บ่อยครั้งที่คุณแม่มือใหม่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วง ให้นมลูก จะยังไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหารการกินของตัวเองได้อย่างลงตัว จึงหวังพึ่งทางลัดเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายด้วย “ขนมปัง” สักก้อน แต่ก็อดกังวลไม่ได้อีกว่า ให้นมลูกกินขนมปังได้ไหม ส่วนประกอบในขนมปังนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อลูกบ้าง แล้วอาหารแบบไหนที่กินง่าย สะดวก ประหยัดเวลา และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะกับแม่ให้นม
ให้นมลูกกินขนมปังได้ไหม
เป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหลือเกินค่ะที่คุณแม่ให้นมจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินของตัวเองอย่างมาก เนื่องจากรู้ดีว่าทุกสิ่งที่กินเข้าไปสามารถส่งต่อไปสู่ลูกรักวัยแรกเกิดได้ แต่บางครั้ง “ความโหย” “ความอยากกิน” ของคุณแม่ก็ทรงพลังอย่างประหลาด เพราะความอ่อนล้าจากการเลี้ยงลูกทำให้ร่างกายต้องการพลังงานมาทดแทน และเติมเต็มหัวใจให้อิ่มฟู โดยเฉพาะจากเมนูของหวาน หรืออย่างน้อย ๆ ขอแค่ได้หม่ำขนมปังสักก้อนก็ได้ แต่เจ้าขนมปังหนึ่งก้อนนี้มีผลอะไรกับลูกที่กินนมแม่บ้าง… ให้นมลูกกินขนมปังได้ไหม …?
ซึ่งคำตอบคือ จริง ๆ แล้วไม่มีอาหารชนิดไหนที่ห้ามกินสำหรับแม่ให้นมนะคะ เพราะยิ่งคุณแม่กินของดีมีประโยชน์ ลูกรักก็ยิ่งได้รับสารอาหารดี ๆ เปี่ยมโภชนาการด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แพทย์และผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้คุณแม่หมั่นสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองที่ลูกน้อยมีต่อการกินอาหารแต่ละประเภทของแม่ และคอยปรับ เปลี่ยน หากมีอาหารชนิดใดที่ส่งผลทางลบต่อลูก
และสำหรับอาหารอย่าง “ขนมปัง” นั้น สามารถกินได้ค่ะ แต่ไม่ควรกิน ขนมปังขาว ที่ผ่านการขัดสี เนื่องจากเป็นอาหารที่จัดอยู่ในประเภทที่มีไขมันทรานส์สูง (มีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล ยีสต์ เกลือ) เมื่อกินเข้าไปแล้วอาจส่งผลให้คุณแม่น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเกิดโรคอ้วนได้ง่าย
ขนมปังที่แม่ให้นมกินได้
กรณีที่คุณแม่เบื่อข้าว หรือต้องการความอิ่มแบบง่าย ๆ ไม่ต้องเข้าครัวให้ยุ่งยาก อยากกินขนมปังเป็นมื้อหลักสัก 1 มื้อ (หรือกินจุกจิกคลายหิวสักก้อน) แนะนำให้เลือกกิน ขนมปังธัญพืช หรือขนมปังโฮลวีต ซึ่งให้พลังงานและเส้นใยสูง อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ช่วยดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้า อิ่มนาน ไม่หิวบ่อย และทำให้สบายไม่อึดอัดท้องด้วยค่ะ
ขนมปังที่แม่ให้นมควรหลีกเลี่ยง
