เจ้าหนูจำไม ถามเก่ง ถามไม่หยุด พ่อแม่ควรรับมือยังไงดี

เจ้าหนูจำไม ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่เป็นเรื่องน่าชื่นใจที่ลูกมีคำถามมากมายกับพ่อแม่ มาดูกันค่ะว่าการที่ลูกถามเก่ง ถามไม่หยุด นั้นดียังไง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลูกน้อยที่อยู่ในช่วงก่อนวัยเรียนมักมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นปกติตามธรรมชาติค่ะ เพราะลูกต้องการเรียนรู้และสำรวจโลกใบนี้มากขึ้น การตั้งคำถามมากมายจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะบอกว่าไม่ต้องกังวลและอย่ารำคาญนะคะ เพราะการตั้งคำถามของลูกเป็นสัญญาณอันดีที่บ่งบอกว่าความคิดและจินตนาการกำลังมีการพัฒนา แต่ก็อาจมีบ่อยครั้งที่ เจ้าหนูจำไม ถามเก่ง ถามไม่หยุด ถามบ่อยๆ จนคุณพ่อคุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าได้ บทความนี้จะมาช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจพฤติกรรมของลูกน้อย และมีวิธีรับมือกับคำถามของลูกได้อย่างเหมาะสม ตอบคำถามของลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันค่ะ

ธรรมชาติของ เจ้าหนูจำไม ช่วงวัยไหนช่างซักช่างถาม

ช่วงวัยที่ช่างซักช่างถามเป็นเจ้าหนูจำไมนั้นมักเกิดในช่วงวัย 3 ขวบค่ะ เนื่องจากโดยพัฒนาการแล้วลูกวัยยนี้จะมีความเป็นตัวของตัวเองมาก อยากรู้อยากเห็น สามารถจดจำคำศัพท์และพูดได้มากขึ้นเรื่อยๆ มีจินตนาการในการเล่น เรียนรู้ และจดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งความสนใจโลกกว้างรอบตัวนี้เองที่ทำให้เห็นอะไรก็สงสัยไปหมด เจ้าหนูจำไม ช่างซักช่างถาม ลูกจะคอยตั้งคำถามต่างๆ กับคุณพ่อคุณแม่เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะถามเกี่ยวกับเรื่องรอบตัว เช่น ทำไมนกบินได้ ทำไมฝนตก ทำไมปลาต้องอยู่ในน้ำ

ทั้งนี้ การตั้งคำถาม เป็นหนึ่งในความสามารถทางภาษาของเด็กๆ นะคะ เด็กที่มีพัฒนาการของภาษาอย่างต่อเนื่องเมื่อมีคำศัพท์หลายพันคำในสมอง ก็จะสามารถพูดสื่อสาร เล่าเรื่องเป็นประโยคได้ และสามารถเข้าใจภาษาที่คุณพ่อคุณแม่สื่อสารได้ โดยจะเริ่มนำคำศัพท์เหล่านั้นมาเชื่อมโยงและพัฒนาความซับซ้อนกลายเป็นประโยค ตามมาด้วยการเริ่มพูดเป็นประโยค 3-5 คำได้ และตั้งคำถาม อะไร ทำไม จนเมื่อโตขึ้น สามารถเข้าใจภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้น บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ก็จะเป็นผู้ตอบคำถามได้เองค่ะ

คำถามตามช่วงวัยของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีคำตอบ

อายุ 21-24 เดือน สามารถถามคำว่า “นั่นอะไร”
อายุ 25-28 เดือน มีการตั้งคำถามร่วมกับใช้น้ำเสียงสูงต่ำ และมีอารมณ์ร่วมด้วย
อายุ 26-32 เดือน จะถามประโยคคำถามเกี่ยวกับ “ที่ไหน” เช่น ลูกบอลอยู่ที่ไหน
อายุ 36-40 เดือน ถามเกี่ยวกับ “ใคร” เช่น ใครปิดไฟ
อายุ 37-42 เดือน ถามประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่” เช่น เล่นได้ไหม
อายุ 42-49 เดือน ตั้งคำถามเป็นประโยคเกี่ยวกับ “เมื่อไหร่” “ทำไม” “อย่างไร” ได้

