ทั่วโลกยอมรับว่านมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย และ WHO แนะนำให้ทารกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน และดื่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะ น้ำนมเหลือง ที่มีสารอาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ และร่างกาย ซึ่งสารอาหาร สำคัญใน น้ำนมเหลือง ที่ลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับ เช่น
- แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่สำคัญต่อระบบทางเดินอาหาร โดยจะต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสก่อโรคในลำไส้ แลคโตเฟอร์รินมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในทารก และยังช่วยเสริมให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
- MFGM (Milk Fat Globule Membrane) คือ เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันที่พบได้ในนมแม่ ผลิตจากต่อมน้ำนม ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มอนุภาคไขมันในนมให้คงรูปอยู่ได้ MFGM อุดมไปด้วยไขมันและโปรตีนชีวภาพมากกว่า 150 ชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองของลูกอย่างมาก
- DHA คือ กรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดยองค์ประกอบหลักในสมองมี DHA 40% และมี DHA ในจอประสาทตาถึง 60% DHA จะเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ ส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ร่างกายเราไม่สามารถสร้าง DHA เองได้ จะต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น และทารกจะได้รับ DHA จากนมแม่เท่านั้น
นี่เป็นสารอาหารสำคัญเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ในน้ำนมแม่เท่านั้น เพราะนมแม่มีคุณประโยชน์อย่างนี้ จึงทำให้คุณแม่ต่างตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ อาจเพราะน้ำนมมาน้อย ปัญหาสุขภาพ ภาระงาน หรือความจำเป็นอื่น ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน และในคุณแม่บางท่านที่มีน้ำนมเกินพอให้ลูกน้อย แล้วรู้สึกเสียดายหากต้องทิ้งไป ธนาคารนมแม่จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้ดื่มนมแม่ และแบ่งปันนมแม่ให้กับผู้ที่ต้องการ theAsianparent จึงจะแม่แนะนำธนาคารนมแม่และวิธีการบริจาคและรับบริจาคให้คุณแม่ได้รู้ เพื่อให้คุณแม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจค่ะ
รู้จักธนาคารนมแม่
หลักในการคัดกรองก่อนรับบริจาคของธนาคารนมแม่ที่ผ่านการรับรอง จะมีหลักเกณฑ์คล้าคลึงกัน คือ
- นมแม่ที่บริจาคจะต้องผ่านกรรมวิธีตรวจและฆ่าเชื้อโรคแล้วอย่างมีมาตรฐาน
- ต้องมีระบบธนาคารน้ำนมที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์
- มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับระบบทางการแพทย์อื่น ๆ
ขั้นตอนการบริจาค
- คุณแม่โทรติดต่อธนาคารนมแม่เพื่อขอบริจาคน้ำนม
- ซักประวัติ
- ตรวจน้ำนมเพื่อเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค
- มาบีบน้ำนมที่ธนาคารนมแม่
- เก็บน้ำนมลงในเครื่องพาสเจอไรซ์
- วิเคราะห์สารอาหาร ผ่านเครื่องสารอาหาร
- เก็บเข้าตู้เย็นอุณหภูมิ -21
- ส่งให้ทารกที่จำเป็น
ปัจจุบันสถาบันการแพทย์หลายแห่งจัดตั้งธนาคารนมแม่ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการบริจาคและผูรับบริจาค รวมถึงตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
ธนาคารนมแม่รามาธิบดี
ธนาคารนมแม่รามาธิบดีเป็นธนาคารนมแม่ที่เปิดรับบริจาคน้ำนมมารดาเพื่อนำไปใช้กับทารกป่วย หรือมีข้อจำกัดในการรับนมมารดา เช่น แม่เป็นโรคเลือด มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ติดสิ่งเสพติด ติดเชื้อเอชไอวี หัวนมแตก หรือในช่วงแรกที่แม่ยังไม่มีน้ำนม รวมถึงกรณีเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวน้อยให้ได้รับนมแม่
หากคุณแม่ท่านใดสนใจอยากร่วมเป็นผู้บริจาคหรือรับบริจาคน้ำนม สามารถสอบถามได้ที่ ธนาคารนมแม่รามาธิบดี ชั้น 6 อาคารศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ โทร. 02-200-4530 (จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.00 น.)
ธนาคารนมแม่ศิริราช
ธนาคารนมแม่ศิริราชทำหน้าที่จัดหาน้ำนมแม่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ให้แก่ทารกเกิดก่อนกำหนดและทารกเจ็บป่วยซึ่งมารดายังมีน้ำนมไม่เพียงพอโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทารกเป็นหลัก นอกจากนี้ธนาคารนมแม่ยังเป็นศูนย์ศึกษาดูงานของบุคลากรภายนอกองค์กร เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดในเรื่องกระบวนการผลิต การนำไปใช้ และผลของการใช้น้ำนมแม่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ (pasteurized donor human milk) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทารกป่วย หากคุณแม่ท่านใดสนใจอยากร่วมเป็นผู้บริจาคหรือรับบริจาคน้ำนม สามารถสอบถามได้ที่ ธนาคารนมแม่ศิริราช ชั้น 9 อาคารนันทมหิดล โรงพยาบาลศิริราช หรือ โทร. 02-414-1076 จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.00 น.)
ความเสี่ยงของการรับนมบริจาคน้ำนม
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำว่า การบริจาคหรือการให้นมแก่ลูกคนอื่นนั้นต้องอยู่ภายในความสมัครใจและความยินยอมทั้งสองฝ่าย และสิ่งสำคัญการคุ้มครองสิทธิเด็กให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย โดยแม่ที่ให้นมแก่ลูกคนอื่นนั้น จะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันทางการแพทย์ว่าไม่มีโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้แก่ เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ บี และซี และไซโตเมกกาโลไวรัส (CMV) รวมทั้งแม่ที่เสพสารเสพติดทุกชนิด เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น
การบริจาคนมแม่กันเองโดยไม่ผ่านธนาคารนมแม่ จะไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ ติดโรคติดต่อ โรคติดเชื้อจากขั้นตอนการเก็บปนเปื้อน ลูกแพ้อาหารที่ผ่านทางนมแม่ รับได้เฉพาะน้ำนมจากธนาคารนมแม่เท่านั้นค่ะ
สำหรับคุณแม่ที่รับบริจาคนมแม่ แนะนำให้คุณแม่แจ้งคุณหมอทารกแรกเกิดที่ดูแลลูกอยู่ให้ช่วยขอน้ำนมแม่จากธนาคารนมแม่ ซึ่งจะให้ฟรีกับกลุ่มทารกที่ป่วยหนักและทารกคลอดก่อนกำหนด ที่มีน้ำหนักแค่ 0.5 – 1 กิโลกรัม ลำไส้ของเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถย่อยนมทั่วไป เช่น นมวัว นมแพะ
คนไทยเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อเห็นว่าอะไรที่พอช่วยเหลือกันได้และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ ก็มักจะเข้าช่วยเหลือทันที แต่ในกรณีของนมแม่นั้น คุณแม่ควรปฏิบัติตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกน้อยจะมีสุขอนามัยที่ดีและปลอดจากโรคภัยต่าง ๆ นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มัดรวมประโยชน์ของ “แลคโตเฟอร์ริน” สารอาหารยืนหนึ่ง เรื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก
5 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกรักด้วยวิธีธรรมชาติ
นมแม่ 3 ระยะ น้ำนมเหลือง นมแม่ทั่วไป ต่างกันอย่างไร
สต็อกน้ำนมเหลือง สต็อกนมแม่หลังคลอด ทำอย่างไร แค่ไหนถึงพอ