พัฒนาสมองลูก ทั้ง 3 ส่วน ให้ฉลาดรอบด้านได้ไม่ยาก
สมองของคน มีน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม บรรจุอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ เพื่อป้องกันสมองไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือน สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาท ร้อยละ 90 ของเซลล์ประสาททั้งหมดในร่างกาย โดยเป็นเซลล์ประสาทประสานงานเป็นส่วนใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 สมองส่วนหน้า (forebrain หรือ เซรีบรัม) คือ สมองส่วนที่อยู่บนสุดและมีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันประมาณร้อยละ 85 ของน้ำหนักสมองทั้งหมด ทำหน้าที่
1. ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือดและความต้องการพื้นฐานของร่างกาย เช่น น้ำ อาหาร การพักผ่อน และการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด
2. สมองส่วนหน้าแบ่งเป็น 2 ซีกโดยสมองใหญ่ซีกซ้ายจะควบคุม ร่างกายซีกขวาสมองใหญ่ซีกขวาจะควบคุมร่างกายซีกซ้าย
3. ควบคุมเกี่ยวกับความคิด ความจำ เชาวน์ปัญญา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ความสามารถต่างๆ เป็นศูนย์การทำงานของกล้ามเนื้อ การพูด การมองเห็น การดมกลิ่น การชิมรส
ส่วนที่ 2 สมองส่วนกลาง (midbrain หรือ mesencephalon) เป็นสมองที่ต่อจากสมองส่วนหน้า เป็นสถานีรับส่งประสาท ระหว่างสมองส่วนหน้ากับส่วนท้าย ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของนัยน์ตา ทำให้ลูกตากลอกไปมา ควบคุมการปิดเปิดของ รูม่านตา ให้เหมาะสมกับปริมาณแสงสว่างที่เข้ามากระทบ โดยถ้าแสงมาก รูม่านตาจะเล็กแสงสว่างน้อยรูม่านตาจะขยาย
ส่วนที่ 3 สมองส่วนท้าย (hindbrain หรือ rhombencephalon) อยู่ติดกับสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่
1. ควบคุมการทำงานบางอย่างของร่างกาย เช่น การเคี้ยวอาหาร การหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า การหายใจ การฟัง
2. เป็นศูนย์กลางการควบคุมการทำงานเหนืออำนาจจิตใจ เช่น ไอ จาม สะอึก หายใจ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
3. ควบคุมระบบกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กันและควบคุมการทรงตัวของร่างกาย
เสริมสมอง 3 ส่วนให้ลูกน้อยฉลาดรอบด้าน
พัฒนาสมอง 3 ส่วนด้วยอาหาร
1. คาร์โบไฮเดรต สมองต้องการคาร์โบไฮเดรตในรูปน้ำตาลกลููโคสเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตในรูปที่ไม่ขัดสี เพราะการรับประทานแป้งและน้ำตาลมากเกินไปส่งผลให้สมองเฉื่อย
2. โปรตีน ทำหน้าที่ช่วยเป็นสารสื่อระหว่างเซลล์กับเซลล์ ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมัน และในหนึ่งสัปดาห์ควรรับประทานปลาน้ำลึกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เนื่องจากมีสารโอเมกา-3 ซึ่งเป็นสารบำรุงสมองที่สำคัญ
3. ไขมัน มีความสำคัญในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและเยื่อบุผิวของเนื้อเยื่อสมอง รับประทานเฉพาะไขมันหรือน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ กะทิ เป็นต้น
4. โคลีน เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงสมอง มีอยู่ในอาหารจำพวกข้าวกล้อง ข้าวโพด ซึ่งมีมากในส่วนที่เป็นจมูกข้าวโพด
5. กรดโฟลิก จำเป็นต่อระบบรับรู้อารมณ์ความรู้สึกในสมอง พบมากในกล้วย ส้ม มะนาว สตรอเบอร์รี แคนตาลูป ผักใบเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรือถั่วลันเตา และเป็นกรดที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ช่วยในการสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกจากแม่ไปสู่ลูก
พัฒนาสมอง 3 ส่วนด้วยกิจกรรมดี ๆ
เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัย 1-3 ปี คุณแม่จะเริ่มเห็นแล้วว่าลูกมีพัฒนาการทางด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ค่อนข้างเด่นชัดขึ้น นั่นเป็นเพราะเซลล์สมองส่วนนี้พัฒนาขึ้นมาก ยิ่งถ้าได้รับการกระตุ้นและส่งเสริมอย่างเพียงพอจะช่วยให้สมองพัฒนา พร้อมจดจำมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกมาทำกิจกรรมพัฒนาสมองกันค่ะ
1. นักปีนป่าย การเล่นปีนป่าย เป็นการฝึกกล้ามเนื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ ปีนป่ายเครื่องเล่นต่าง ๆ ในสนามเด็กเล่น การชวนลูกวิ่งเล่นไล่จับกลางแจ้ง เป็นต้น กิจกรรมนักปีนป่ายจะช่วยพัฒนาสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อใหญ่ การทรงตัว วิ่ง กระโดด เดินสลับเท้าปีนป่าย
2. เรียงร้อย บีบปั้น คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกปั้นดินน้ำมัน ระบายสี ในกรอบ ร้อยลูกปัด เล่นหุ่นมือหุ่นนิ้วร่วมกัน เพื่อพัฒนาสมอง ส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรง และทำงานร่วมกันได้ดี ทำให้ใช้มือได้คล่องมากขึ้น
3. กระต่ายขาเดียว คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกวิ่งไล่จับเป็นกระต่ายขาเดียว กิจกรรมนี้จะพัฒนาสมอง ส่วนควบคุมกล้ามเนื้อเล็ก กล้ามเนื้อใหญ่ ที่เคลื่อนไหวร่วมกันทั้งใช้มือไล่จับและขากระโดด
4. จ๊อกกิ้งวิ่งเหยาะ ๆ คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกวิ่งออกกำลังกายไปวิ่งเหยาะ ๆ ไปรอบ ๆ สวนสาธารณะ หรือไปยังที่ที่มีธรรมชาติสวยงาม เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ พร้อมกับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว
5. เต้นระบำโยกย้ายส่ายสะโพก คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกเต้นระบำโยกย้ายส่ายสะโพกให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยอาจจะให้ลูกได้ฝึกคิดท่าทางขึ้นเอง แล้วให้คุณพ่อคุณแม่เต้นตาม แล้วผลัดกันคิดท่าทาง ให้คุณพ่อคิดท่าทาง คุณแม่คิดท่าทาง สลับกันไป กิจกรรมนี้จะพัฒนาส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อเล็กใหญ่ให้ลูกรู้จักทรงตัว เลียนแบบ คิดสร้างสรรค์ได้อย่างดี
6. เก้าอี้ดนตรี คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกและเพื่อน ๆ หรือพ่อแม่จะเล่นร่วมกันกับลูก ๆ ก็ยิ่งดี โดยแย่งกันนั่งเก้าอี้ให้ได้เมื่อเพลงหยุด แล้วนำเก้าอี้ออกไปทีละตัวจนเหลือผู้ชนะ เพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเล็กใหญ่เคลื่อนไหว การทรงตัว ฝึกสมาธิ การฟังเสียง
7. เล่านิทานฮาเฮ กิจกรรมเล่านิทานชวนลูกผลัดกันเล่านิทานที่แต่งขึ้นเอง ให้ลูกคิด และเล่าให้พ่อแม่ฟัง หรือเล่านิทาน แล้วพ่อแม่ค้างไว้ แล้วให้ลูกแต่งต่อให้จบเพื่อพัฒนาจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ แต่งเรื่อง ฝึกใช้ภาษา การฟัง การพูด
8. เล่นกับเงา กิจกรรมเล่นกับเงาชวนลูกเล่นเงา โดยปิดไฟในบ้าน แล้วส่องไฟฉายไปยังมือที่ทำเป็นเงารูปต่าง ๆ เช่น สุนัข ผีเสื้อ ให้ลูกพากย์เสียงเล่าเรื่องฝึกจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ภาษา ฝึกเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
จะเห็นว่าการเสริมสมองของลูกทั้ง 3 ส่วนทำได้ไม่ยากเลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่ทำอาหารที่มีประโยชน์ และทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกับลูก เพียงเท่านี้สมองของลูกก็ได้รับการพัฒนาแล้วค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.student.chula.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 เมนูเพิ่มพลังสมองเสริมความจำให้ลูก
5 ทริคพัฒนาสมอง ลูกเล่นคนเดียวก็ฉลาดได้