 

เปิดเหตุผล ทำไม? เจ้าหนูจำไม ชอบตั้งคำถาม

อย่างที่บอกค่ะว่าเจ้าหนูจำไมเป็นเรื่องธรรมชาติของพัฒนาการตามวัย ซึ่งปกติมากๆ เลยที่ลูกน้อยจะมีคำถามมากมาย เป็นสัญญาณว่าลูกกำลังอยากรู้อยากเห็นและพัฒนาการทางด้านภาษาและความคิดกำลังเติบโตอยู่ ทั้งนี้ ขอจำแนกเหตุผลว่าทำไม? เจ้าหนูจำไม ชอบตั้งคำถาม ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • เรียนรู้คำศัพท์ และความหมาย

สำหรับทารกน้อยที่กำลังเติบโตเป็นเด็กเล็กนั้น การมีความสามารถในการพูดนับเป็นสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต ซึ่งน่าน่าสนใจมากค่ะ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นและเป็นครั้งแรกที่ลูกสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัว รวมถึงสามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ การตั้งคำถามจึงเป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นใจว่า สิ่งที่พูดนั้นสามารถ “สื่อความหมายที่ถูกต้อง”

  • เพื่อสร้างความจำ

การตั้งคำถามของลูกนั้นเป็นการสร้างความจำในสมองของตัวเอง โดยการถามคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นคนที่ลูกไว้ใจที่สุดในชีวิต เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้อง แบบซ้ำ ๆ แล้วเก็บลงในหน่วยความจำ นี่เองค่ะคือสิ่งอธิบายคำว่า “จำความได้” ของมนุษย์เรา

  • ตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็น

การได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ รอบตัวในทุกๆ วัน (หรือแม้กระทั่งสิ่งเดิมก็ตาม) ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับลูกน้อยค่ะ ยิ่งในกรณีเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นมากๆ มีความ active ในตัวเองสูง ลูกอาจจะมีความเร็วในการตั้งคำถามจนบางครั้งลืมไปว่าเคยถามแล้ว หรือได้รับคำตอบมาแล้ว จึงถามอีกครั้ง หรือถามวนไปมาได้ค่ะ

  • ถามเพราะความรัก

ลูกน้อยนั้นจะเกิดความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เมื่อได้เห็นปฏิกิริยาโต้ตอบจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นคนที่ลูกไว้ใจมากที่สุดค่ะ การตั้งคำถามและการได้คำตอบจึงสามารถสร้างความสุขความอุ่นใจให้ลูกได้ เจ้าหนูจำไม ก็เลยถามไม่หยุดเลยค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีรับมือเมื่อลูกตัวน้อยเป็น เจ้าหนูจำไม

หากเจ้าหนูจำไมที่บ้านตั้งคำถามไม่หยุดจนคุณพ่อคุณแม่อาจสนุกกับการหาคำตอบจนเหนื่อย ลองนำวิธีเหล่านี้ไปเป็นตัวช่วยในการรับมือดูนะคะ

  • ให้คำตอบแบบมีคำถาม

เมื่อลูกตั้งคำถามมา ก็ให้ตอบวนไปค่ะ เพียงแต่หากเป็นการถามซ้ำเกินกว่า 4-5 ครั้ง ให้ลองสังเกตว่าลูกมีความอยากรู้อยากเห็นกระหายคำตอบในระดับไหน หากมีมากแนะนำให้ดึงเวลาไว้สักหน่อย ให้ลูกนิ่งและใจเย็นลง แล้วลองถามกลับไปว่า “เอ… เมื่อกี๊แม่ตอบไปแล้วนี่นา แม่ตอบไปว่ายังไงนะคะ” หรือ “แล้วลูกคิดว่ามันเป็นเพราะอะไรคะ”

  • ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย

ควรสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง เพื่อให้ลูกกล้าที่จะถามคำถาม แล้วอธิบายเรื่องราวให้ลูกฟังด้วยภาษาที่ง่ายและสั้น กระชับ พยายามใช้คำเปรียบเทียบหรือตัวอย่างที่ลูกเข้าใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • อย่าเบื่อที่ลูกถาม

ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่เรารู้สึกไร้สาระแค่ไหน แต่คือเรื่องใหม่ที่ลูกกำลังทำความรู้จักและเรียนรู้ค่ะ ท่องไว้ในใจว่าลูกกำลังสวมบทบาทหนูน้อยนักสำรวจโลก ดังนั้น ตอบไปให้หมดทุกคำถาม เพราะช่วงของการเป็นเจ้าหนูจำไมนั้นไม่นานหรอกค่ะ เก็บเกี่ยวเวลาคุณภาพที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกไว้ให้มากที่สุดนะคะ

  • รับฟังทุกคำถามของลูก

การรับฟังทุกคำถามของลูกโดยไม่ละเลย จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นถึงมุมมอง ความคิด และพัฒนาการทักษะทางภาษาที่สำคัญของลูกน้อยค่ะ

  • อย่ากลัวที่จะไม่รู้คำตอบ

ไม่จำเป็นว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้ทุกเรื่องนี่คะ ดังนั้น หากคำถามไหนของลูกที่เราตอบไม่ได้ ให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการบอกลูกตรงๆ ว่า “แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันจ้ะ แต่เราน่าจะช่วยกันหาคำตอบได้นะ ลองหาคำตอบด้วยกันดีมั้ย” จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เปิดใจรับฟัง และมีความกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบด้วยตัวเอง เป็นการกระตุ้นให้ลูกได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ และสนุกที่ได้หาคำตอบไปพร้อมกับพ่อแม่ด้วยค่ะ

  • เสริมกิจกรรมสร้างทักษะการคิดและภาษา

ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมที่ช่วยกระตุ้นความคิดอย่าง เกมทายปริศนา หมากรุก จะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ค่ะ รวมถึงการอ่านหนังสือให้ลูกฟังซึ่งจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ พัฒนาทักษะการฟัง ภาษาและการสื่อสารด้วยค่ะ

ประโยชน์ของการตอบคำถามลูก

ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา การพูดคุยกับลูกบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกได้ฝึกใช้ภาษาและพัฒนาทักษะการสื่อสาร
กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ การตอบคำถามที่เปิดกว้างจะช่วยกระตุ้นให้ลูกคิดหาคำตอบที่แตกต่างออกไป
สร้างความมั่นใจ เมื่อลูกได้รับคำตอบและการสนับสนุนจากพ่อแม่ จะรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
สร้างความผูกพันในครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันในการตอบคำถามของลูก จะช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าการที่ลูกเป็นเจ้าหนูจำไม ขี้สงสัย ช่างซักช่างถาม เป็นสิ่งที่ดีนะคะ เพราะเป็นสัญญาณที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้ว่าลูกกำลังเรียนรู้โลกใบใหม่นี้ตามพัฒนาการและธรรมชาติของช่วงวัย ดังนั้น แทนที่จะกังวล เบื่อหน่าย คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนและตอบคำถามของลูกด้วยความอดทนและความรัก ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกในทุกด้าน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้ด้วยค่ะ

 

ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ , hd.co.th

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ปี 2025 เริ่มต้น เด็ก Gen Beta เด็กยุค AI ที่โลกไม่ควรละสายตา

ข้อเสียของการ ตามใจลูก พ่อแม่สายสปอยล์ ระวัง! ลูกเสี่ยง “ฮ่องเต้ซินโดรม”

อย่าเพิ่งตื่นตูม! ลูกพูดคำหยาบ กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

จันทนา ชัยมี