ลูกขี้หูตัน ต้องแคะให้ลูกไหม ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มแคะหูลูกนั้น ขอเชิญฟังทางนี้กันก่อนเลยค่ะ เพราะ “ขี้หู” นั้นไม่ใช่ไม่ดีกับลูกนะคะ เรียกได้ว่ามีประโยชน์เสียด้วยซ้ำไปค่ะ ซึ่งก่อนที่เราจะไปทราบถึงสาเหตุว่าทำไมเราถึงไม่แนะนำให้แคะหูลูก เราไปทำความรู้จักกับขี้หู วิธีการดูแลขี้หู และทำไม ขี้หูมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
ขี้หูมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
ขี้หูเกิดจาก การรวมตัวของสาร ที่ขับออกมาจากต่อมไขมันที่อยู่ในหูชั้นนอกของเรา รวมกับผิวหนังชั้นบนที่ลอกหลุดออกมา โดยจะมีสีที่แตกต่างกันออกไปยกตัวอย่างเช่น สีเหลือง น้ำตาลหรือสีแดง ซึ่งการสะสมของขี้หูนั้นสามารถหลุดออกมาได้เอง และจะไม่เคลื่อนตัวเข้าไปยังส่วนลึกของรูหู ดังนั้น คุณแม่จึงไม่จำเป็นที่จะต้องแคะหูลูกค่ะ สำหรับประโยชน์ของขี้หูนั้น ในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีนั้น ขี้หูจะช่วยป้องกันผิวหนังของรูหูจากสิ่งต่าง ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เหงื่อ ฝุ่นละอองรวมไปถึงเชื้อโรค
ทำไมถึงไม่ควร แคะหูลูก?
นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ประจำสถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการใช้ไม้แคะหูเมื่อคันหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหูหลังอาบน้ำหรือสระผม หรือใช้ไม้พันสำลี แคะ ปั่น หรือแหย่เข้าไปในรูหูเพื่อแก้คัน หรือเพื่อเอาน้ำ เอาขี้หูออกมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจาก
1. การใช้คอตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่หรือมีขนาดใหญ่เท่ารูหูเข้าปั่นในหู เท่ากับเป็นการดันขี้หูให้ลึกเข้าไปในชั้นของหู จะเกิดปัญหาขี้หูอุดตันตามมา ส่งผลทำให้ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ต้องมาพบคุณหมอให้หยอดยาและดูดขี้หูออก ซึ่งถ้าผู้ทำไม่มีความชำนาญก็เสี่ยงต่อหูน้ำหนวกได้ โดยที่สถาบันบำราศนราดูร จะมีผู้ป่วยประเภทนี้ได้เดือนละประมาณ 100 กว่ารายมารับการรักษา
2. หากใช้คอตตอนบัดที่ไม่สะอาดมาใช้แคะหู จะทำให้เกิดอันตรายในขณะแคะหู และติดเชื้อจากคอตตอนบัดที่ไม่สะอาด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือหากแคะลึกเกินไป อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
3. การทำความสะอาดรูหู โดยใช้แอลกอฮอล์ชุบคอตตอนบัดเพื่อเช็ดทำความสะอาดในรูหูเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะแอลกอฮอล์ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น แต่จะทำให้ผิวหนังบริเวณรูหูแห้ง หากแอลกอฮอล์ไหลเข้าไปถึงบริเวณหูชั้นกลางที่มีแผลถลอกอยู่แล้ว ก็จะเกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมา ทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้
4.การใช้ไม้พันสำลีหรือคอตตอนบัด เข้าไปเช็ดทำความสะอาดภายในรูหู ก็ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะผิวหนังในรูหูบางมาก จะทำให้เป็นแผลถลอกในรูหู เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ พอแผลเริ่มหายมักจะเกิดอาการคัน และเมื่อมีอาการคัน ก็มักจะใช้ไม้แคะหูแก้อาการคัน กระทำวนเวียนกันไป ทำให้เกิดอาการหูอักเสบเรื้อรัง หรือบางคนใช้ไม้คอตตอนบัดปั่นลึก ก็อาจทำให้แก้วหูทะลุ มีอาการปวดในหูได้
5. ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้คอตตอนบัดทำความสะอาด เพราะเด็กมีรูหูที่ตื้น ก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : หู เด็กทารก ทำความสะอาดอย่างไร ให้ถูกต้อง แถมไม่ทำให้ลูก ๆ เจ็บ อ่านกันเลย !
วิธีทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี
นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข ให้คำแนะนำวิธีทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี ดังนี้
1. ทำความสะอาดเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหู โดยใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดเบา ๆ บริเวณใบหู และขณะอาบน้ำ สระผม
2. ระวังอย่าให้น้ำเข้าไปในรูหู หากรู้สึกว่ามีน้ำเข้าหูบ่อย ควรป้องกันโดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนขนาดประมาณหัวแม่มืออุดหูก่อนอาบน้ำสระผม
3. ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้คอตตอนบัดทำความสะอาด เพราะเด็กมีรูหูที่ตื้น ก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์
ในเมื่อตอนนี้เราก็ทราบถึงสาเหตุและประโยชน์กันแล้ว ดังนั้น วางอุปกรณ์ในมือลงเถอะค่ะ หยุดความคิดที่จะแคะหูลูกก่อน หากอยากทำความสะอาดหูให้ลูกละก็ ควรทำตามวิธีที่คุณหมอแนะนำกันนะคะ
ความผิดปกติของหูที่มักพบในเด็ก
1. ขี้หูอุดตัน หรือ ขี้หูแข็ง (Impact cerument)
ขี้หูลูกอุดตัน ขี้หู ทำหน้าที่คอยปกป้องหูและจะมีการขจัดออกได้เองตามธรรมชาติ มีบางครั้งที่ขี้หูจะจับตัวกันมากเกินไปบริเวณหูชั้นนอก จนทำให้ขี้หูมีลักษณะแห้งและแข็ง เกิดขี้หูอุดตันจนทำให้ลูกได้ยินไม่ถนัด ขี้หูอุดตันแบบนี้คุณแม่ห้ามแคะนะคะอันตรายอาจทำให้หูอักเสบได้และที่สำคัญลูกจะเจ็บมากค่ะ
สาเหตุของการเกิดขี้หูอุดตัน
โดยทั่วไปขี้หูจะหลุดร่วงเองตามธรรมชาติจากการหลุดลอกตัวของเซลล์ผิวหนังเก่าในรูหู โดยเคลื่อนตัวจากด้านในรูหูสู่หูชั้นนอก เมื่อขี้หูออกมาอยู่ด้านนอกก็จะแห้งและหลุดร่วงไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องมีการแคะออก แต่หากขี้หูถูกผลิตออกมามากหรือระบายออกได้ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดการอุดตัน ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมักเกิดจากการทำความสะอาดหูด้วยการใช้คอตตอนบัดหรือสิ่งของขนาดเล็กล้วง แคะ หรือเช็ดภายในช่องหู ทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปภายในช่องหูลึกมากขึ้นและมีเพียงบางส่วนที่หลุดติดออกมา
การรักษา
ยาหยอดหูที่ทำให้ขี้หูอ่อนนุ่มลง และสามารถกำจัดออกได้ง่าย เช่น ดอกคิวเสท โซเดียม (Docusate sodium) 0.5% กลีเซอรีน (Glycerin) หรืออาจใช้น้ำมันมะกอก (Olive Oil) หยอดหูครั้งละ 5 หยด และใช้สำลีอุดหูไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือข้ามคืน ทำซ้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน ขี้หูที่อัดแน่นอยู่จะอ่อนตัวและไหลออกมา ถ้าขี้หูไม่ออกควรไปพบคุณหมอเพื่อใช้เครื่องมือช่วยดูดขี้หูออกนะคะ ที่สำคัญห้ามเด็ดขาดคือ การน้ำประปาหยอดหู เพราะจะทำให้อักเสบติดเชื้อได้ค่ะ อันตรายนะคะอย่าทำ !!
