การกิน การนอนของทารกตั้งแต่แรกเกิด คุณแม่ใหม่ยังต้องการการเรียนรู้ เพื่อรู้จัก และรู้ใจเจ้าตัวน้อย โดยเฉพาะเรื่องการนอน การนอนของทารกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยในการเสริมสร้างการเจริญเติบโต แม้จะมีหลากหลายวิธีช่วยให้ทารกนอนหลับสบาย แต่มีอีกวิธีหนึ่ง คือ ไกวเปล เห่กล่อมทารกสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตเปลไกว มาดูกันว่าเปลไกวสำหรับทารกนั้นมีผลดีต่อพัฒนาการอย่างไร
ไกวเปล กระตุ้นพัฒนาการด้านสมอง และการทรงตัวของทารก
ไกวเปล กระตุ้นพัฒนาการด้านสมอง และการทรงตัวของทารก พัฒนาการสมองในช่วงเวลาสำคัญที่สุด คือ ตั้งแต่ 0 – 3 ปี จากข้อมูลการวิจัยพบว่า ร่างกายของเด็กจะมีการสร้างเซลล์สมองเหมือนกันทุกคน คือ เซลล์สมองจะแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ของน้ำหนักสมอง เมื่ออายุได้ 6 เดือน และจะเป็น 80 % ของสมองเมื่ออายุเพียง 3 ขวบ จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสทองของการกระตุ้น และพัฒนาเซลล์สมองให้ลูกอย่างแท้จริงเลย
แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับทารกออกมามากมาย แต่คุณแม่ของเราหลาย ๆ คนยังใช้การไกวเปลเห่กล่อมทารกอยู่ ในต่างจังหวัดบางทีจะเห็นใช้ผ้าขาวม้าผูกเป็นเปลให้ทารกน้อยหลับปุ๋ย หรือการใช้เปลไกวที่มีขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป การใช้เปลไกวเห่กล่อมทารกให้นอนหลับสบายมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเรียกว่าเป็นภูมิปัญญาตกทอดกันจนถึงลูกถึงหลาน การใช้เปลไกวคุณแม่อาจจะเพียงแค่ลูกน้อยนอนหลับสบาย แต่รู้ไหมคะว่า เปลไกวมีประโยชน์มากกว่านั้น
เปลช่วยเสริมพัฒนาการทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน
ไม่น่าเชื่อใช่ไหมล่ะว่าเปลไกวจะมีผลต่อพัฒนาการของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน ก่อนอื่นมาดูว่าเปลที่ใช้นั้นควรอยู่ในลักษณะใดจึงจะดีต่อทารก
1. ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนควรนอนในเปลที่มีขนาดเล็กที่สุดหรือกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในต่างประเทศมักจะใช้เปลที่มีขนาดเล็กมาก กระชับรับกับตัวทารกนั่นเป็นเพราะต้องการรักษาสภาพเดิมเหมือนตอนที่ทารกน้อยยังนอนอยู่ในท้องของคุณแม่ หลังจากนั้นค่อยปรับเปลี่ยนที่นอนเมื่อเจ้าหนูเริ่มโตขึ้น
2. การนอนเปลที่มีขนาดเล็กทำให้ทารกน้อยรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องของคุณแม่ จะทำให้หลับสนิท และนอนได้นานขึ้น โดยที่ไม่สะดุ้งตื่นบ่อย ๆ
3. เปลที่เลือกใช้ควรมีความโปร่งสบาย อากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น ไม่เก็บกลิ่น และฝุ่นวัสดุที่ใช้ต้องแข็งแรง และคุณภาพดี
4. การไกวเปลต้องทำอย่างนุ่มนวล เป็นจังหวะสม่ำเสมอไม่รุนแรง เพื่อให้ทารกไม่รู้สึกเวียนหัว แต่รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เปลเด็ก เปลนอนสำหรับทารก แบบไหนดี และปลอดภัยกับลูกน้อย
พ่อแม่รู้ไหม? เปลไกวเสริมพัฒนาการให้หนูได้นะ!
