คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงกำลังกังวลใจ เมื่อฟันของลูกน้อยกลายเป็นสีเทา อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุที่มีผู้ใหญ่เห็น หรืออยู่ดี ๆ ฟันลูกก็กลายเป็นแบบนี้ไปซะแล้ว หากอยากรู้ว่า ฟันลูกเปลี่ยนเป็นสีเทาอันตรายไหม สาเหตุเกิดจากอะไร และจะมีวิธีรักษาหรือไม่ เรามาดูพร้อม ๆ กันเลยครับ
ฟันลูกเปลี่ยนเป็นสีเทาอันตรายไหม
ฟันที่เปลี่ยนเป็นสีเทา คือ ฟันตาย เรียกอีกอย่างว่าเนื้อในฟันตาย (Necrotic Pulp) เกิดขึ้นเมื่อเนื้อประสาทในฟันไม่มีเลือดไปเลี้ยง เนื้อเยื่อจึงตาย การมีฟันตายเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องได้รับการดูแลจากทันตแพทย์อย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อมาถึงจุดนี้ โพรงประสาทฟันด้านในกลายเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะเป็นหนองติดเชื้อทำให้ปวด บวมทรมาน หน้าบวม อ้าปากได้น้อยลง จนถึงทานอาหารไม่ได้ หรือหากเป็นรุนแรงมาก ๆ เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและร่างกาย ทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ครับ
สาเหตุที่ทำให้ฟันตาย
สำหรับเด็กแล้ว การที่ฟันตาย อาจเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก หากปวดจนหน้าบวมมาก หรือฟันสีไม่สวยบางครั้งเด็ก ๆ ก็อาจรู้สึกอายได้ ซึ่งสาเหตุบางประการของการเกิดฟันตายในเด็ก ได้แก่
- สาเหตุหลักส่วนใหญ่ของฟันตายในเด็ก มักเกิดจากการที่ฟันได้รับแรงกระแทก เช่น หกล้มฟันกระแทก ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่มองเห็น แผลบาดเจ็บบางตำแหน่งบนร่างกาย ร่วมกับบาดแผลบริเวณใบหน้า หรือริมฝีปาก อาจสงสัยได้ว่า ลูกอาจหกล้ม หน้าหรือฟันกระแทกของแข็งได้ หากปล่อยไว้ ฟันที่ถูกกระแทกนั้น เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟันอาจฟันฉีกขาด ทำให้ฟันตาย เปลี่ยนเป็นสีเทา และอาจมีตุ่มหนองขึ้นได้ในเวลาต่อมา คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจอย่างละเอียด และทำการรักษาที่เหมาะสม
- ฟันผุรุนแรง ทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จนถึงโพรงประสาทฟัน และไม่ได้รับการรักษา ทำให้การติดเชื้อลุกลามและทำให้ฟันตายได้ ฟันผุในเด็กนั้นสามารถป้องกันได้ด้วย การทำความสะอาดช่องปากที่ดี และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ การสอนเด็ก ๆ รักษาความสะอาดในช่องอย่างสะอาด และถูกต้องนั้นช่วยได้มากเลยครับ
- การจัดฟันแล้วฟันเคลื่อนตัวเร็วเกินไป ใช้แรงดึงฟันมากเกินไป ทำให้เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงฟันฉีกขาด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันตายได้เช่นกัน หากเป็นเด็กที่กำลังจัดฟันอยู่ ไม่ควรทำอย่างเร่งรีบจนเกินไป
- โรคเหงือก (ปริทันต์) ปัญหาในช่องปากหลาย ๆ อย่างส่งผลต่อสุขภาพฟัน ซึ่งโรคเหงือกก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันโยก ฟันเป็นหนอง ปวดฟัน และทำให้ฟันตายได้
- ฟันที่ไม่มีความสำคัญ เช่น ฟันคุด ฟันฝัง ฟันเกิน ฟันซ้อนที่ไม่สบ ฟันเหล่านี้จะกลายเป็นซีส เป็นหนอง ฟันผุ จนทะลุโพรงประสาทฟัน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันตาย
- ในบางกรณีที่ฟันซ้อนกันมาก ๆ เบียดกันจนทำความสะอาดได้ยาก ทำให้มีเศษอาหารติดบริเวณนั้น แปรงไม่ออกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จนฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันโดยไม่รู้ตัว และยังปล่อยไว้ ไม่รีบทำการรักษา จนฟันตายและเปลี่ยนสีได้
ปัญหาทั่วไปที่เกิดจากฟันตาย
ปัญหาที่ทำให้ฟันตายแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน และบางครั้งจะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อฟันตาย แต่บางครั้งก็อาจจะไม่ปวด การป้องกันฟันตายที่ดีที่สุดคือการตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ จะได้พบสาเหตุก่อนตั้งแต่เนิ่น ๆ และรีบทำการรักษาก่อนจะมีอาการปวดฟันและลุกลามมากขึ้น ส่วนอาการของฟันตาย ได้แก่
- ฟันมีสีคล้ำ สีเทา บางครั้งเป็นสีเทาปนน้ำตาลเข้ม สีเทาปนดำ สีฟันคล้ำเป็นหนึ่งในอาการแรกสุดในเด็ก อาการนี้จะนำไปสู่อาการฟันตาย ซึ่งเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงฟัน เนื่องจากนี่เป็นอาการเริ่มแรก ยิ่งคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปหาหมอฟันเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่ผลการรักษาจะสำเร็จออกมาดีได้มากขึ้นเท่านั้น
- การเคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวก อาจเป็นอีกอาการเริ่มต้นของฟันตาย เพราะอาจมีอาการเสียวฟันแปล๊บ ๆ เป็นบางเวลา และทำให้รู้สึกไม่สบายในระหว่างการเคี้ยวอาหาร หรืออาจจะรู้สึกปวดฟันรุนแรงในระหว่างกัด บดเคี้ยวอาหารได้
- เหงือกเป็นฝีหรือมีหนองออกมา ฟันตายอาจทำให้เหงือกเป็นฝีหรือหนอง หรือส่งกลิ่นเหม็นออกมาได้
- เป็นฝีฟันเฉียบพลัน ฝีทำให้เกิดอาการปวดและบวมรุนแรงอาจจะทำให้หน้าบวมมาก อ้าปากได้น้อยลง กินอาหารลำบากก่อให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างการเคี้ยวอาหาร
- ฟันไร้ความรู้สึก ไม่ตอบสนองต่อความร้อนและเย็น เนื่องจากฟันตายแล้ว ฟันที่ตายแล้วจะไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อทันตแพทย์ทำการทดสอบความไวของความรู้สึกต่อความร้อนและความเย็น แต่จะยังสามารถปวดฟันได้ตอนที่กัดฟันหรือเคี้ยวอาหาร
- ความเจ็บปวด เป็นความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีการปวดฟันโดยเฉพาะตอนกลางคืน การปวดนี้สามารถปลุกเด็ก ๆ ให้ตื่นขณะที่กำลังนอนหลับอยู่ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว ทรมานและสะเทือนใจสำหรับเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : เชื้อราในปากทารก ฝ้าสีขาวในช่องปากลูก เป็นเชื้อรารักษาอย่างไรดี?
การวินิจฉัยโรคฟันตาย
ฟันที่มีความไวต่อความรู้สึก หรือฟันสีดำไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณเป็นฟันตายเสมอไป อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้เป็นอาการที่ต้องได้รับการดูแลจากทันตแพทย์เด็กทันที การวินิจฉัยที่เหมาะสม ต้องมีการตรวจอย่างละเอียด ได้แก่
- เอกซเรย์ตรวจดูหลายจุดจากมุมต่าง ๆ
- การทดสอบอุณหภูมิ
- การทดสอบด้วยการคลำ
- การทดสอบด้วยการเคาะฟัน
- การทดสอบความมีชีวิตของฟัน
การรักษาฟันตาย
การรักษาฟันตาย ขั้นตอนและแผนการรักษาจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน และฟันแต่ละซี่ ควรปรึกษากับทันตแพทย์อย่างละเอียดและรอบคอบที่สุด เพื่อแผนการรักษาที่ดีและ สุขภาพฟันที่ดีของลูก การรักษาที่คนส่วนใหญ่เลือกทำ ได้แก่
- การรักษารากฟัน
- การตัดโพรงประสาทฟัน
- ครอบฟันเด็ก
- การถอนฟัน (แผนการรักษาขึ้นกับดุลพินิจของทันตแพทย์ผู้วินิจฉัย)
- ครอบฟันสีขาวครอบฟันที่ตายไปแล้ว ทั้งเสริมความแข็งแรงให้ฟันและเพื่อความสวยงามได้อีกด้วย (ในเด็กที่โตแล้ว)
- การถอนฟัน และใส่ฟันปลอมหรือทำรากฟันเทียม (ในกรณีเด็กที่โตแล้ว แผนการรักษาขึ้นกับดุลพินิจของทันตแพทย์ผู้วินิจฉัย)
ฟันลูกเปลี่ยนเป็นสีเทานั้นอันตรายจนอาจถึงขั้นสูญเสียฟันได้เลย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นตรวจสอบฟันของลูกน้อยด้วยนะครับ บางครั้งเด็ก ๆ อาจหกล้ม ฟันกระแทกของแข็ง หรือมีฟันผุมาก แต่คุณพ่อคุณแม่มองไม่เห็น จนมาพบอีกที่กลายเป็นฟันสีคล้ำ ๆ หรือ ปวดฟันจนมีหนองแล้ว การตรวจสอบฟันลูกบ่อย ๆ ก็ช่วยให้พบอาการผิดปกติได้เร็ว และรักษาได้เร็วขึ้น มีโอกาสหายดี ผลการรักษาสำเร็จได้มากขึ้น นอกจากนี้การแปรงฟันอย่างสะอาด และถูกต้องก็สำคัญไม่แพ้กันครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 วิธีเลือก แปรงสีฟันเด็ก เลือกอย่างไรให้เหมาะกับวัยของลูก
ฟันผุในเด็ก ฝันร้ายของเด็ก ๆ ที่ไม่อยากไปหาหมอฟันอีกเลย
แปรงลิ้น ตอนแปรงฟันดีอย่างไร? สอนลูกแปรงลิ้น จำเป็นหรือไม่