เมื่อลูกน้อยเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ว่า ลูกเล่นน้ำลาย และพยายามส่งเสียงออกมา จนทำให้เกิดความสงสัยว่าการที่ลูกเล่นน้ำลายนั้น สื่อถึงอะไรบ้าง ไม่ต้องกังวลไปใจไปนะคะ วันนี้ theAsianparent Thailand จะพาคุณพ่อคุณแม่มาไขข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กถึงชอบเล่นน้ำลาย และการเล่นน้ำลายของลูกนั้นส่งผลดีหรือไม่ พร้อมแล้ว ไปดูกันได้เลยค่ะ
ลูกเล่นน้ำลาย ควรห้ามหรือไม่ ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกอย่างไร
เมื่อลูกเล่นน้ำลาย หรือเล่นเสียง คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดความกังวลใจได้ อย่างไรก็ตาม การที่ลูกเล่นน้ำลายนั้น ไม่ผิดปกติแต่อย่างไรนะคะ เพราะเป็นการที่ลูกกำลังหัดพูด และหัดสื่อสารนั่นเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มเล่นน้ำลายตั้งแต่ 1-4 เดือน โดยจะเริ่มทำเสียงในคอ พอ 5 เดือน จะพยายามเล่นน้ำลาย ส่งเสียงหลายโทนเสียง ยิ่งคุณพ่อคุณแม่เล่นน้ำลายกับลูก ทำเสียงต่าง ๆ ลูกก็จะเลียนแบบและเรียนรู้ได้ไว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพัฒนาการภาษา และการพูดของลูก เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกเล่นน้ำลาย พยายามคุณโต้ตอบกับลูก เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้เลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบเล่นน้ำลาย ลูกน้ำลายไหล พ่นน้ำลายบ่อย ปกติไหม ?
ข้อดีของการที่ ลูกเล่นน้ำลาย
ลูกเล่นน้ำลายเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางภาษา ทักษะสังคม และกล้ามเนื้อมัดเล็กของทารก เช่น การกินและการดื่มจากถ้วย
- การเป่าปาก เล่นน้ำลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในพัฒนาการด้านการพูดของลูก น้ำลายเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของปากที่เกิดเมื่อเจ้าตัวน้อยเรียนรู้ที่จะควบคุมเสียงได้ และเมื่อเรียนรู้ที่จะทำเสียงที่แตกต่างกันได้ อีกไม่นานลูกก็จะเริ่มพูดได้แล้ว
- น้ำลายที่เกิดจากการเป่าปากปู้ด ๆ ของเจ้าตัวน้อย คือการที่ลูกพยายามควบคุมระดับเสียงด้วยปาก และการเลียนแบบเสียงพูดจากคนอื่น ๆ รอบตัว ซึ่งการพยายามเลียนแบบเสียงเป็นพัฒนาการการสื่อสารอย่างหนึ่งของทารก
- การสอนให้ลูกเลียนเสียงจากการเป่าปากเล่นน้ำลาย ยังช่วยให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้กระบวนการสื่อสาร เพื่อสามารถตอบสนองต่อเสียงของผู้คนรอบข้างได้
- นอกจากพัฒนาการด้านการพูดแล้ว การเล่นน้ำลายยังช่วยเสริมสร้างขากรรไกรและริมฝีปากที่แข็งแรง ช่วยในการรับประทานอาหารและสามารถปิดปากเพื่อป้องกันอาหารและน้ำหกออกจากปาก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การเล่นน้ำลาย ทำเสียงโต้ตอบกัน ระหว่างเจ้าตัวน้อยกับพ่อแม่ หรือพี่น้อง ยังเป็นการเสริมสร้างความผูกพันภายในครอบครัวอีกด้วย
เทคนิคชวนลูกเล่นน้ำลายกระตุ้นพัฒนาการ
- ชวนลูกเล่นน้ำลาย เป่าปากเป็นเสียงต่าง ๆ โดยทำตัวอย่างให้ลูกดู ในตอนแรกเจ้าตัวน้อยอาจแค่หัวเราะคิกคักตอบกลับมา แต่หลังจากนั้น เจ้าตัวน้อยก็จะเริ่มเป่าปากตอบคุณ ซึ่งการเป่าปากโต้ตอบกันนี้เป็นพื้นฐานในช่วงต้นของการสื่อสารของเจ้าตัวน้อยค่ะ
- พยายามทำเลียนเสียงเจ้าตัวน้อย จากนั้นรอดูการตอบสนองของเขา และทำโต้ตอบสลับกันไปมา เป็นการสอนให้เจ้าตัวน้อยรู้จักที่จะสื่อสารระหว่างกัน
- ที่สำคัญควรใช้การสื่อสารด้วยแววตาและอารมณ์ให้มาก ทำให้ลูกเห็นว่าการเป่าปาก เล่นน้ำลายนี่สนุกมากเลยนะ
- นอกจากนี้คุณอาจชักชวนให้พี่เล่นเป่าปากปู้ด ๆ กับน้องด้วย รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะจากกิจกรรมนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ของพี่น้องได้เป็นอย่างดีเชียวล่ะค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพ้น้ำลาย ผื่นรอบปากทารกวัยเล่นน้ำลาย เป็นผื่นที่ปาก จากการระคายเคือง
เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล
หากลูกอายุ 8 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถทำเสียงใด ๆ ได้ คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ แม้ว่าเด็กบางคนอาจข้ามพัฒนาการขั้นนี้ไป แต่เด็กก็ควรมีการทำเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งโดยการเล่นกับปากและริมฝีปากตัวเอง ถ้าลูกไม่ทำอะไรแบบนี้เลย อาจเป็นไปได้ว่าลูกมีพัฒนาการด้านการพูดที่ล่าช้า หรือมีปัญหาทางการได้ยินค่ะ
ได้ทราบแล้วนะคะว่าการเล่นน้ำลายเป็นพัฒนาการขั้นสำคัญในการเริ่มต้นการพูดของลูก แทนที่จะห้าม หรือกังวลว่าน้ำลายจะเลอะเทอะ คุณแม่หันมาชวนลูกเป่าปาก เล่นน้ำลาย ทำเสียงต่าง ๆ กันดีกว่า
ลูกเล่นน้ำลายอาจมีโรคซ่อนอยู่ได้
แม้ว่าการเล่นน้ำลายของลูกน้อย จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการสื่อสารของลูกน้อยได้ แต่หากลูกเล่นน้ำลายผิดปกติ ก็อาจแสดงว่าลูกกำลังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ อยู่ก็ได้ เรามาดูกันว่าเด็กน้ำลายแบบไหน แสดงว่ามีโรค
- มีน้ำลายไหลจากความผิดปกติทางช่องปาก : บางครั้งการที่ลูกเล่นน้ำลาย อาจแสดงว่าลูกมีปัญหาทางช่องปากก็ได้ เช่น ลิ้นมีแผล ลิ้นเป็นฝ้า หรือการติดเชื้อจากไวรัสต่าง ๆ เช่น โรคมือเท้าปาก หรือแผลในปาก เป็นต้น
- มีน้ำลายไหลมาจากการติดจุกหลอก : การที่ลูกติดจุกหลอก หรือใช้จุกหลอกเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ลูกหุบปากไม่สนิท จนน้ำลายไหลออกมาก็ได้
- มีน้ำลายไหลจากการสบฟันผิดปกติ : เด็กบางคนอาจมีปัญหาการสบฟันผิดปกติ ส่งผลให้ไม่สามารถปิดปากให้สนิทจนน้ำลายไหลได้ หากลูกมีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรพาเขาไปปรึกษาทันตแพทย์ทันที
- มีน้ำลายไหลจากภูมิแพ้ : เด็กที่เป็นภูมิแพ้ จะมีโพรงจมูกตีบที่แคบ ส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก ทำให้เด็กอ้าปากเพื่อหายใจทางปากนั่นเอง อาการดังกล่าวนี้ส่งผลให้เด็กมีน้ำลายไหล คุณพ่อคุณแม่จึงควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้โดยเฉพาะ
- มีน้ำลายไหลจากการเส้นประสาท : เด็กที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทควบคุมการเคี้ยวกลืน ไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ปกติ ส่งผลให้มีน้ำลายไหลออกมา โดยอาการดังกล่าวนี้ ถือเป็นความผิดปกติที่ค่อนข้างรุนแรง และมักมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมองอักเสบ โรคสมองพิการ หรือโรคพิษสุนัขบ้าเป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจมากเกินไปนะคะ เพราะลักษณะน้ำลายไหลเช่นนี้ ถือเป็นอาการที่พบได้น้อยมาก
สิ่งที่ต้องสังเกตเมื่อลูกเล่นน้ำลาย
เมื่อลูกเล่นน้ำลาย พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดีด้วยว่าลูก มีผื่นแดงรอบ ๆ บริเวณปากหรือไม่ เพราะผื่นรอบปากนี้ อาจมีสาเหตุจาก “การระคายเคือง” เช่น หลังจากที่ลูกทานผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี ที่มีฤทธิ์เป็นกรด หรืออาจแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่อาบน้ำ (ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมสังเคราะห์) หรือ น้ำยาซักผ้า เลยทำให้เกิดผื่นแพ้ขึ้นมาได้ค่ะ
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกเล่นน้ำลาย ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปนะคะ เพราะการที่ลูกเล่นน้ำลายนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพค่ะ คุณแม่สามารถชวนลูกเล่นน้ำลายจากการเป่าปาก หรือเป่าหนังยาง ก็จะช่วยให้ลูกน้ำลายไหลน้อยลง และรู้จักการเลียนเสียงได้มากขึ้นค่ะ แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้ำลายไหลมากเกินไป หรือไม่เล่นน้ำลายเลย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 ปัจจัยที่สำคัญต่อพัฒนาการด้านภาษาของทารก
เช็คพัฒนาการลูกน้อยขวบปีแรก สิ่งที่ลูกควรทำได้ในแต่ละช่วง
เช็คพัฒนาการลูกยังไง? ติดตามพัฒนาการลูก ง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง!
ที่มา : chicagoparent , reference , konthong , mamaexpert