ปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาการขาดเลือดสำรอง ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโพสท์ต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย ที่ประกาศขอรับบริจาคเลือด นั่นหมายความว่า ในประเทศไทยของเรานี้ ยังมีผู้คนที่ต้องการเลือดสำรอง เพื่อช่วยรักษา หรือต่อชีวิตให้กับเขา จึงมีการรับบริจาคเลือดขึ้น โดยเราสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ในการช่วยเหลือ หรือต่อชีวิตให้ผู้อื่นได้ ด้วย “การบริจาคเลือด”
การบริจาคเลือด คืออะไร ?
เลือด เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ของร่างกาย และเป็นสิ่งสำคัญ ในการใช้รักษาผู้ป่วย เปรียบเสมือนสายธารหล่อเลี้ยงชีวิต ตามปกติแล้ว มนุษย์เราจะมีเลือดไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ประมาณ 4,000 – 5,000 ซีซี ดังนั้น การบริจาคเลือดเพียงน้อยนิด ที่ไม่ถึง 10 % ของร่างกาย จึงไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายใด ๆ กับร่างกาย การบริจาคนั้น เป็นการสละเลือดส่วนเกิน ที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้ ไปใช้รักษาผู้ป่วย ในบางครั้ง กลับส่งผลดีต่อร่างกายอีกด้วย เพราะร่างกายมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดใหม่ ออกมาทดแทนเลือดที่เสียไป โดยสามารถบริจาคได้ทุกๆ 3 เดือน
อ่านเพิ่มเติม 11 ข้อควรรู้กับความเชื่อผิดๆ ของ การบริจาคโลหิต บริจาคเลือดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
คุณสมบัติของผู้บริจาคเลือด
- ผู้บริจาค ต้องมีอายุระหว่าง 18 – 60 ปี (หากอายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ ต้องมีหนังสือยินยอม จากผู้ปกครองตามกฎหมาย)
- ผู้บริจาค ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 45 กิโลกรัม
- ผู้บริจาค ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ลมชัก
- ผู้บริจาค ควรพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ผู้บริจาค ควรรับประทานอาหาร ก่อนบริจาคเลือดภายใน 4 ชั่วโมง
- ผู้บริจาค ต้องไม่อยู่ในระหว่างกินยาปฏิชีวนะ หรือยาละลายลิ่มเลือด
- ผู้บริจาค ต้องไม่ได้รับการถอนฟันภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการบริจาคเลือด รวมทั้งไม่มีบาดแผลสด หรือแผลติดเชื้อตามร่างกาย
ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก อัมพฤษ์ อัมพาต โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก โรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลิน หรือคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
- ผู้ที่เป็น หรือเคยเป็น ไวรัสตับอักเสบบี หรือคู่ครอง (สามีหรือภรรยา) เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อ HIV หรือซิฟิลิส
- ผู้เสพยาเสพติด ชนิดใช้เข็มฉีดยา
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน
- น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุมากกว่า 5 กิโลกรัม ในเวลา 2 เดือน มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-10 ชั่วโมง
- สุขภาพสมบูรณ์ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอไม่มีอาการป่วยใดๆ หรืออยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะใดๆ
- หลีกเลี่ยงยงอาหารที่มีไขมันสูง
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนรับบริจาค 24 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมงเพื่อให้ปอดทำงานได้เต็มที่ สามารถฟอกเลือดได้ดี
- ควรดื่มน้ำก่อนและหลังบริจาคเลือดให้มากๆ จะช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี
ข้อเสียของการบริจาคเลือด คืออะไร ?? หลายคนอาจสังสัย
ก็อาจจะจริง ที่ว่าการบริจาคเลือดนั้น สร้างประโยชน์หลายอย่าง ทั้งสามารถช่วย และต่อชีวิตของผู้คน ได้อีกมากมาย และถึงแม้ว่าการบริจาคเลือดนั้น จะมีกระบวนการที่ปลอดภัย และมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ได้สิทธิตรวจสุขภาพโลหิตก่อนบริจาค หรือถ้าบริจาคครบ ตามจำนวนครั้งที่กำหนด จะได้รับสิทธิสุขภาพประจำปี แต่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเสมอไป ข้อเสียจากการบริจาคเลือดบางอย่าง ที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจบริจาค โดยอาการที่พบบ่อยจากการบริจาคเลือด ได้แก่
- อาการฟกช้ำ
- มีเลือดออกอย่างต่อเนื่อง
- วิงเวียนศีรษะ และมีการคลื่นไส้
- ความอ่อนแอทางกายภาพ
แต่ว่าอาการที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด เป็นเพียงผลค้างเขียงจากการเสียเลือด หลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้ว หากมีอาการเหล่านี้ ทางผู้ดูแลหรือพยาบาลจะทำการรักษาในทันที หรือให้พักรอดูสังเกตอาการ ก่อนปล่อยกลับบ้าน หากยังมีอาการให้รีบติดต่อคุณหมอ หรือศูนย์บริจาคเลือดทันที
การบริจาคเลือด ไม่ได้น่ากลัว อย่างที่คิด แถมยังได้ประโยชน์มากมาย นอกจากจะช่วยต่อชีวิต และลมหายใจให้ผู้อื่นแล้ว ผู้บริจาคยังได้ประโยชน์ และสิทธิพิเศษต่าง ๆ อีกด้วย เรามาร่วมด้วยช่วยกัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศ และโลกของเราน่าอยู่ ด้วยการมีน้ำใน แบ่งปัน ให้ผู้ที่ขาดโอกาสกันเถอะ
ที่มาข้อมูล : Si.mahidol , Kkh.go.th
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การบริจาคอวัยวะ การให้ที่ยิ่งใหญ่ ต่อลมหายใจได้มากถึง 8 ชีวิต
บริจาคร่างกาย ขั้นตอนสู่การเป็น “อาจารย์ใหญ่” ผู้ให้ กับกุศลอันยิ่งใหญ่
บริจาคอวัยวะกับบริจาคร่างกาย ต่างกันยังไง มีวิธีการ ขั้นตอนยังไงบ้าง ?