คุณค่าของน้ำนมแม่นั้น เป็นที่รู้กันดีว่ามีประโยชน์ เต็มไปด้วยโภชนาการและภูมิคุ้มกันสำหรับทารก ด้วยเหตุนี้คุณแม่หลายๆ ท่านจึงเตรียมพร้อมและมีเป้าหมายที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตทารก และให้ลูกกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนอายุ 2 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ท้าทายสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกเอง ก็คือ ลูกน้อยตื่นกลางดึกบ่อยๆ นอนได้ไม่นาน ทำให้แม่หลังคลอดพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องตื่นมาให้นมลูก บทความนี้ เราชวนมาทำความเข้าใจว่า มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ ลูกกินนมแม่ ตื่นบ่อย นอนหลับได้ไม่นาน
ลูกกินนมแม่ ตื่นบ่อย เพราะอะไร?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า น้ำนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก โดยโปรตีนในน้ำนมแม่เป็นโปรตีนที่ย่อยและดูดซึมได้ง่าย เหมาะกับระบบย่อยอาหารของลูกที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางลำไส้ และยังมีสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยต้านทานเชื้อโรค พร้อมส่งเสริมการเจริญเติบโตของอวัยวะสำคัญ ทำให้ลูกได้รับโภชนาการครบถ้วนและป้องกันการเจ็บป่วย เช่น การท้องเสีย
-
ลูกกินนมแม่ มักจะตื่นบ่อยเพราะหิว
เนื่องจากน้ำนมแม่ย่อยง่ายและให้พลังงานที่เหมาะสมในระยะสั้น ขณะที่เด็กที่กินนมผงอาจอิ่มนานกว่า แต่นมผงย่อยยากกว่าและไม่มีสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันโรค ลำไส้ของทารกอาจได้รับผลกระทบจากการย่อยโปรตีนในนมผง ทำให้เกิดปัญหากรด-ด่างในลำไส้ใหญ่ไม่สมดุล เพิ่มความเสี่ยงต่อการท้องเสียและการแพ้โปรตีนจากนมวัว
-
ขนาดกระเพาะของทารกแรกเกิดยังเล็กมาก
จึงไม่ได้ต้องการปริมาณนมในแต่ละวันมากเท่าใดนัก โดยทารกแรกเกิดวันแรกหลังคลอด ขนาดกระเพาะทารกมีความจุเพียง 5-7 มิลลิตร หรือเท่ากับมะเขือเทศสีดาลูกเล็กๆ เท่านั้น และเมื่ออายุได้ 3 วันหลังคลอด ขนาดกระเพาะอาหารจะเพิ่มความจุเป็นประมาณ 1 ออนซ์ และกระเพาะจะค่อยๆ ปรับตัวเพื่อรองรับปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของลูก
ในช่วงวันแรกๆ หลังคลอด น้ำนมที่ลูกได้รับในช่วงนี้จะเรียกว่า โคลอสตรัม หรือน้ำนมเหลือง ที่แม้มีปริมาณเล็กน้อย แต่เต็มไปด้วยคุณค่าโภชนาการ และสารภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาพบว่า ทารกสุขภาพดีที่กินนมแม่ในวันแรกเพียง 15-26 กรัมต่อวัน ก็เพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกาย สิ่งสำคัญคือการให้ลูกได้ดูดนมแม่บ่อยๆ และใกล้ชิดกับแม่ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมและให้กระเพาะของลูกค่อยๆ ปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
ด้วยเหตุที่น้ำนมแม่ย่อยง่าย ผนวกกับขนาดความจุของกระเพาะทารกที่ยังจุน้ำนมได้ทีละไม่มากนี่เอง ทำให้ลูกต้องตื่นมากินนมแม่บ่อยๆ โดยทั่วไปทารกจะตื่นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมง แต่หากในช่วงแรก น้ำนมแม่ยังมาไม่พอ ลูกอาจตื่นบ่อยกว่านั้น เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม เมื่อแม่มีน้ำนมเพียงพอและลูกได้รับในปริมาณที่เหมาะสมก่อนนอน ลูกจะเริ่มนอนหลับยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม หากกินนมแม่มากเกินไป ก็อาจทำให้ท้องอืดหรือไม่สบายตัว และวนกลับมาทำให้ตื่นบ่อยอีก
ในช่วงเดือนแรก การสังเกตจังหวะการให้นมและสัญญาณหิว-ง่วงจึงมีความสำคัญมากเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการกิน-นอนของลูก นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม เสียงรบกวน หรือปัญหาสุขภาพ เช่น อาการป่วยหรือฟันขึ้น ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนของเด็กได้เช่นกัน
-
ธรรมชาติการนอนของทารก
นอกจากการกินนมแม่ที่ย่อยง่าย ทำให้ทารกหิวบ่อยจนต้องตื่นมากินนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมงแล้ว การที่เด็กเล็กตื่นบ่อยในช่วงแรกเกิด ยังมีสาเหตุหลักมาจากพัฒนาการของสมองและนาฬิกาชีวภาพในร่างกายเด็ก (Circadian Rhythm) ซึ่งควบคุมโดยส่วนไฮโปธาลามัสของสมอง ซึ่งนาฬิกาชีวภาพนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ในช่วงเดือนแรกของชีวิต ทำให้ทารกไม่รู้จักกลางวัน-กลางคืน การตื่นนอน กินนม จึงยังไม่สม่ำเสมอ รวมไปถึงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายด้วย
