อีกหนึ่งปัญหาหนักอกหนักใจ สำหรับคุณแม่ทั้งหลาย เมื่อลูกน้อยมักจะปฏิเสธการกินนมผงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่นมของคุณแม่เองนั้นใกล้จะหมดเต็มที แล้วคุณแม่จะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี ลูกไม่กินนมผงเด็ก มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ เรามีคำตอบ พร้อมเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกันค่ะ
ลูกไม่กินนมผงเด็ก ปัญหาหนักใจของคุณแม่
บางครอบครัวเจอปัญหาของการปฏิเสธการกินนมผงของลูกน้อย ไม่ว่าจะหลอกล่อด้วยวิธีต่าง ๆ สารพัด ลูกก็มักจะใช้ลิ้นดุนขวดนมออกจากปากอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลถึงน้ำหนักตัวลูกที่ลดลง หรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ลำพังจะอาศัยแต่นมแม่เพียงอย่างเดียว ก็ดูจะมีอุปสรรคมากมาย เพราะคุณแม่หลาย ๆ คนก็มักประสบปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอ หรือถึงช่วงที่น้ำนมไหลน้อยเต็มที แล้วการที่ลูกไม่กินนมผงนั้น มีสาเหตุจากอะไร แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สาเหตุที่ลูกไม่กินนมผง
ทุกการกระทำย่อมมีเหตุและผล แม้แต่เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถพูดจาสื่อสารกับเราได้ก็เช่นกัน เขาจะใช้การกระทำเพื่อสื่อสารให้เราได้รับรู้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และการดื่มนมก็เช่นกัน การที่เด็กมักจะผลักขวดนมออก หรือใช้ลิ้นดุนจุกนมออกนั้น เราสามารถวิเคราะห์สาเหตุออกมาได้ดังนี้
-
ไม่ชินกับรสชาติ
แม้ว่านมผงสำหรับเด็กเล็ก จะถูกพัฒนา และผลิตออกมาให้คล้ายนมแม่มากเพียงใดก็ตาม แต่คุณสมบัติของน้ำนมแม่ กับนมผง ก็ยากที่จะทำให้เหมือนได้ โดยเฉพาะกลิ่น และรสชาติ ซึ่งกรณีของการเปลี่ยนนมแม่ให้เด็กหันมาทานนมผงชงดื่มแทนนั้น อาจมีสาเหตุมาจากน้ำนมแม่ที่ลดลง หรือความต้องการเพิ่มน้ำหนักตัวของลูกให้มากขึ้น และการที่เด็กนั้นได้ลิ้มรสชาติ และกลิ่นที่แปลกไปจากเดิม ก็เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความกังวล ไม่ไว้ใจ และปฏิเสธการกินนมในที่สุด
-
ไม่คุ้นชินกับการดูดนมจากขวดนม
กรณีนี้ มักจะพบเห็นในเด็กที่ดูดนมจากเต้านมแม่อยู่ตลอด ซึ่งเด็กจะรู้สึกคุ้นเคยกลิ่นของคุณแม่ และไออุ่นจากการกอดในขณะที่คุณแม่กำลังให้นม รวมถึงสัมผัสเต้านมนุ่ม ๆ ซึ่งแตกต่างจากการดูดจากขวดนมอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อคุณแม่เริ่มปรับเปลี่ยนจากการดูดนมจากเต้า มาเป็นดูดนมจากขวด แถมกลิ่นกับรสชาติของนมยังผิดแผกจากเดิมอีกด้วย ก็ไม่แปลกที่เด็กจะเกิดความระแวง และปฏิเสธการกินนมผง นมชง
-
ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์
เด็กบางคนจะรู้สึกเหงา และเป็นกังวล เมื่อกลิ่นของคุณแม่ที่มีอยู่ในน้ำนมนั้นเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ กลัวว่าจะถูกทิ้งบ้าง หรือปล่อยให้อยู่เพียงลำพังบ้าง จึงเกิดการเรียกร้องความสนใจ ด้วยปฏิกิริยาของการปฏิเสธการกิน ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นต้น
-
เกิดความเครียด เกิดการต่อต้านเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
