การดูแลสุขภาพในช่วงตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะหากแม่ป่วยไป ลูกในท้องก็อาจพลอยป่วยไปด้วย หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับแม่ที่ตั้งครรภ์คือปัญหาความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ หากคุณแม่เป็นโรค ไทรอยด์ตอนท้อง ลูกที่เกิดมาอาจเป็นโรคเอ๋อได้ เราจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง ติดตามได้จากบทความนี้
โรคเอ๋อคืออะไร เกิดจากอะไร
โรคเอ๋อ คือ ภาวะที่ร่างกายทารกนั้น ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ไทรอยด์ออกมาได้เพียงพอ ทำให้มีสติปัญญาและการเรียนรู้ต่ำเมื่อเทียบกับเด็กทั่วไป เพราะฮอร์โมนไทรอยด์ ถือเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการเรียนรู้ ซึ่งโรคเอ๋อ อาจจะเกิดจากการที่ตัวเด็กเองไม่มีต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่กำเนิด หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจนไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเองได้ หรืออาจเกิดการขาดสารไอโอดีนในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ หรือแม่เป็นโรคที่ขาดสารไทรอยด์ฮอร์โมนก็ได้
วิธีสังเกตอาการของโรคเอ๋อในเด็กทารก
นพ.ประพุทธ ศิริปุณย์ กล่าวถึงอาการของโรคเอ๋อที่พบในเด็กทารก สามารถสรุปได้ดังนี้
- สำหรับทารกแรกเกิด มักมีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม เสียงแหบ ท้องผูกบ่อย
- มีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ
- เด็กจะมีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว กินไม่เก่ง เฉื่อยชา
- อาจตรวจพบอาการตัวอ่อนปวกเปียก ลิ้นโตคับปาก ท้องป่อง สะดือจุ่น ซีด ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิด เมื่อเด็กทารกเป็นโรคเอ๋อ
หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง เด็กมักจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เรียกว่า สภาพแคระโง่ (cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin) ดังนั้น ควรรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด ไม่ควรทิ้งระยะเวลานานเกินไป เพราะจะมีผลต่อร่างกายและพัฒนาการได้ ดังนั้น เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว หากคุณแม่สังเกตเห็นอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นก็ตาม คุณแม่ควรรีบปรึกษาคุณหมอโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยของทารกน้อยและความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ
วิธีป้องกันโรคเอ๋อ
คุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเป็นโรคเอ๋อ ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารที่มีไอโอดีนให้เพียงพออย่างอาหารทะเล หรือจะรับประทานเกลือไอโอดีนแทนก็ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคเอ๋อในเด็กเล็ก ภาวะเงียบที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม
แม่เป็นไทรอยด์ตอนท้อง ทำให้ลูกเป็นเอ๋อได้
แม่ท้องเป็นไทรอยด์ ในระหว่างตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าต่อจากหลอดลม บริเวณคอด้านล่างจะผลิต ฮอร์โมนไทรอยด์ มากขึ้นจากหลายกลไก ฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่หลายอย่าง ที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของ ร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ การเผาผลาญอาหาร และ ไขมัน กระตุ้นการทำงานของระบบหลอดเลือด และ หัวใจ มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และสมอง เป็นต้น
ดังนั้นหากในภาวะตั้งครรภ์ มีการขาดฮอร์โมนตัวนี้ไป อาจทำให้ทารกในครรภ์ มีการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เป็นโรคเอ๋อ เนื่องจากมีความผิดปกติทาง ระบบประสาท และ กล้ามเนื้อ มีพัฒนาการทางสมอง สติปัญญา และ ร่างกายช้ากว่าปกติ มีโอกาสเตี้ยแคระแกร็น และทำให้ต่อมไทรอยด์ของทารกต้องทำงานหนัก เพื่อผลิตฮอร์โมนจนเกิดภาวะคอพอกได้ ซึ่งถ้าหากรุนแรง คอพอกอาจมีขนาดใหญ่ จนกดการหายใจของทารกช่วงที่คลอดได้
ประเภทความผิดปกติของไทรอยด์ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์
-
ไทรอยด์บกพร่อง
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง หรือ โรคภูมิต้านทานผิดปกติ ต่อตนเองของไทรอยด์ เป็นต้น หากมีอาการไทรอยด์บกพร่อง ขณะตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อ คุณแม่ และ ลูกน้อย เป็นสาเหตุให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ รกลอกก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย การตายคลอด รวมทั้งภาวะผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกาย และ สมองของทารก
-
ไทรอยด์เป็นพิษ
หากสังเกตว่าระหว่างตั้งครรภ์ มีเหงื่อออกมา ขี้ร้อนผิดปกติ รู้สึกอ่อนเพลียมาก หัวใจเต้นเร็ว หรือ มีอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก มีภาวะแพ้ท้องรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของอาการไทรอยด์เป็นพิษ มีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อแม่ และ ลูกน้อยในครรภ์ ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะตายคลอด หรือทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่ากำหนดและพิการ
-
ต่อมไทรอยด์โตแต่ยังทำหน้าที่ปกติ
เกิดจากมีภาวะภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ ทำให้มีไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง เสี่ยงต่อต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ดังนั้นแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อเฝ้าระวังไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ
-
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์
โอกาสที่แม่ตั้งครรภ์จะเกิดก้อน ที่ต่อมไทรอยด์นั้นมีมากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไทรอยด์กับการตั้งครรภ์ เรื่องที่แม่ท้องควรรู้ เป็นไทรอยด์มีลูกได้ไหม
ป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็นไทรอยด์ตอนท้อง
ก่อนที่คุณแม่จะตั้งครรภ์หรือวางแผนที่บุตร ควรได้รับการตรวจร่างกาย และ ได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์จากแพทย์ โดยเฉพาะแม่ที่รู้ตัวว่ามีภาวะภูมิแพ้ ภูมิต้านทานผิดปกติ องค์การอนามัยโลก แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารไอโอดีนในอาหารปริมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน และ ควรรับประทานอาหาร 5 หมู่ที่ประกอบด้วย ธาตุเหล็ก แคลเซียม ในมื้ออาหารเพื่อได้การบำรุงครรภ์ให้แม่และลูกในท้อง มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัยในช่วงท้องกันนะคะ
หากคุณแม่กำลังสงสัยว่าเป็น ไทรอยด์ตอนท้อง หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจรักษา นอกจากนี้ คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะธาตุเหล็กและแคลเซียม เพื่อป้องกันไทรอยด์ และช่วยบำรุงครรภ์ของแม่และลูกในท้องค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคไทรอยด์ ใครว่าไทรอยด์ไม่น่ากลัว อันตรายกว่าที่คิด รู้ไว้ปลอดภัยกว่า
คัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด สิ่งที่หมอทำกับเด็กแรกเกิด
อาหารสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ ควรรับประทาน และควรเลี่ยงสารอาหารอะไรบ้าง?
ที่มา : 2.manager, Amarinbabyandkids, Thairath, Haamor, mamaexpert, วารสารวิชัยยุทธ ปีที่ 10 ฉบับที่ 43