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลือดออกในหู เพราะลูกจามบ่อย และสั่งน้ำมูกแรงเกินไป
2. หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis External)
เกิดจากหูได้รับการรบกวนจากการกระทำต่าง ๆ เช่น การแคะหู น้ำเข้าหูบ่อย ๆ ทำให้เกิดความชื้นขึ้นในหู หรือจากผื่นแพ้ในช่องหู ทำให้เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเจริญเติบโต ลูกมักจะมีอาการปวดหู หากเป็นมากอาจมีน้ำหนองไหลออกจากหูได้
การรักษา
ต้องทำให้ช่องหูแห้งเสียก่อนโดยการใช้สำลีพันก้านเช็ดบริเวณรอบ ๆ หูและในช่องหูอย่าเช็ดเข้าไปลึกมากนะคะ การเช็ดเช่นนี้จุดประสงค์เพื่อทำให้หูของลูกแห้ง ใช้ยาหยอดหูที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและต้านการอักเสบที่มีส่วนผสมของสเตรียรอยด์ หากมีอาการมากจำเป็นจะต้องรับประทานยาเพื่อต้านเชื้อที่เกิดขึ้น
3. หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media)
เป็นการอักเสบบริเวณระหว่างแก้วหูกับหูชั้นใน มักเกิดจากหลังเป็นหวัด ทำให้เกิดของเหลวขึ้นที่หูชั้นกลาง ซึ่งปกติจะเป็นโพรงอากาศ แต่เมื่อลูกจามหรือสั่งน้ำมูกรุนแรง เชื้อโรคจะแพร่เข้าไปและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในหูชั้นกลางได้ มักจะเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะความลาดชันในช่องหูของเด็กยังมีน้อย ดังนั้นเชื้อจึงแพร่กระจายขึ้นไปได้ง่าย ลูกจะมีอาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ ร้องโยเย และไม่ค่อยได้ยินเสียง
การรักษา
อาการเช่นนี้ต้องพาลูกไปพบคุณหมอเท่านั้น เพื่อรับยาต้านเชื้อโรคมารับประทานยาแก้ปวด และยาหยอดหู หรือทานยาลดอาการหูอื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำเข้าหูลูก ตอนอาบน้ำสระผม อาจนำสู่ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
วิธีการใช้ยาหยอดหู
1. คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดก่อนการทำความสะอาดใบหูและหยอดยาให้ลูก
2. ทำความสะอาดบริเวณใบหู ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำและเช็ดใบหูให้แห้ง
3. กำขวดยาไว้ในอุ้งมือ 2-3 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิยาให้ใกล้เคียงกับร่างกาย
4. หากยาที่ใช้หยอดหูมีลักษณะเป็นน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนใช้ประมาณ 10 วินาที
5. ให้ลูกนอนตะแคงหรือเอียงหูให้ด้านที่จะหยอดยาอยู่ด้านบน
6. เวลาหยอดยา คุณแม่ควรจับใบหูของลูกดึงเบา ๆ ลงด้านล่างและเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย
7. ใช้มืออีกข้างหนึ่งค่อย ๆ หยอดยา ตามจำนวนที่กำหนด ดูที่ฉลากยา ควรระวังไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับหู
8. เอียงหูข้างนั้นไว้ 2-3 นาที ให้น้ำยาไหลลงไปถึงแก้วหู อาจใช้สำลีอุดไว้
9. ปิดขวดยาให้เรียบร้อย คุณแม่ล้างมือให้สะอาดอีกครั้งค่ะ
ตอนนี้คุณแม่ก็ได้ทราบถึงอาการผิดปกติของหูลูกน้อยแล้วนะคะว่าหลัก ๆ จะมี 3 อาการ ได้แก่ ขี้หูอุดตัน หูชั้นกลางอักเสบและหูชั้นนอกอักเสบ ซึ่งหากเราแคะหูลูก ก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเหล่านี้ได้ ซึ่งหากลูกน้อยเกิดอาการอักเสบ คุณแม่สามารถนำวิธีใช้ยาหยอดหูทารกที่ถูกต้องข้างต้น ไปปฏิบัติตามได้เลยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีทำความสะอาดสะดือลูกน้อย สำหรับคุณแม่มือใหม่
ลูกคัดจมูก หายใจครืดคราด ทำความสะอาดจมูกลูกน้อย ง่าย ๆ
ลูกฉี่รดที่นอนทำความสะอาดยังไง รวมวิธีทำความสะอาดฉี่และกลิ่นบนที่นอนง่ายๆ
ที่มา : ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งชาติ