ความเครียดที่มีการเปลี่ยนแปลง จะเป็นลักษณะของความรู้สึกอึดอัด เหมือนถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ในเด็กบางคนจะมีอาการต่อต้านเมื่อเขารู้สึกว่าถูกบังคับไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างชัดเจน แต่การปฏิเสธการกินนม ก็คืออาการต่อต้านอย่างหนึ่งของเด็กเล็กนั่นเอง
-
ขวดนม หรือจุกนม ไม่เหมาะสมกับเด็ก
ในกรณีของขวดนม หรือจุกนมที่ไม่เหมาะกับเด็กนั้น อาจเป็นเพราะขนาดของขวดนม หรือขนาดของจุกนม รวมถึงรูของจุกนม ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ก็มีผลทำให้เด็กรู้สึกไม่สะดวกสบายในการกิน ส่งผลให้เกิดการปฏิเสธการกินนมผงได้เช่นกัน
-
สามารถเลือกได้
สำหรับข้อนี้ ต้องปรับเปลี่ยนที่คุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก เด็กเล็ก แม้ว่าจะสื่อสารไม่ได้เต็มที่ แต่เขาจะรับรู้ได้ว่า เขาสามารถเลือกและปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ถูกใจได้ตลอดเวลา และเมื่อเขาได้รับนมผง เมื่อเขารู้ว่า หากเขาปฏิเสธนมชนิดนี้ เขาจะได้รับการเปลี่ยนนมกลับมาเป็นแบบที่เขาชอบใจดังเดิม เรียกได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ตามใจเต็มที่นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำการให้นมผงสำหรับเด็ก 3 เดือน เด็กคนไหนกินนมไม่ได้ต้องทำไง?
ทำอย่างไรให้ลูกกินนมผง
สำหรับเด็กที่อายุครบ 1 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ อาจไม่ต้องเครียดมากเท่าไหร่ หากเขาจะปฏิเสธการกินนมผง นมชง เพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถให้นมกล่อง UHT และอาหารเสริมต่าง ๆ ทดแทนได้ แต่สำหรับเด็กเล็ก เด็กแรกเกิด ที่คุณแม่ประสบปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของลูก นั่นคือปัญหาใหญ่ที่คุณแม่จะต้องเผชิญ เพราะจะปล่อยให้ลูกน้อยมีน้ำหนักตัวที่น้อย เนื่องจากไม่สามารถกินนมได้ หรือต้องทนหิว เพราะนมของแม่มีให้ไม่เพียงพอ ลองใช้เคล็ดลับเหล่านี้ดูนะคะ
-
ปรับเปลี่ยนนมผง
การที่ลูกน้อยไม่ยอมกินนมผง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กรู้สึกไม่ถูกใจนมผงยี่ห้อนั้น ๆ ดังนั้นในช่วงแรกที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มเสาะหานมผงที่เหมาะกับลูกน้อยของคุณ อาจซื้อในปริมาณที่น้อย เพื่อทดสอบความชอบใจ และไม่ก่อให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
-
มาตรการหักดิบ
กรณีนี้ต้องสวมวิญญาณคุณแม่ใจยักษ์พอสมควรเลยทีเดียว แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กต่อให้ปฏิเสธมากเพียงใดก็ตาม สุดท้ายเขาจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองหิวอย่างเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อเขาไม่มีนมแม่ให้รับประทานอย่างเคย และมักจะปฏิเสธนมผงอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือก เขาจะยอมกินแต่โดยดี แม้ว่าในช่วงแรก อาจมีอาการสำรอกน้ำนมออกมาเป็นระยะ หรือมีอาการงอแง แต่จะเป็นในช่วงแรก ๆ หลังจากนั้นเด็กจะเริ่มปรับตัวได้ และกินนมผงได้เองในที่สุด
-
พยายามอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กเกิดความสบายใจ
