คุณพ่อคุณแม่มักจะวิตกกังวลเมื่อลูกน้อยของคุณมีไข้ ไม่สบาย เพราะยังไม่สามารถสื่อสารบอกอาการกับคนอื่นได้ เราทำได้เพียบสังเกตุอาการ และคอยให้ยาลดไข้เพื่อบรรเทา แต่การจะให้ ยาลดไข้สำหรับเด็กแรกเกิด เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองอย่างเราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ยาลดไข้แบบไหนถึงจะเหมาะกับลูกของเรา แล้วถ้ายาลดไข้สำหรับเด็กไม่มี เราจะเอายาของผู้ใหญ่มาใช้แทนได้หรือไม่ วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกับ นพ. วรณัฐ ปกณ์รัตน์ (คุณหมอวอร์ม) แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป กันค่ะ
อุณหภูมิแค่ไหนเรียกว่าเป็นไข้?
ก่อนอื่นต้องมาดูกันก่อนว่า อุณหภูมิขนาดไหน เราถึงจะนับว่าเด็กเป็นไข้ แล้วอุณหภูมิแค่ไหน จัดว่าไข้ขึ้นสูง
- อุณหภูมิระหว่าง 37.5 – 38.4 C ไข้ระดับนี้ เรายังนับว่าเป็นไข้ปกติ ที่เราสามารถให้ยาลดไข้ทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการเองได้
- อุณหภูมิระหว่าง 38.5 C ขึ้นไป จัดว่าเป็นไข้สูง ซึ่งยาลดไข้ทั่วไปอาจจะไม่ค่อยได้ผล ผู้ปกครองควรทำการเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุณหภูมิปกติเพื่อทำการลดความร้อนในตัวเด็กก่อน หากอุณหภูมิลด สามารถให้ยาลดไข้ได้ตามปกติ แต่หากไม่ลดลง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- หากเด็กมีอุณหภูมิสูงกว่า 39 C มีความเสี่ยงเกิดอาการชัก มีผลต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาว ดังนั้นควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ให้ไวที่สุด
ยาลดไข้สำหรับเด็กแรกเกิด แบบไหนถึงจะเหมาะกับเด็ก?
ยาที่ใช้ในเด็กมักอยู่ในรูปของยาน้ำ เพราะมีการกะปริมาณที่ง่าย สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวไม่มากเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงไม่แนะนำการแบ่งเม็ดยาสำหรับผู้ใหญ่ มาบดผสมน้ำ เนื่องจากอาจได้ปริมาณที่ไม่ตรงความต้องการ ถ้าขนาดยาน้อยเกินไป อาจจะไม่มีผลในการรักษา แต่ถ้ามากเกินไป ก็จะเป็นการให้ยาเกินขนาด เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นหวัดอาบน้ำได้ไหม สระผมได้หรือเปล่า ลูกป่วยไม่สบายควรดูแลอย่างไร?
การให้ยาลดไข้กับเด็กเล็ก
ในกรณีที่เด็กมีไข้ ผู้ปกครองสามารถให้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ (สำหรับเด็ก) ได้ทันที โดยให้ปริมาณตามน้ำหนักของเด็กเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงอายุ และส่วนสูง และสามารถให้ซ้ำได้ทุก ๆ 6 ชั่วโมง หากไข้ยังไม่ลด โดยระหว่างนั้น ผู้ปกครองสามารถเช็ดตัวเด็ก ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง เพื่อเป็นการช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายให้กับเด็ก ก็จะทำให้ไข้สามารถลดลงได้เร็วยิ่งขึ้น (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำใส่น้ำแข็งเช็ดตัว)
การเลือกซื้อยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ ควรเลือกอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำสำหรับเด็ก มีจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อ แต่โดยทั่วไป ทุกยี่ห้อจะมีตัวยาลักษณะเดียวกัน ดังนั้นผู้ปกครองสามารถเลือกซื้อยาได้ตามความสะดวก แต่สิ่งที่สำคัญกว่ายี่ห้อยาคือ ผู้ปกครองควรใช้ยา หรือให้ยากับลูกน้อยของคุณ ในปริมาณที่ฉลากกำกับเอาไว้อย่างเคร่งครัด หรือตามที่แพทย์สั่ง เพื่อความถูกต้อง และปลอดภัย
การให้ยาแก้ไข้ ผสมกับน้ำนม ทำได้หรือไม่?
โดยทั่วไป คุณหมอวอร์มแนะนำให้ผู้ปกครองให้ยาน้ำแก้ไข้แยกกับการให้นมบุตร โดยให้ทานยาก่อน แล้วเว้นช่วงสักนิด แล้วค่อยให้นมตาม เนื่องจากถ้าผสมยาลดไข้ในน้ำนม สารโปรตีนในน้ำนมอาจจะจับตัวกับตัวยา ทำให้ยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ หากกรณีที่เด็กดูดนมไม่หมด หรือมีนมตกค้าง ก็เป็นไปได้ว่า เด็กได้รับตัวยาไม่ครบตามที่กำหนดอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฉีดวัคซีนแล้ว ทำไมลูกถึงไม่สบาย อาการต่าง ๆ หลังการรับวัคซีน มีอะไรบ้าง
การให้ยาลดไข้บ่อยครั้ง ส่งผลเสียกับลูกหรือไม่?
