ของหวาน เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบ และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ใหญ่อย่างเราก็ชอบด้วยเช่นกัน ของหวาน ๆ ที่ว่านี้ ดีต่อสุขภาพเด็กด้วยไหม theAsianparent Thailand จะมาเล่าให้ฟัง
ของหวาน ให้โทษไหม
อย่างที่ทุก ๆ คนรู้กันอยู่แล้ว ว่าของหวาน ก็คืออาหารรสชาติหวาน ที่คนมักรับประทานหลังจากทานข้าวเสร็จ เช่น ไอศกรีม คุ้กกี้ เค้ก พุดดิ้ง เป็นต้น โดยของหวานส่วนใหญ่นั้น มีสารอาหารน้อย และมักจะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสี ไขมันทรานส์ และน้ำตาล ซึ่งการรับประทานของที่หวานที่มีน้ำตาลสูง จะทำให้เด็กอิ่มไว จนไม่อยากรับประทานอาหารชนิดอื่นที่มีประโยชน์ แถมยังอาจทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ฟันผุ และมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น
- ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นหวัด เป็นไข้ได้ง่าย
- มีความสามารถในการจดจ่อลดลง
- เสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย
- ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง
- ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ
- ลำไส้มีปัญหา ระบบขับถ่ายไม่ดี ทำให้ท้องเสีย
- เป็นโรคเบาหวาน และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
- แพ้น้ำตาล เนื่องจากรับประทานน้ำตาลมากเกินไป
- เสี่ยงเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
- เสี่ยงเป็นโรคหอบหืด
- การมองเห็นแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะต้องห้ามไม่ให้เด็กกินของหวาน จริง ๆ แล้วเด็กยังคงกินของหวานได้ แต่คุณแม่ควรให้น้องกินแต่พอดีพอเหมาะ เพราะปัญหาสุขภาพเหล่านี้ มักเกิดจากการที่เด็กกินน้ำตาล หรือกินของที่รสชาติหวานจนเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรค เบาหวาน เกิดจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานคืออะไร?
ของหวานที่มีน้ำตาลสูง ของหวาน ต้องระวัง
ขนมหวานมีมากมายหลายประเภท โดยคุณแม่ควรพึงระวังของหวานที่มีน้ำตาลสูงต่อไปนี้
- ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาล
- มะขามคลุกน้ำตาล
- พุทราจีนอบแห้ง
- ไอศกรีมโคน
- กล้วยบวชชี
- ขนมหม้อแกง
- น้ำอัดลม
- น้ำผลไม้
- ทุเรียนกวน
- ชาไข่มุก
- กาแฟ
- อินทผลัม
- ชาเขียว
- ลูกเกด
- เค้ก
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำตาล ภัยร้ายทำลูกป่วย
ของหวานแบบไหนที่ไม่อันตราย
ยังมีอาหารหรือขนมบางชนิด ที่เด็ก ๆ สามารถกินทดแทนของหวานที่พวกเขาชอบได้ หากลูก ๆ อยากกินของหวาน แต่คุณแม่ก็เป็นห่วงสุขภาพของน้อง ๆ แนะนำให้ทดแทนของหวานด้วยอาหารต่อไปนี้
- น้ำเปล่าผสมเลม่อน น้ำส้ม มะนาว หรือบวบที่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ
- สมูทตี้ทำเอง ที่ทำจากนม โยเกิร์ต และผลไม้
- พุดดิ้งหรือขนมทำเอง แต่ใส่น้ำตาลน้อย
- แอปเปิ้ล มะม่วง หรือสัปปะรดที่หั่นเป็นชิ้น
- เครื่องดื่มอัลมอนด์ที่ไม่มีน้ำตาล
- โยเกิร์ตรสจืดผสมผลไม้บด
- น้ำเต้าหู้ไม่ผสมน้ำตาล
บางคนอาจจะกำลังสงสัย ว่าจะใช้สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาลได้ไหม คำตอบก็คือได้ เพราะมีส่วนผสมที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ก็ไม่ควรน้ำมาใช้ผสมอาหารบ่อย จนเด็กไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้อง : การจำกัดปริมาณน้ำตาลในอาหาร สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
ของหวาน ๆ มีประโยชน์บ้างหรือเปล่า
ถึงแม้การรับประทานของหวานมากไปจะไม่ดีต่อสุขภาพ แต่หากทานในปริมาณที่เหมาะสม ก็อาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน ดังนี้
