โรคเซลิแอค (Celiac disease) เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่หลาย ๆ นั้นเป็น แล้วก็เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็ก ๆ ซึ่งโรคนี้นั้นจะเกิดจากการที่แพ้สารอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถ้าหากรับประทานเข้าในปริมาณมากก็จะทำให้ไปทำลายผนังลำไส้ และอาจจะส่งผลเสียต่อการดูดซึมสารอาหารภายในร่างกายได้ และถ้าหากเกิดโรคนี้ขึ้น ก็อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กได้ ดังนั้น บทความวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก โรคเซลิแอค (Celiac disease) กันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้จะได้ป้องกัน และรับมือได้อย่างถูกวิธี ถ้าพร้อมแล้วมาตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
โรคเซลิแอคเกิดจากสาเหตุอะไร?
โรคเซลิแอค หรือโรคแพ้กลูเตน เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่เกิดจากโปรตีนกลูเตนไปกระตุ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความเสียหายต่อลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ได้ ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะ และระบบการทำงานหลายส่วนภายในร่างกาย เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องอืด ปวดกระดูกและข้อ ระบบประสาทเสียหาย และยิ่งถ้าหากเกิดขึ้นในเด็กก็อาจจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กได้ เช่น ท้องร่วง หงุดหงิดง่าย หรือมีพัฒนาการช้า เป็นต้น
กลูเตน คืออะไร?
กลูเตน ก็คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่จะพบได้มากในแป้งสาลี และข้าวบาร์เลย์ ซึ่งกลูเตนเป็นโปรตีนที่จะสร้างความเหนียวให้กับก้อนแป้ง ที่เกิดมาจากการรวมตัวของกลูเตนิน และไกลอะดิน ทำให้มีลักษณะเหนียว ยืดหยุ่น และไม่ละลายน้ำ ซึ่งคนโดยทั่วไปสามารถรับประทานได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และถ้าหากใครที่มีอาการแพ้กลูเตนอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงไม่อย่างนั้นอาจจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเซลิแอค
- พันธุกรรม ถ้าหากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้นประมาณ 20% หรือโอกาสจะสูงขึ้นอีก เมื่อญาติสายตรงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคนี้ค่ะ
- โรคภูมิต้านตนเอง หรือโรคออโตอิมมูน เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, โรคเบาหวานชนิด1 (เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น) เป็นต้น
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาวน์ซินโดรม หรือกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ เป็นต้น
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งบางชนิด อย่าง มะเร็งลำไส้เล็ก, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของลำไส้เล็ก, มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น
อาการของ โรคเซลิแอค (Celiac disease)
สำหรับอาการของโรคเซลิแอค แต่ละคนก็จะมีอาการจะแตกต่างกันไป บางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ และบางรายอาจมีอาการต่าง ๆ และสำหรับอาการของโรคเซลิแอคในเด็ก ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีแนวโน้มมีปัญหาในเรื่องของทางเดินอาหารมากกว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเซลิแอค เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายเกิดความเสียหายต่อลำไส้เล็ก จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซับสารอาหารได้ปกติ และอาจจะทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ท้องเสียเรื้อรัง, ท้องผูก, ท้องอืด มีแก๊สในลำไส้, หงุดหงิดง่าย, กล้ามเนื้อลีบ น้ำหนักลดลง, โรคโลหิตจาง
และมีพัฒนาการเจริญเติบโตช้า เช่น มีอาการทางระบบประสาท เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าหากลูกน้อยของคุณเริ่มอาการเหล่านี้ในเบื้องต้น เช่น หากมีอาการท้องร่วง หรือรู้สึกปวดท้อง หรือไม่สบายท้อง ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาดค่ะ
การวินิจฉัยโรคเซลิแอค (Celiac disease)
สำหรับการวินิจฉัย โรคเซลิแอค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มจากการซักถามประวัติของผู้ป่วย เช่น อายุ, อาการ, ประวัติโรคต่าง ๆ ในครอบครัว, ประวัติการรักษาที่ผ่านมา และการตรวจร่างกาย จากนั้นก็อาจจะมีการตรวจเลือดดูโรคซีด ดูค่าการทำงานของ ตับ ไต และตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของโรคนี้ และอาจมีการตรวจภาพกระเพาะอาหาร และลำไส้รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่มีอาการตามดุลพินิจของแพทย์ เป็นต้น
วิธีการรักษาโรคเซลิแอคในเด็ก
สำหรับการรักษาโรคเซลิแอค โดยปกติแล้ววิธีการรักษาโรคเซลิแอค นั้นสามารถทำได้เพียงรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น ก็อาจจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกลูเตน เช่น เค้ก, โดนัท, พิซซ่า, สปาเกตตี, ข้าวสาลี เป็นต้น เพื่อป้องกันความเสียหายของเยื่อบุลำไส้ แล้วก็อาการต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาหลายเดือน และระบบย่อยอาหารก็จะกลับมาเป็นปกติ
หรือในกรณีคนป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดท้องมาก หรือท้องเสียมาก จนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะมีการให้ยาแก้ปวดท้อง หรือยาแก้ท้องเสียเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าหากใครที่มีอาการรุนแรง แพทย์ก็อาจให้ใช้สเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบของลำไส้เล็ก และอาจจะมีการให้วิตามิน หรืออาหารเสริมเพิ่มเติม สำหรับคนที่มีอาการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ท้องร่วง ถ่ายเหลว รับมืออย่างไรดี
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับข้อมูลที่เรานำมาฝากกัน โรคเซลิแอค (Celiac disease) ถือเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็ก ดังนั้น คุณจึงจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการรับประทานอาหารขอลูกน้อยเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันการเกิดโรคเซลิแอคขึ้น แต่ถ้ารู้สึกว่าลูกน้อยนั้นเริ่มมีอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกถึงสัญญาณของโรคเซลิแอค ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา และรับการตรวจวินิจฉัยทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกท้องเสียต้องหยุดกินนมแม่ไหม ? ทารกท้องเสียควรเลี่ยงอะไรบ้าง
ลูกเป็นสมาธิสั้นทำยังไง? กิจกรรมแก้โรคสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง ซุกซน
อาหาร 7 ชนิดที่แม่ต้องระวัง กินมากไปลูกน้อยท้องอืดแน่นอน!
ที่มา : hellokhunmor.com , pobpad.com , haamor.com