โรคหลอดเลือดหัวใจ มีวิธีรักษาได้หลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือ การผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือ ที่เรียกง่าย ๆ ว่า การทำบายพาสหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่ง ที่ต้องใช้การผ่าตัดเข้ามาช่วย บทความนี้จะพาไปดูวิธี การทำบายพาสหัวใจ ทำได้อย่างไร และมีข้อควรรู้อะไรเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีนี้บ้าง
การทำบายพาสหัวใจ คืออะไร?
การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือ การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting : CABG) คือ วิธีหนึ่งที่เป็นทางเลือกในการใช้รักษา โรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการผ่าตัด ซึ่งมักใช้ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจ ถูกขัดขวาง หรือ เกิดการอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปที่หัวใจอย่างเต็มที่ จึงต้องการการผ่าตัด เพื่อเปิดช่องทางให้เลือดสามารถไหลเวียน เข้าไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ และเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจวาย
เส้นเลือดที่นำมาใช้ในการผ่าตัด เพื่อทำบายพาสหัวใจ ได้แก่ เส้นเลือดแดง บริเวณใต้กระดูกหน้าอกข้างซ้าย เส้นเลือดแดงที่ปลายแขน และ เส้นเลือดดำจากขา โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกเส้นเลือดที่ใช้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
การทำบายพาสหัวใจ มีกี่รูปแบบ?
- การทำบายพาสหัวใจแบบดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้องใช้การเปิดช่องอกออก และต้องใช้ยาเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ และใช้อุปกรณ์ช่วย เพื่อให้หลอดเลือดยังสามารถทำงานได้ และเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยไม่ผ่านหัวใจ จนกว่าจะทำการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม เป็นวิธีการผ่าตัดทำบายพาส โดยจะเป็นการเปิดช่องอกออก แต่แพทย์จะไม่ใช้ยาหยุดการเต้นของหัวใจ และไม่ใช้อุปกรณ์พิเศษ ในการใช้สูบฉีดเลือด
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบแผลเล็ก เป็นการผ่าตัดหัวใจด้วยอุปกณ์พิเศษ ซึ่งไม่ต้องอาศัยการเปิดช่องอกออก วิธีนี้มักนิยมใช้ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจ อยู่บริเวณด้านหน้า และวิธีนี้ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการอุดตันเกิดขึ้นมากกว่า 1 เส้น
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ
การผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ เป็นวิธีการผ่าตัดใหญ่ โดยผู้ป่วยจะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
- รับประทานอาหาร และยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- งดการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล
- ประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์หัวใจ
- ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำการเอกซเรย์ปอด และเจาะเลือด
- เข้าพักที่โรงพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมร่างกาย
ขั้นตอนการทำบายพาสหัวใจ
- แพทย์จะนำเอาหลอดเลือดที่มีคุณภาพ จากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย มาทำทางเบี่ยงข้ามหลอดเลือดแดง ในบริเวณที่ตีบ หรือ อุดตัน โดยเส้นเลือดที่นำมาใช้อาจเป็นหลอดเลือดดำจากขา หรือ หลอดเลือดแดงจากปลายแขน
- แพทย์จะทำการต่อปลายหลอดเลือดข้างหนึ่ง ไปเชื่อมกับหลอดเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงที่หัวใจ ส่วนปลายหลอดอีกด้านหนึ่งจะนำมาต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงในบริเวณที่ตีบ หรือ เกิดการอุดตัน
- การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ จะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาอาการหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น
การดูแลตนเองหลังจากทำบายพาสหัวใจ
เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู อย่างน้อย 1-2 วัน และจะถูกย้ายตัว ไปพักฟื้นในห้องผู้ป่วยอีกอย่างน้อย 7 วัน เพื่อติดตามการรักษา โดยผู้ป่วยจะต้องต่อท่อ หรือ สายต่าง ๆ ตามร่างกายอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งระหว่างพักฟื้นแล้วอาจมีอาการต่าง ๆ เป็นผลข้างเคียงได้ เช่น อาการมึน งง เป็นต้น
เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านแล้ว ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังในการดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งบาดแผล สุขภาพต่าง ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ เพราะอาจทำให้แผลหายช้าได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยหากเกิดอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ ควรพบแพทย์ทันที
อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการบวม แดง หรือ เลือดออกมากบริเวณผ่าตัด
- เจ็บที่แผลผ่าตัดมากขึ้น
- หายใจลำบาก
- ชีพจรเต้นเร็ว หรือ ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ขาบวม หรือ มีอาการชา ตามแขน และขา
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อย่างต่อเนื่อง
อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้
- หัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายที่เข้ารับการผ่าตัด จะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา
- การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หากไม่รักษาความสะอาดให้ดีพอ
- การทำงานของไตลดลง หลักจากการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีภาวะการทำงานของไตที่ลดลง จนอาจทำให้ต้องฟอกไต แต่อาการแทรกซ้อนนี้พบได้น้อย
- ปัญหาที่เกี่ยวกับสมอง ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด อาจพบปัญหาในการเรียนรู้ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ใน 6-12 เดือน โดยผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
- หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ในช่วงระหว่างการผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การทำบายพาสหัวใจ เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการรักษา ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องใช้เวลาพักฟื้นพอสมควร และที่สำคัญ ผู้ป่วยจะต้องรักษาตัวเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาการรักษา และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
บทความที่น่าสนใจ
การทำบอลลูนหัวใจ ทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคหัวใจ ทำอย่างไร?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบใกล้ตัว สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน
โรคหัวใจ เกิดจากสาเหตุอะไร โรคหัวใจมีอาการอะไรบ้าง โรคหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง