กลับมาอีกครั้งกับ Kidschen ค่ะ วันนี้เรามีเมนูง่าย ๆ อยากจะมาแบ่งปันให้คุณพ่อคุณแม่ ได้ทำให้เจ้าหนูตัวน้อยหรือคนในครอบครัวได้ทานกันค่ะ นั่นก็คือเมนู ข้าวโพดหวานผัดเนย เมนูข้าวโพด รสอ่อน เมนูของว่างแสนอร่อยที่วัตถุดิบน้อย วิธีทำก็ง่าย ๆ อร่อยกันทั้งบ้านแน่นอนค่ะ ว่าแล้วก็ลงมือทำกันเลย~
วัตถุดิบ ข้าวโพดหวานผัดเนย ผัดข้าวโพดหวาน
- ข้าวโพดต้ม 1 ฝัก
- เนยเค็ม
- น้ำตาล 2 ช้อนชา
- เกลือ 1 หยิบ
- ต้นหอมซอย
วิธีทำ ข้าวโพดหวานผัดเนย
- เมนูข้าวโพดผัดอันดับแรกคือนำข้าวโพดต้มที่เราเตรียมไว้ มาฝาน
- จากนั้นตั้งกระทะโดยใช้ไฟอ่อน เพื่อเตรียมผัดข้าวโพด
- เมื่อกระทะได้ที่แล้วให้ใส่เนยลงไปในกระทะเพียงเล็กน้อย
- จากนั้นให้ใส่ข้าวโพดหวานลงไป และใส่เนยเพิ่มตามลงไปเล็กน้อย
- ผัดให้เนยและข้าวโพดเป็นเนื้อเดียวกันและใส่น้ำตาลตามลงไป 2 ช้อนชา ใส่เกลือ 1 หยิบ
- ผัดส่วนผสมให้เข้ากัน
- เมื่อได้ที่แล้ว ให้ตักใส่จาน ตกแต่งด้วยต้นหอมซอย พร้อมเสิร์ฟ
- เมนูข้าวโพดหวานผัดเนย ของทานเล่นแสนอร่อย พร้อมเสิร์ฟ ทานได้ทุกวัยเลย~
ประโยชน์ของเมนูข้าวโพดนี้
ข้าวโพดเป็นธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งชนิดที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมารับประทาน คือ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดคั่ว และ ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือ ข้าวสาลี โดยนำมาต้มสุกรับประทาน ใช้ประกอบอาหารหรือทำขนมหวาน แต่นอกจากรสชาติหวานอร่อยแล้ว ข้าวโพดยังประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนี้
คาร์โบไฮเดรต
ข้าวโพดมีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลักเช่นเดียวกับธัญพืชชนิดอื่น ๆ โดยข้าวโพดต้ม 1 ฝัก ที่หนักประมาณ 100 กรัม จะมีแป้ง 21 กรัม และน้ำตาล 4.5 กรัม ซึ่งข้าวโพดเพียงครึ่งฝักให้คาร์โบไฮเดรตเทียบเท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพี แพทย์จึงไม่แนะนำให้รับประทานข้าวโพดและข้าวสวยในมื้อเดียวกัน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็น
เส้นใยอาหาร
ข้าวโพดมีเส้นใยอาหารสูง โดยข้าวโพดหวานที่ต้มแล้ว 1 ฝัก จะมีเส้นใยอาหารประมาณ 2.4 กรัม ส่วนข้าวโพดคั่ว 1 ถุง ที่หนักประมาณ 112 กรัม จะมีเส้นใยอาหารประมาน 16 กรัม ซึ่งคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ร่างกายผู้ชายต้องการ/วัน และ 64 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ร่างกายผู้หญิงต้องการ/วัน
วิตามินและแร่ธาตุ
ข้าวโพดแต่ละชนิดประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุแตกต่างกันไป ข้าวโพดหวานอุดมไปด้วยวิตามินบี ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตาและเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ส่วนข้าวโพดคั่วนั้นเป็นแหล่งอาหารสำคัญของแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี และทองแดง แต่ข้าวโพดคั่วที่จำหน่ายตามท้องตลาดมักมีน้ำมัน เนย เกลือ หรือน้ำตาลเป็นส่วนผสม หากรับประทานมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
สารต้านอนุมูลอิสระ
ข้าวโพดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยป้องกันหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระ อันเป็นปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด เป็นต้น โดยข้าวโพดหวานที่คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานประกอบด้วยกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเป็นสารสีที่ให้สีเหลือง สีส้ม และสีแดงแก่พืชที่ได้พบในข้าวโพด เช่น ซีแซนทิน (Zeaxanthin) ลูทีน (Lutein) คริปโตแซนทิน (Cryptoxanthin) และเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) สารโภชนาการเหล่านี้ที่พบในข้าวโพดทำให้เชื่อว่าข้าวโพดอาจดีต่อสุขภาพร่างกายด้านต่าง ๆ และอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโรคบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของข้าวโพดในแง่มุมต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
