เราเชื่อว่าคุณแม่แต่ละคนมีเรื่องราวในชีวิตต่างกัน ชีวิตทุกคนมีความแตกต่าง ทำให้ความพร้อม สภาพชีวิตแตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นก็รวมถึงเรื่องการตั้งครรภ์ และ มีบุตร ไม่ว่าจะด้วยปัญหาอะไรที่คุณจำเป็นจะต้อง ไปฝากครรภ์คนเดียว คุณอาจจะเลิกกับแฟนแล้ว หรืออาจจะแค่วันนั้นแฟนไม่ว่างพาไป เหตุผลและความจำเป็น ของแต่ละคนก็มีต่างกัน วันนี้เราจะมาบอกเล่าเรื่องราวที่คุณแม่สงสัย ว่าถ้าจำเป็นจะต้อง ไปฝากครรภ์คนเดียว ทางโรงพยาบาลจะว่าอย่างไรบ้าง เขาจะอนุญาตให้เราทำใช่หรือไม่ ไปดูกันค่ะ
ไปฝากครรภ์คนเดียว ได้ไหม
คำตอบสั้น ๆ ก็คือ ได้ ทีนี้เรามาดูกันต่อเลยดีกว่าว่า การไปฝากครรภ์นั้นเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง จะได้เตรียมพร้อม และคาดเดาล่วงหน้าได้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งมันไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัวเลย หายใจเข้าลึก ๆ นะคุณแม่
คุณควรไปฝากครรภ์เมื่อไหร่
คุณควรจะไปฝากครรภ์ ตั้งแต่ที่คุณรู้ว่าตัวเอง รู้แล้วแน่ ๆ ว่าท้อง การไปฝากครรภ์ครั้งแรกนั้นสำคัญมาก และจะใช้เวลานานที่สุดกว่าครั้งอื่น ๆ เพราะจะมีการทดสอบเรื่องสุขภาพต่าง ๆ รวมไปถึงการสอบถามข้อมูลส่วนตัว เพื่อประโยชน์กับลูกในอนาคต คุณจะต้องตอบคำถามมากมาย ไม่ต้องกลัว เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ทางโรงพยาบาลต้องการทราบ เพราะจะได้ ให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง ว่าคุณแม่ควรจะทำอะไรต่อไป ต้องทานอาหารแบบไหน ออกกำลังกายยังไง พักผ่อนเท่าไหนถึงจะดี ถ้าคุณแม่มีความสงสัยอะไร ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เลย ไม่ต้องกลัว เพราะทางแพทย์เองก็อยากให้คุณแม่ปลอดภัยอยู่แล้ว
จะเตรียมตัวไปฝากครรภ์อย่างไรดี
เมื่อคุณท้อง แล้วคุณรู้แล้วว่าจะต้องไปฝากครรภ์ คุณอาจจะเตรียมตัวไปก่อนเล็กน้อย เพื่อให้การฝากครรภ์ ดำเนินไปอย่างราบรื่น เราได้ลิสต์มาบอกว่าอะไรที่คุณควรจะเตรียมไปบ้าง ตอนไปฝากครรภ์
- ทำลิสต์เกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ : แพทย์ต้องการจะรู้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพของคุณไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาการแพ้ แพ้ยา โรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัด โรคที่คนในครอบครัวมักจะเป็น ถ้าเราทราบก็จะทำให้การตอบคำถามง่ายขึ้น
- เอายาที่กินเป็นประจำไปด้วย : ถ้าคุณนำยาไปด้วยทางโรงพยาบาลก็จะทราบได้ว่า มีวิตามิน หรือยาชนิดไหนที่คุณรับประทานเป็นประจำบ้าง จะได้แนะนำขั้นตอนต่อไปได้อย่างถูกต้อง
- จดคำถามที่คุณอยากรู้ : ไม่ว่าจะเป็นแม่มือใหม่ หรือท้องที่สอง เราเชื่อว่าคุณคงจะมีคำถามมากมายติดอยู่ในหัว ก่อนไปฝากครรภ์ คุณอาจจะจดคำถาม หรือเรื่องที่คุณสงสัยเหล่านั้นไว้ในมือถือ หรือกระดาษ ก่อนจะไปที่โรงพยาบาล คุณจะได้ไม่ลืมว่าอยากถามอะไรบ้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝากครรภ์ราคา เท่าไหร่ ต้องจ่ายอะไร ยังไงบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 37
ฝากครรภ์ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประชาชน เผื่อไว้สำหรับทำประวัติที่โรงพยาบาล
- ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ฝากครรภ์ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง
เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะซักประวัติคุณแม่ เช่น
- ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มาสม่ำเสมอหรือไม่
- ก่อนตั้งครรภ์คุมกำเนิดด้วยวิธีใดหรือไม่
- เคยมีโรคหรืออาการผิดปกติอะไรบ้าง
- เคยมีการแพ้ยาหรือไม่ หากคุณแม่กำลังใช้ยาบางตัวอยู่ ก็ควรบอกคุณหมอด้วย
- ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัวที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเลือด การมีลูกแฝด เป็นต้น
หลังจากซักประวัติคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ดังนี้
- ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง หากคุณแม่สูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตรมักจะมีเชิงกรานเล็ก ขนาดของลูกในครรภ์กับช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วน ทำให้คลอดเองลำบาก มีโอกาสผ่าคลอดสูง
การวัดส่วนสูงเทียบกับน้ำหนัก เพื่อให้ทราบว่าน้ำหนักตัวอยู่ในค่ามาตรฐานหรือไม่ และต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่าน้ำหนักเพิ่มมากน้อยเกินไปหรือไม่ ผิดปกติหรือไม่ - ตรวจปัสสาวะ หากคุณแม่มีน้ำตาลในปัสสาวะมาก อาจแสดงถึงโรคเบาหวาน ต้องทำการเจาะเลือดเพื่อหาเบาหวานต่อไป
- วัดความดันโลหิต หากความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาจเป็นจุดเริ่มแรกของครรภ์เป็นพิษ แต่หากความดันโลหิตต่ำมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
- ตรวจฟัน หากคุณแม่มีฟันผุต้องรีบอุด เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจจะส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ อักเสบตามไปด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลือกโรงพยาบาลก่อนฝากครรภ์ ต้องเลือกอย่างไร? ฝากครรภ์ที่ไหนดี?
- ตรวจต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ปกติจะมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย หากโตมาก ต่อมไทรอยด์อาจเป็นพิษได้
- ฟังเสียงหัวใจและปอด หากพบสิ่งผิดปกติ คุณหมออาจให้การรักษาหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
- ตรวจครรภ์ เพื่อดูว่าขนาด หรือระดับมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ มีก้อนเนื้อผิดปกติในท้องหรือไม่
หากไม่มีความผิดปกติ คุณหมอก็จะให้ยาบำรุง ได้แก่ วิตามินบีรวม และธาตุเหล็กมาบำรุงคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ - ตรวจขา เพื่อดูเส้นเลือดขอด ซึ่งทำให้เลือดไหลกลับไปหัวใจไม่สะดวก หากเป็นมากเส้นเลือดอาจอุดตัน ทำให้ขาบวม หรืออาจเป็นอันตรายหากก้อนเลือดที่อุดตันหลุดเข้าไปในกระแสเลือด
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เจาะเลือดเพื่อหาว่าเลือดจางหรือไม่ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี ภูมิต้านทานหัดเยอรมัน
การตรวจนี้โรงพยาบาลบางแห่งอาจตรวจให้ในครั้งแรก แล้วนัดไปตรวจท้อง รวมถึงดูผลตรวจเลือดและปัสสาวะอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์ บางแห่งก็ตรวจท้องก่อน แล้วจึงเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ โดยจะนัดฟังผลใน 1-2 สัปดาห์ เช่นกัน
สมุดฝากครรภ์
หลังจากที่คุณหมอทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียดแล้ว ผลการตรวจก็จะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ หรือใบฝากครรภ์ ซึ่งคุณแม่ควรนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเดินทางไปไหนมาไหน แล้วเกิดภาวะฉุกเฉิน คุณหมอจะได้ดูแลรักษาได้ถูกต้อง ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุดฝากครรภ์
หากคุณแม่อยากไปฝากครรภ์คนเดียว ก็สามารถไปได้เลยนะคะ เพราะทางโรงพยาบาลจะคอยดูแล และให้คำแนะนำให้แก่คุณว่าต้องทำอะไรต่อไป ต้องทานอาหารแบบไหน และพักผ่อนอย่างไร อีกทั้งแพทย์จะคอยให้คำปรึกษาแก่คุณแม่อีกด้วย ถ้าคุณแม่มีอะไรไม่สบายใจ หรือมีเรื่องที่อยากถามคุณหมอ ก็สามารถถามได้เลยนะคะ เพื่อให้แพทย์ได้ให้คำแนะนำที่ดีที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ไม่ฝากครรภ์อันตราย! ลูกเสี่ยงติดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด
คนท้องเริ่มฝากครรภ์ได้เมื่อไหร่ ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน จำเป็นต้องฝากครรภ์ไหม?
ท้องนี้ฝากครรภ์ ทำคลอดที่ไหนดีนะ? รวม 10 สูติ-นรีแพทย์ฝีมือดี ที่คนไข้ต่างก็ยกนิ้วให้
ที่มา : whattoexpect