เด็กหลายคน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะน้ำนมที่กิน เพราะนอกจากรสชาติแล้ว กลิ่นของน้ำนมคุณแม่ก็เปลี่ยนไปอีกด้วย ไม่แปลงที่เด็กจะเกิดความระแวง เป็นกังวล ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ จนเกิดการปฏิเสธนมผงเกิดขึ้น การที่คุณแม่คอยโอบกอดในขณะให้นมผงชงดื่ม นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และสบายใจแล้ว กลิ่นตัวของคุณแม่เอง ยังสามารถทดแทนกลิ่นของน้ำนมแม่ที่ขาดหายไปได้อีกด้วย
-
ให้นมแม่ สลับกับนมผง นมชง
ในกรณีที่ยังคงมีนมแม่อยู่ในสต๊อกบ้าง แต่คุณแม่ยังคงกังวลกับปริมาณน้ำนมแม่ในอนาคตที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย การให้นมผง สลับกับนมแม่ จะเป็นวิธีการฝึกลูกอีกวิธีหนึ่ง โดยการแยกขวดนมอย่างชัดเจน ระหว่างนมแม่ และนมผง โดยเริ่มให้นมแม่ก่อนในมื้อแรก และมื้อถัดไปจะเป็นนมผง และสลับเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นชิน และไม่เกิดความเครียดจากการต่อต้านเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
-
การผสมนมผงกับนมแม่
วิธีนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายที่จะแนะนำ เนื่องจาก การนำน้ำนมทั้งสองประเภทนี้มาชงรวมกัน แม้ในทางปฏิบัติจะสามารถทำได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น สารบางชนิดของนมผง อาจทำปฏิกิริยา หรือสกัดคุณสมบัติบางตัวในน้ำนมแม่ ทำให้เด็กไม่สามารถรับสารอาหารจากน้ำนมแม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในทางกลับกันเมื่อมาเทียบกับการที่เด็กไม่ยอมกินนมผงนั้น วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ง่าย และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยในช่วงแรก ให้ใช้สัดส่วนการชงโดยให้น้ำนมแม่กับนมผงในปริมาณ 3 : 1 ในช่วง 2 – 3 วันแรก หลังจากนั้นค่อยปรับเปลี่ยนเป็น 2 : 2 และ 1 : 3 จนสุดท้ายคุณแม่จะชงเพียงนมผงอย่างเดียว เด็กก็จะไม่เกิดอาการต่อต้าน หรือปฏิเสธการกินเหมือนช่วงแรก เพราะเด็กจะเริ่มเรียนรู้ และคุ้นเคยกับกลิ่น และรสชาติ ที่แฝงมากับนมแม่นั่นเอง
ทั้งนี้การให้นมกับลูกน้อยนั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงปริมาณที่ให้ในแต่ละวัน ซึ่งเราสามารถเทียบปริมาณนมที่ให้จากน้ำหนักของเด็ก และควรชงในสัดส่วนที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขวางระบบการย่อยของตัวเด็กเอง เนื่องจากเด็กเล็กระบบการย่อยยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ถ้าคุณแม่ยังสามารถให้น้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง การให้น้ำนมแม่ นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังมีประโยชน์กับตัวเด็กในทุก ๆ ด้าน ซึ่งนมผงไม่สามารถเทียบได้
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมผง S26 สูตร 2
s 26 promil gold สูตร 2 ดีไหม s26 gold สูตร 2 นม s26 สูตร 2 โฉมใหม่ ดีไหม มีใครให้น้องทานบ้าง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
นมผงสำหรับเด็กท้องอืด นมสูตรย่อยง่าย เพื่อลูกน้อยที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย
นมผงเพิ่มน้ำหนัก นมสำหรับเด็กแรกเกิด พร้อมวิธีเพิ่มน้ำหนักเจ้าตัวน้อย
ลูกกินนมไม่หมด นมแม่ นมผง ลูกกินแล้วเหลือ ทำอย่างไรดี ?
ที่มา : board.postjung, kidminute