เพราะสมองจะเรียนรู้กลางวันและกลางคืนได้ เมื่อสัมผัสกับแสงสว่างตามธรรมชาติก่อน เมื่อเด็กได้สัมผัสแสงในช่วงกลางวันและอยู่ในความมืดในตอนกลางคืน สมองจะค่อยๆ ปรับตัวและช่วยให้เด็กนอนหลับตอนกลางคืนนานขึ้นหลังอายุประมาณ 1-2 เดือน แต่หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มืดหรือสลัวตลอดเวลา นาฬิกาชีวภาพอาจแปรปรวน ทำให้ยังตื่นบ่อยตอนกลางคืนได้เช่นกัน
ฝึกลูกนอนยาว กี่เดือน
ช่วง 3 เดือนแรก เป็นเรื่องปกติที่ทารกจะตื่นทุก 2-3 ชั่วโมง หลังจาก 3 เดือนไปแล้วทารกจะเริ่มนอนหลับได้นานขึ้น และคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกนิสัยการนอนหลับยาวให้กับลูกได้ เมื่อลูกอายุประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไปค่ะ
ฝึกลูกนอนยาวตลอดทั้งคืน ไม่ตื่นแม้กินนมแม่
การฝึกลูกน้อยให้สามารถนอนหลับได้ยาวตลอดคืนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมองของลูก ในขณะเดียวกันยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอด้วย ต่อไปนี้เป็นวิธีฝึกลูกนอนยาวตั้งแต่ขวบปีแรก
-
สร้างความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน
ในตอนกลางวัน ควรเปิดม่านให้แสงแดดส่องเข้ามา หรือเปิดไฟให้บ้านสว่าง สร้างบรรยากาศคึกคัก เช่น เปิดเพลงหรือทำกิจกรรมที่มีเสียง ให้ลูกน้อยตื่นตัว รับแสงธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้นาฬิกาชีวภาพเริ่มทำงาน
ในตอนกลางคืน ลดแสงไฟในบ้านให้สลัว ทำบรรยากาศเงียบสงบ หากเปิดเพลง ให้เป็นเพลงกล่อมเบาๆ ที่เปิดซ้ำเดิมทุกคืนเพื่อสร้างความคุ้นเคย ปิดม่านให้ห้องมืด และลดเสียงรบกวนรอบข้าง
-
ปรับอุณหภูมิและบรรยากาศให้น่านอน
โดยอุณหภูมิห้องควรอยู่ที่ 25-26 องศาเซลเซียส ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เปิดเพลงกล่อมที่ผ่อนคลาย ช่วงเวลาก่อนนอนควรเลือกกิจกรรมทีผ่อนคลาย เช่น นวดตัวให้ลูก หรืออ่านหนังสือนิทาน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าถึงเวลาพักผ่อน
-
หลีกเลี่ยงการเล่นหรือหยอกล้อก่อนนอน
เพราะอาจทำให้ลูกตื่นเต้นและนอนหลับยากหากต้องพูดคุยกับลูก ควรใช้โทนเสียงต่ำหรือเสียงเรียบเพื่อลดความกระตือรือร้น
-
จัดตารางการนอนให้เหมาะสม
ควรกำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นให้เป็นกิจวัตร เช่น ให้ลูกตื่นช่วงเช้า (ประมาณ 6-7 โมง) และปลุกอย่างนุ่มนวลด้วยการเปิดหน้าต่างหรือเปิดเพลงเบาๆ เมื่อลูกนอนกลางวัน ให้จำกัดเวลานอนกลางวันให้เหมาะสม โดยนอนเพียง 1-2 ครั้งต่อวันเท่านั้น
-
สร้างกิจวัตรที่สม่ำเสมอ
การทำกิจวัตรซ้ำ ๆ ทุกวัน เช่น เวลาเข้านอนและเวลาตื่น จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้ง่ายขึ้น สมาชิกในครอบครัวควรร่วมมือกัน เช่น งดเสียงดังจากโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ขณะลูกเข้านอน
-
ความอดทนของพ่อแม่คือหัวใจสำคัญ
หลังคลอดมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย พ่อแม่ควรเข้าใจว่าการนอนสลับกันนอนเพื่อดูแลลูกนั้นเป็นเรื่องปกติ ลูกไม่ได้แกล้ง หรือตั้งใจจะรบกวน แต่เป็นธรรมชาติของเด็กแรกเกิดเอง เมื่อพวกเขาเริ่มเรียนรู้เวลาการนอนและตื่น ทุกอย่างจะค่อย ๆ เข้าที่ และช่วงเวลาที่เหนื่อยล้านี้จะผ่านไป
แม้ว่าลูกกินนมแม่จะตื่นบ่อยในช่วงแรก แต่ด้วยการปรับบรรยากาศ สร้างกิจวัตรที่สม่ำเสมอ และความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ ลูกก็จะค่อย ๆ เรียนรู้การนอนหลับยาวได้ในที่สุด การนอนเต็มอิ่มไม่เพียงช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แต่ยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลาพักผ่อน และพร้อมดูแลลูกน้อยด้วยพลังที่เต็มเปี่ยมในทุก ๆ วัน
ที่มา: โรงพยาบาลเพชรเวช , หมอชาวบ้าน , รพ.เด็กสินแพทย์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 ขั้นตอน วิธีทำให้ทารกหยุดร้องไห้ ภายใน 10 วินาที
พัฒนาการทารก 1 – 12 เดือน พัฒนาการที่สำคัญของลูกน้อยแต่ละเดือน มีอะไรบ้าง?
เด็กนั่งได้กี่เดือน ทารกเริ่มนั่งตอนไหน เช็ก! พัฒนาการ พร้อมวิธีฝึกลูกนั่ง