ตอนที่ทารกยังอยู่ในครรภ์สภาพครรภ์มีลักษณะโคลงเคลงไปมาตามกิจกรรมที่คุณแม่ทำไม่ว่าจะเป็นนั่ง ยืน เดินหรือนอนความรู้สึกเหมือนกับอยู่ในเปล เปลไกวเสริมพัฒนาการอย่างไร มาดูกันเลย
1. ขณะที่เปลไกวโคลงเคลงไปมาเมื่อแกว่งไกว ทำให้น้ำในหูมีการไหลเวียนตลอดเวลา ส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายในเรื่องการทรงตัวที่รวดเร็ว
2. การนอนเปลทำให้ทารกน้อยหลับสนิทและหลับได้นาน การหลับสนิทส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารแห่งการเจริญเติบโตหรือ Growth Hormone ออกมา ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และแข็งแรง
3. เมื่อเจ้าหนูตื่นขึ้นมายิ้มร่า อารมณ์ดี เพราะได้นอนเต็มอิ่มส่งเสริม และกระตุ้นพัฒนาการสมองให้สามารถเรียนรู้ จดจำ และช่างสังเกต เพราะสมองมีความพร้อมในการรับข้อมูลต่าง ๆ นั่นเอง
แม้ว่าในสภาพสังคมปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยอดีตที่มักจะใช้เปลไกวจากผ้าขาวม้า แต่ปัจจุบันเปลได้ถูกออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยผ่อนแรง คือเปลไกวอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลาในการทำกิจวัตรอื่น ๆ ได้ เปลไกวอัตโนมัติเช่นนี้ก็มีผลดีต่อทารกเช่นกันนะ
การนอนเปลกับที่นอนต่างกันอย่างไร
การนอนเปลนั้น เป็นการนอนที่จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเพราะ การแกว่งของเปลนั้นจะทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และสบายจนทำให้หลับได้รวมถึงการที่นอนเปลในแบบนี้นั้น จะช่วยทำให้เด็กที่ชอบร้องงอแงเวลากลางคืนนั้น ผ่อนคลาย หลับสบายและไม่เกิดความเครียด นอกจากนั้น ยังจะช่วยสุขภาพของลูกน้อยแล้วยังช่วยในส่วนของแม่ให้หลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพออีกด้วย
ทารกควรนอนเปลไหม
คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน มักจะได้รับคำแนะนำว่า ควรให้เด็กนอนเปล เพราะจะทำให้หลับได้นาน ในขณะที่หลายท่านก็ได้ยินมาว่า การให้ลูกนอนเปล จะทำให้ลูกหัวแบน ทำให้สมองลูกพัฒนาช้า แล้วแบบนี้ ทารกควรนอนเปลไหม อะไรคือคำตอบที่ถูกต้องกันนะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ย้ายลูกจากเปลไปใช้เตียง ได้ตอนไหน เมื่อไหร่ที่เด็กควรย้ายไปนอนเตียง?
ข้อเสียของการนอนเปล
ข้อเสียของการให้ลูกน้อยนอนเปลก็คือ เมื่อลูกน้อยโตขึ้น อาจจะทำให้ลูกมีอาการติดเปล เวลาไปไหนมาไหนไกล ๆ (แต่แนะนำเปลญวน พกพาสะดวก พับเก็บได้) และเวลาที่ลูกไม่ได้นอนเปลจะทำให้ลูกนอนหลับยาก อีกทั้งการให้ลูกนอนเปลตั้งแต่แรกเกิด ยังอาจทำให้ศีรษะของลูกไม่กลมสวยได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกหัวสวยล่ะไปดูต่อด้านล่างเลย
ทำอย่างไร ให้ลูกหัวสวย หัวทุย ไม่แบน ไม่นอนใหลตาย
นอกจากเรื่องสุขภาพของลูกน้อยแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวล คงหนีไม่พ้นเรื่องอยากให้ลูกหัวสวย หัวทุย หัวไม่แบน แต่ปัจจุบันเด็กหัวแบนกันมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยหัวแบนนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากทางการแพทย์แนะนำให้เด็กทารกนอนหงายมากกว่านอนคว่ำ เพื่อป้องกันภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคใหลตายในทารกนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว กระดูกของเด็กแรกเกิดนั้น เป็นกระดูกที่ยังอ่อน ดังนั้นหากเด็กนอนในตำแหน่งเดิมตลอดก็อาจทำให้กะโหลกศีรษะเปลี่ยนรูป และอาจเกิดภาวะหัวแบนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวแบนนั้นส่งผลต่อความสวยงามของรูปศีรษะของเด็กเท่านั้น ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เรามาดูกันว่า เคล็ดลับจัดท่านอนลูก ให้ลูกหัวทุย หัวสวย ป้องกันลูกหัวแบน ทำได้อย่างไรบ้าง