นอกจากขนมปังขาวที่ผ่านการขัดสีมาแล้ว ขนมปังที่มาในรูปแบบของ “เค้ก” ต่าง ๆ ก็อยากให้คุณแม่เลี่ยง ๆ หน่อยนะคะ อาจลดความถี่หรือปริมาณการกินลงก็ได้ค่ะ เนื่องจากขนมปังหรือเค้กแสนอร่อยที่ผ่านการปรุงแต่ง แปรรูป เหล่านี้มักมี “น้ำตาล” เป็นส่วนประกอบอยู่พอสมควร โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส ที่แฝงตัวอยู่ในน้ำผึ้ง ผักผลไม้บางชนิด ที่มักจะถูกนำมาเป็นส่วนประกอบ ส่วนผสมในเค้ก หรือแม้กระทั่งนำน้ำตาลฟรุกโตสมาปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งความน่ากังวลคือ ไม่เพียงเป็นการเพิ่มน้ำหนักของทั้งคุณแม่และทารก แต่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และโรคอื่น ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้น หากเป็นไปได้ คุณแม่ลองหลีกเลี่ยงหรือลดการกินของหวานที่มีน้ำตาลฟรุกโตสปริมาณมากนะคะ
อาหารแบบไหนเหมาะกับ “แม่ให้นม”
กินให้ครบ 5 กลุ่ม
ร่างกายของคุณแม่หลังคลอด โดยเฉพาะแม่ให้นม ต้องการสารอาหารมากกว่าตอนตั้งครรภ์นะคะ เพราะต้องใช้สารอาหารที่จำเป็นสำหรับผลิตน้ำนม ดังนั้น แนวทางที่ดีและถูกต้องที่สุดคือ คุณแม่ควรกินอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มข้าวแป้ง วันละ 10-12 ทัพพี
- กลุ่มผัก วันละ 6 ทัพพี
- กลุ่มผลไม้ วันละ 6 ส่วน
- กลุ่มเนื้อสัตว์ 12-14 ช้อนกินข้าว
- กลุ่มนม วันละ 2-3 แก้ว
โดยกินอาหารแต่ละกลุ่มในปริมาณที่เพียงพอและหลากหลาย แต่สำหรับไขมัน เกลือ และเครื่องปรุงต่าง ๆ ควรใช้น้อย ๆ เท่าที่จำเป็น และไม่กินอาหารรสหวาน รวมถึงควรกินยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟลิก เพื่อให้น้ำนมแม่มีคุณภาพและสารหารที่ครบถ้วนสำหรับลูกน้อยค่ะ
“เลือกกิน” เพื่อรับสารอาหารที่จำเป็นต่อการให้นม
- ธัญพืช ขนมปังโฮลวีตที่แนะนำไป ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ของธัญพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งโปรตีน วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยให้น้ำนมแม่เข้มข้นและมีปริมาณที่เพียงพอ แถมยังเป็นธัญพืชเต็มเมล็ดด้วย โดยแม่ให้นมควรทานธัญพืชให้ได้ประมาณ 8 ออนซ์ต่อวัน (230 กรัมต่อวัน) ธัญพืชที่แนะนำนอกจากขนมปังโฮลวีตก็เช่น ข้าวกล้อง ควินัว และซีเรียลต่าง ๆ
- น้ำ จะช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวในขณะให้นมลูก คุณแม่ให้นมจึงจำเป็นต้องดื่มน้ำในปริมาณมาก เนื่องจากหากดื่มน้ำไม่เพียงพอสามารถนำไปสู่ภาวะสูญเสียน้ำ และอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมของแม่ด้วย
- ผัก การทานผักที่เพียงพอจะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการผลิตนมได้ เนื่องจากผักอุดมไปด้วยวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยแนะนำให้คุณแม่ที่ให้นมลูกทานผักให้ได้ 3 ถ้วยต่อวัน ซึ่งแนะนำว่าควรเป็นผักที่อุดมด้วยโพแทสเซียม และวิตามินเอ อาทิ ผักใบเขียว ผักโขม แครอท มันหวาน ฟักทอง มะเขือเทศ พริกหวานสีแดง เป็นต้น
- โปรตีน เนื่องจากช่วงให้นมนั้นร่างกายคุณแม่จะต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 25-65 กรัม ดังนั้น โปรตีนจึงเป็นสารอาหารความสำคัญที่คุณแม่จะมองข้ามไปไม่ได้ โดยสามารถเลือกกินเนื้อไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ทะเล อย่างหอยนางรม ปู ปลา หรือเป็นโปรตีนจากถั่วก็ได้ค่ะ