บำรุงสายตา
ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่มีวิตามินเอค่อนข้างสูง ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพของดวงตาและช่วยให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นดีขึ้น โดยข้าวโพดมีวิตามินเอสูงกว่าธัญพืชชนิดอื่นถึง 10 เท่า และยังมีสารคริปโตแซนทินและเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีงานวิจัยหนึ่งให้เด็กอายุ 4-8 ปี จำนวน 1,024 คน ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดวิตามินเอหรือป่วยเป็นภาวะนี้รับประทานข้าวโพดวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 200 กรัม เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์ ติดต่อกัน 6 เดือน และเปรียบเทียบการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตาทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่าเด็กที่รับการทดลองมีระดับการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตาดีขึ้น แต่ข้าวโพดที่ใช้ในงานวิจัยเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไป โดยมีปริมาณเบต้าแคโรทีนอยู่ที่ 15 ไมโครกรัม/น้ำหนัก 1 กรัม จึงไม่สามารถนำงานวิจัยนี้มายืนยันประสิทธิภาพของข้าวโพดที่ไม่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ได้จนกว่าจะมีการทดลองที่แน่ชัดต่อไป
ส่งเสริมการทำงานของระบบขับถ่าย
ข้าวโพดอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารในปริมาณสูง และส่วนใหญ่เป็นเส้นใยชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวได้ดี และช่วยบรรเทาอาการผิดปกติทางลำไส้ เช่น ท้องผูก ริดสีดวง และภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น การรับประทานข้าวโพดจึงอาจช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และอาจช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารได้ด้วยนอกจากนี้ มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานข้าวโพดคั่วกับการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดถุงโป่งพองขนาดต่าง ๆ ขึ้นตามผนังลำไส้ใหญ่ และอาจทำให้ลำไส้อักเสบหรือมีเลือดออกในลำไส้ได้ โดยงานค้นคว้านี้ให้เพศชายอายุ 40-75 ปี ที่ไม่ป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารจำนวน 47,228 คน ตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินความถี่ในการรับประทานข้าวโพดคั่วอย่างต่อเนื่อง 18 ปี พบว่ากลุ่มที่รับประทานข้าวโพดคั่วในปริมาณมากที่สุดมีความเสี่ยงต่อโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานในปริมาณน้อยที่สุดถึง 28 เปอร์เซ็นต์
ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันไม่ดีในเลือด (Low Density Lipoprotein: LDL) จนอาจเกิดคราบไขมันตามผนังหลอดเลือดหัวใจซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันได้ การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงโดยเฉพาะธัญพืชอย่างข้าวโพดอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดซึ่งช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยมีงานค้นคว้าจำนวนหนึ่งศึกษาสรรพคุณของธัญพืชที่มีผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าการบริโภคธัญพืชชนิดต่าง ๆ รวมถึงข้าวโพดอาจช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีและไขมันคอเลสเตอรอลรวมในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงเผชิญโรคหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ควรศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจโดยเจาะจงใช้ข้าวโพดเพียงอย่างเดียวในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แจกสูตรฟรี! ข้าวไข่ข้นปูอัด โปรตีนเน้น ๆ เนื้อ นม ไข่ หอมอร่อยอยู่ท้อง
แจกสูตรฟรี! ไข่ตุ๋นคุณหนู ไข่ตุ๋นเนื้อนุ่ม น่าทาน สำหรับเหล่าคุณหนูช่วงปิดเทอม
ชวนเจ้าตัวน้อยทำเมนูดับร้อน Strawberry Latte ทำง่าย อร่อยด้วย
ที่มา : pobpad