เคล็ดลับจัดท่านอนลูก ให้ลูกหัวทุย หัวสวย ป้องกันลูกหัวแบน
- ให้ลูกนอนตะแคงข้าง : จัดท่านอนให้ลูกนอนตะแคงข้าง โดยให้สลับข้างไปมา ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง
- สลับที่การนอน : สลับที่ในการนอนให้ลูกบ้าง แทนที่จะปล่อยให้เขานอนที่เดิมตลอด และพยายามให้ลูกหันมองไปในทิศทางต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวแบน
- นอนคว่ำได้ แต่ค่อนข้างอันตราย : ให้ลูกนอนคว่ำบ้างในช่วงที่เค้าตื่นนอน แต่หากลูกยังอยู่ในช่วง 3 เดือนแรก การนอนคว่ำค่อนข้างเป็นเรื่องอันตราย เนื่องจากเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะอ่อนที่สุด ทารกวัยนี้ยังไม่แข็งแรงพอ โดยเฉพาะกระดูกคอ และกระดูกสันหลัง จึงอาจทำให้เด็กขาดอากาศหายใจได้ หากจะให้ลูกนอนคว่ำ คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และระมัดระวังไม่ให้หมอน หรือสิ่งของอื่น ๆ มาอุดจมูกลูกได้
- เลือกที่นอนลูก : ใช้ที่นอนที่เหมาะสมสำหรับทารก ควรเป็นที่นอนแบบไม่ยุบตัว ไม่ควรนิ่มเกินไป ที่นอนควรเรียบเสมอกัน ไม่มีรอยแยกระหว่างหัวเตียงหรือด้านข้างของเตียง
- อุ้มลูก : ระหว่างวันควรอุ้มลูกสลับข้างไปมา ซ้ายและขวาบ้าง หรือหากพาลูกออกไปนอกบ้าน ก็อาจใช้เป้อุ้มเด็กได้
- คาร์ซีท หรือรถเข็นเด็ก : ไม่ควรให้ลูกนอนในคาร์ซีท หรือรถเข็นเด็กนานเกินไป
- สลับเต้าให้นมลูก : สลับเต้าให้นมลูก โดยทั่วไปหากลูกกินนมแม่ คุณแม่ก็มักจะให้นมลูกจากทั้งสองเต้าอยู่แล้ว แต่หากลูกกินนมจากขวด ก็ให้สลับท่าทางการนอนกินนมของลูกด้วยนะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำอย่างไรไม่ให้ลูกหัวแบน อยากให้ลูกโตมาหัวทุย สวย ต้องทำไง
ท่านอนที่เหมาะสมของทารกแต่ละวัย
-
ทารกแรกเกิด ถึง 3 เดือน
ท่านอนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กช่วงนี้ คือการนอนหงายและนอนตะแคง เนื่องจากเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะของลูกน้อยอ่อนที่สุด โดยเฉพาะกระดูกส่วนคอและกระดูกสันหลัง ดังนั้นใน 2 – 3 สัปดาห์แรก คุณแม่ควรจัดศีรษะทารกให้สลับด้านบ่อย ๆ ระหว่างนอนหลับจากเปลแล้วอุ้มลงนอนพื้นธรรมดา และการให้ลูกได้นอนท่าหงายยังเป็นการป้องกันโรคใหลตายในทารกหรือ SIDS ได้อีกด้วย
-
ทารก 4 – 6 เดือน
ในช่วงนี้กระดูกคอเริ่มแข็ง สามารถยกคอได้แล้ว คุณแม่สามารถปรับท่าทารกให้นอนคว่ำได้ เพราะท่านอนคว่ำจะช่วยปรับรูปทรงของหัวลูกให้ทุย และจะช่วยลดการนอนสะดุ้งหรือผวาในทารกได้อีกด้วย
-
ทารก 7 – 12 เดือน
เริ่มมีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถนอนได้ทั้งท่านอนหงาย ตะแคง และคว่ำได้ เพราะวัยนี้จะสามารถพลิกตัวกลับด้านได้ด้วยตัวเองแล้ว
การให้ลูกนอนเปลจะช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัยเหมือนอยู่ท้องแม่ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับสนิทได้นานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเลือกเปลให้ลูก โดยพิจารณาจากวัสดุที่ต้องแข็งแรง ปลอดภัย มีความโปร่งสบาย และต้องไม่อับชื้น รวมทั้งคุณแม่ต้องไกวเปลให้ลูกอย่างนุ่มนวล เป็นจังหวะ ไม่ไกวแรงมากเกินไป ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่น และนอนหลับสนิทมากยิ่งขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แนะนำ! 6 เปลโยก ยี่ห้อไหนดีที่ปลอดภัย และคุ้มค่ามากที่สุด
หมอนหัวทุย สำหรับเด็ก อยากให้หัวลูกทุยสวย ไม่แบน ต้องทำยังไง?
ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก ที่นอนทารกแรกเกิด ต้องเป็นแบบไหน
ที่มา : 1