- แคลเซียม คุณแม่ให้นม (และคุณแม่ตั้งครรภ์) มีโอกาสที่จะสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ หากร่างกายได้รับแคลเซียมและวิตามินดี ไม่มากพอ ซึ่งคุณแม่ให้นมควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน และแหล่งแคลเซียมชั้นดี (ที่มักเสริมวิตามินดีเข้าไปพร้อมกัน) ก็คือ ผลิตภัณฑ์จำพวกนม เช่น นม โยเกิร์ต ชีส นั่นเอง
ให้นมลูกกินขนมปังได้ไหม กินยังไง เมื่อร่างกายแม่ให้นมต้องการของหวาน
เมื่อร่างกายต้องการ “ของหวาน” แต่ขนมปังและเค้กยังไม่ตอบโจทย์อย่างเหมาะสมสำหรับคุณแม่ที่อยู่ระหว่างให้นมลูก ทางออกที่พอจะเป็นไปได้คือ คุณแม่อาจเบนไปรับประทานผัก ผลไม้สด ทดแทนค่ะ เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณแม่ “หายอยาก” แล้ว ผลไม้ยังเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญมากมายหลายชนิด ช่วยบรรเทาปัญหาท้องผูกที่คุณแม่หลายคนมักต้องเผชิญหลังคลอด อย่างไรก็ตาม แนะนำให้คุณแม่ให้นมกินผลไม้ให้ได้ปริมาณ 2 ถ้วยต่อวัน และควรทานให้ได้หลายชนิด โดยแนะนำผลไม้ที่เป็นแหล่งสำคัญของโพแทสเซียม และวิตามินเอ เช่น แคนตาลูป กล้วย มะม่วง แอปริคอต ส้ม พรุน เกรปฟรุตเนื้อแดงหรือเนื้อชมพู เป็นต้น
ขนมปังที่แม่ให้นมกินได้ กินแล้ว สังเกตด้วย อาหารที่คุณแม่กิน ลูกแพ้มั้ย
ขนมปังหรืออาหารที่คุณแม่กินได้ กินอร่อย หรือแม้แต่กินแล้วช่วยเรื่องโภชนาการและปริมาณน้ำนม อาจไม่ได้เหมาะสมสำหรับลูกน้อยเสมอไปนะคะ เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีอาการแพ้นมวัว และแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว บางคนมีอาการแพ้ถั่ว ไข่ ข้าวสาลี หรือข้าวโพด ดังนั้น คุณแม่อย่าลืมสังเกตอาการของทารก และหลีกเลี่ยงการกินอาหารนั้น ๆ นะคะ โดยคุณแม่อาจจดบันทึกอาหารและเครื่องดื่มทุกอย่างที่กิน รวมทั้งสังเกตและบันทึกอาการของลูกหลังการให้นม เพื่อประเมินว่าแพ้อาหารประเภทใดหรือไม่
หากลูกมีอาการแพ้อาหาร เช่น มีเสมหะเขียวข้น อาการกระสับกระส่าย ผื่น ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรืออาเจียน แนะนำให้พาลูกน้อยไปพบแพทย์ และควรลองหยุดอาหารที่อาจมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดการแพ้กับลูกประมาณ 1 สัปดาห์ และสังเกตว่าลูกมีอาการแตกต่างจากเดิมหรือไม่
ไม่ว่าความอยากกินขนมปัง ของหวาน หรืออาหารจานโปรดของคุณแม่จะทรงพลังแค่ไหน หากเมนูนั้น ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไปเสี่ยงต่อการทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ได้ ก็เชื่อว่าหัวใจเปี่ยมรักของคุณแม่จะแข็งแกร่งมากยิ่งกว่า จนสามาถเอาชนะความโหยหาอาหารหล่านั้นได้ แล้วเบนเข็มความสนใจไปยังอาหารที่มีประโยชน์เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการสำคัญต่อแม่ให้นมนะคะ
ที่มา : www.sanook.com , www.ckkequipmed.co.th , www.babymoby.com , www.bumrungrad.com , www.gj.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้นมลูกกินทุเรียนได้ไหม แม่ให้นมกินทุเรียน อันตรายหรือเปล่า
รู้หรือไม่ แม่ให้นมเสี่ยงขาดสารอาหาร ยิ่งบำรุงครบ ยิ่งช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำนมแม่
ทารกท้องเสียต้องหยุดกินนมแม่ไหม ? ทารกท้องเสียควรเลี่ยงอะไรบ้าง