คุณหมอวอร์มได้กล่าวถึงอาการไข้ของเด็ก ว่าเป็นการตอบสนองทางร่างกาย ซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อจากสิ่งแปลกปลอม หรือแม้แต่การได้รับการฉีดวัคซีน สิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กวัยนี้คือ ไม่ควรให้เด็กมีไข้นาน เพราะจะทำให้เสี่ยงกับภาวะขาดน้ำได้ และถ้าหากเด็กมีไข้สูงนาน ๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการชัก ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของตัวเด็ก ดังนั้น การให้ยาลดไข้ และเช็ดตัว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญมากกว่า แต่ถ้าหากให้ยาลดไข้แล้ว เช็ดตัวแล้ว แต่ไข้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยด่วน
ภาวะขาดน้ำของเด็กเล็ก เราควรให้เด็กดื่มน้ำเปล่าทดแทนใช่หรือไม่?
ในกรณีที่เด็กเป็นไข้ และมีการสูญเสียน้ำในร่างกายมากเกินไป โดยปกติเราจะเข้าใจว่าจะต้องให้เด็กกินน้ำเพิ่มเติม แต่มีบทวิจัยเกี่ยวกับ เด็กทารกควรให้ดื่มแต่น้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องให้น้ำเปล่า หากเป็นกรณีร่างกายขาดน้ำแบบนี้ เราควรที่จะให้น้ำเปล่ากับเด็กด้วย หรือควรที่จะให้นมแม่กับเด็กเพียงอย่างเดียว
จากกรณีนี้ คุณหมอวอร์มได้ให้คำตอบว่า “ในทางการแพทย์ น้ำนมแม่ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทารก เพราะเป็นสารน้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น และมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก ดังนั้น การให้นมแม่อย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เด็กได้สารน้ำครบถ้วนอยู่แล้ว และย่อมดีกว่าการให้น้ำเปล่า อย่างไรก็ดี ถ้าเด็กมีไข้สูงและดูดนมน้อย ก็อาจจะเสี่ยงกับภาวะขาดน้ำได้อยู่ ในกรณีนั้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และ พิจารณาว่าต้องให้สารน้ำเพิ่มทางหลอดเลือดดำหรือไม่ เป็นต้น”
ใช้ยาลดไข้บ่อย ๆ จะเกิดการดื้อยาหรือไม่?
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลาย ๆ คนอยากรู้และเป็นกังวล ซึ่งคุณหมอวอร์ม ก็ได้กล่าวว่า “การดื้อยา เป็นศัพท์ที่ใช้ในกลุ่มยาปฏิชีวนะเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงการที่เชื้อโรค (แบคทีเรีย) เริ่มทนต่อฤทธิ์ยา มีสาเหตุมาจากการหยุดยาปฏิชีวนะเร็วเกินไป หรือ ขนาดยาไม่ถึงระดับ แต่ไข้เกิดจากสารเคมีที่เม็ดเลือดขาวผลิตขึ้น และยาลดไข้ก็ช่วยต้านฤทธิ์สารดังกล่าว เพื่อบรรเทาอาการ จึงไม่เกิดภาวะดื้อยาใด ๆ แม้จะมีการใช้หลายครั้ง”
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ก็สามารถไว้วางใจกับการให้ยาลดไข้ลูกกันแล้วนะคะ เพราะเป้าหมายที่สำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ คือการไม่ให้เด็กมีภาวะไข้ตัวร้อนเป็นเวลานานเป็นสิ่งที่เราจะต้องโฟกัสมากที่สุด
สุดท้ายนี้ คุณหมอวอร์ม ยังฝากย้ำถึงผู้ปกครองเด็กอีกว่า ถ้าเด็กมีไข้ ก็จะแนะนำให้เช็ดตัว และใช้ยาลดไข้ แต่ถ้าไข้ยังไม่ทุเลาใน 2-3 วัน ก็ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและตรวจรักษาเพิ่มเติม
ขอขอบคุณ : นพ. วรณัฐ ปกณ์รัตน์ (คุณหมอวอร์ม) แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมื่อลูกไม่สบายจะพาไปฉีดวัคซีนดีไหม?
วิธีตวงยาน้ำ และอุปกรณ์ตวงยาน้ำ ตวงยาลดไข้ของลูก แก้อาการลูกเป็นไข้ ตวงยาน้ำอย่างไรให้พอดี
แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม ถ้าลูกเข้าเต้าตอนเราป่วยลูกจะป่วยไหม?