ของหวานทำให้อารมณ์ดี ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาหารหรือของหวานที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ช่วยทำให้ร่างกายและสมองหลั่งสารเซโรโทนินออกมา ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้อารมณ์ดี ช่วยผ่อนคลายและลดความเครียด หากวันไหนน้อง ๆ งอแง ไม่เชื่อฟัง ลองให้เขากินของหวานในปริมาณที่พอเหมาะ และลองสังเกตดูว่า เขาอารมณ์ดีขึ้นไหม
ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีงานวิจัยทำการสำรวจผู้ชายสวีเดน ที่มีอายุระหว่าง 45-79 ปี โดยให้ทานดาร์กช็อกโกแลตเป็นประจำ เป็นเวลา 10 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่าคนที่ไม่ได้กินดาร์กช็อกโกแล็ตถึง 17% ทีนี้ หากน้อง ๆ คนไหนชอบทานดาร์กช็อกโกแลต ก็สามารถให้เขาทานได้ แต่อย่าให้ทานเยอะจนเกินไปก็พอ
มีสารอาหารเยอะ แม้ของหวานจะน้ำตาลเยอะ แต่ของหวานบางชนิดนั้น มีสารอาหารอยู่มากมาย ซึ่งก็คือคาร์โบไฮเดรตนั่นเอง และแม้ว่าคาร์โบไฮเดรตในของหวาน จะไม่ได้ให้พลังงานแก่ร่างกาย มากเท่าคาร์โบไฮเดรตที่หาได้จากอาหารชนิดอื่น แต่ก็ช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกายได้ หากกำลังมองหาของหวานที่ให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แนะนำให้ทานพายฟักทอง และดาร์กช็อกโกแลต เพราะของหวานสองอย่างนี้ มีวิตามิน ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ
ช่วยลดน้ำหนัก มีงานวิจัยทำการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างทานของหวานเป็นอาหารเช้า พบว่า การทานของหวานช่วยให้กลุ่มตัวอย่างลดน้ำหนักได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ผลไม้ลดความอ้วน ผลไม้น้ำตาลน้อย กินยังไงก็ไม่อ้วน กินแล้วดีต่อร่างกาย
ของหวาน กินอย่างไรให้ปลอดภัย
หลาย ๆ ครอบครัว มักจะทานของหวานกัน หลังจากที่ทานข้าวเสร็จ ซึ่งเมื่อคุณแม่เข้ามาอ่านบทความนี้ ก็อาจจะเริ่มกังวลเกี่ยวกับสุขภาพเด็ก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำทริคในการรับประทานของหวานให้ปลอดภัย ที่คุณแม่นำไปใช้ได้ ดังนี้
1. ไม่ให้เด็กกินของหวานเพียงลำพัง เพราะอาจทำให้กินเยอะมากผิดปกติ
2. อย่าให้เด็กหักดิบจนเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำตาล จนสุดท้ายต้องรับประทานของหวานทีละมาก ๆ
3. ผสมอาหารที่มีประโยชน์เข้ากับของหวาน โดยอาจให้เด็ก ๆ ทานไอศกรีมคู่กับผลไม้ หรือทานกล้วยจุ่มกับช็อกโกแลต
4. ทำของหวานให้เด็กทานเอง เพราะเราสามารถเลือกได้ว่าจะใส่น้ำตาลปริมาณเท่าไหร่
5. สอนให้เด็กกินของหวานตามโอกาส กินเป็นครั้งเป็นคราว และไม่กินทุกวัน
6. ให้เด็กรับประทานของหวานที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติอย่างผลไม้หรือน้ำผึ้ง
7. ไม่ให้เด็กรับประทานของหวานที่ผสมน้ำตาล แป้ง และเนย
8. ตกแต่งผลไม้ให้ดูน่ารับประทาน ดึงดูดใจเด็ก
9. ไม่ให้ขนมหวานหรือลูกอมเป็นของรางวัลเด็ก
10. ไม่ให้เด็กรับประทานของหวานก่อนนอน
ความจริงแล้ว อาหารที่เรากินอยู่ทุกวันอย่างนมสด ผลไม้ และผักบางชนิด มีน้ำตาลอยู่แล้ว แถมยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะฉะนั้นการรับประทานสิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
การรับประทานของหวานนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรับประทานมากไป สามารถก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม หากน้อง ๆ ยังอยากกินของหวานอยู่ คุณแม่สามารถให้น้อง ๆ รับประทานได้ เพียงแต่ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในของหวาน และไม่ให้เด็กกินของหวานพร่ำเพรื่อ รวมทั้งควรสอนให้เขาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
ที่มา : clevelandclinic , unlockfood , nyahomedical , goodparentingbrighterchildren , despinascafe , wikipedia , mthai