักษาฟันเกนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง หากไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ เนื่องจากขากรรไกรของเด็กจะมีการเจริญเติบโตทำให้เพิ่มพื้นที่สำหรับการเรียงตัวของฟัน หรือใช้เพียงรีเทนเนอร์ที่สามารถถอดได้เพื่อช่วยในการขยายขากรรไกร หากมีปัญหาเกี่ยวกับฟันที่เบียดกันมาก อาจมีความจำเป็นที่จะต้องถอนออก เพื่อให้มีพื้นที่ในช่องปากมากขึ้น หรือถ้าหากมีอาการที่รุนแรงมากที่สุด จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีการรักษาที่นิยมกันมากคือ “การจัดฟัน” ซึ่งมีการจัดอยู่หลายแบบ ตามจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น การจัดฟันแบบติดแน่น (Fixed Braces) การจัดฟันด้านใน (Lingual Braces) หรือ การจัดฟันแบบใสถอดได้ (Invisible Aligners) เป็นต้น
ระยะเวลาในการรักษานานหรือไม่นานขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากของลูกน้อยในเวลานั้น ดังนั้นหากไม่รีบรักษาตั้งแต่ยังเล็ก อาจจะต้องเสียเวลารักษาในอนาคตอยู่ดี และอาจทำให้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องทำฟันได้หรือไม่ คนท้องจัดฟันได้ไหม ลูกในท้องจะเป็นอันตรายหรือเปล่า
ทารกฟันบิ่น ฟันแตก เป็นฟันน้ำนมก็ติดเชื้อได้ ป้องกันอย่างไรดี ?
วิธีดูแลรักษาฟันซี่แรก และเคล็ดลับทำความสะอาดปากและฟันของลูกน้อย