7 ประโยชน์ที่ยกให้ "นมแม่" ชนะเลิศ

ความสำคัญของนมแม่เริ่มต้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิตที่ลูกเกิด เพราะน้ำนมแม่มีประโยชน์มหาศาล เป็นวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่สู่ลูกน้อย และอีกนานาประโยชน์ของนมแม่ที่ทุกคนต่างยกให้ “นมแม่” ชนะเลิศ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ (UNICEF) แนะนำตรงกันว่า ลูกควรได้ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนเป็นอย่างน้อย และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือจนกว่าน้ำนมแม่จะหมด แล้วทานควบคู่กับอาหารตามทานอาหารวัย เพราะน้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพราะมีองค์ประกอบทางโภชนาการที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย และอารมณ์อยู่อย่างครบถ้วน

#1 สารอาหารที่จำเป็นกับลูกล้วนอยู่ในนมแม่

สารอาหารในน้ำนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาหลังการคลอดเพื่อให้เหมาะสมกับตัวลูกน้อย ผ่านกระบวนการสร้างน้ำนมในร่างกายของแม่ที่เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ 

ระยะที่ 1 น้ำนมเหลือง (Colostrum) จะพบในช่วง 1 – 3 วัน หลังคลอด น้ำนมจะมีสีเหลือง เนื่องจากมีแคโรทีนสูงกว่านมระยะหลัง ๆ น้ำนมระยะนี้เป็นน้ำนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารนานา ได้แก่

  • โปรตีน ในนมแม่มีมากกว่า 1,000 ชนิด โดยนมแม่ระยะนี้จะพบโปรตีนที่ชื่อว่า แลคโตเฟอร์ริน มากกว่าโปรตีนชนิดอื่น ๆ โดยมีประมาณ 6 กรัมต่อลิตร ซึ่ง แลคโตเฟอร์ริน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ไวรัสได้ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย 
  • ไขมัน ในนมแม่เป็นไขมันที่ย่อยง่าย และมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น DHA และ AA (Arachidonic Acid) ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น
  • คาร์โบไฮเดรต พบโอลิโกแซคคาไรด์ หรือ คาร์โบไฮเดรตสายสั้น (Human Milk Oligosaccharides หรือ HMOs) และน้ำตาลแลคโตสในนมแม่กว่า 200 ชนิด 
  • วิตามินและแร่ธาตุ ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต เช่น A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K และแร่ธาตุซึ่งได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น
  • สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต

นอกจากนี้น้ำนมเหลืองยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยในการขับขี้เทา (Mekonium) ซึ่งเป็นของเสียที่สะสมอยู่ในลำไส้ ขณะที่ลูกอยู่ในครรภ์อีกด้วย 

ระยะที่ 2 น้ำนมระยะปรับเปลี่ยน (Transitional Milk) ร่างกายแม่จะสร้างขึ้นในช่วง 4 – 20 วัน หลังคลอด น้ำนมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งจะมีสารอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งโปรตีน ไขมัน และน้ำตาลที่มีปริมาณเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกายลูกในวัย 1 เดือนแรก แม้จะมีสารอาหารหลายชนิดเพิ่มขึ้น แต่บริมาณ แลคโตเฟอร์รินจะลดลงเหลือ 3.7 กรัมต่อลิตร

ระยะที่ 3 น้ำนมสีขาว (Mature Milk) ร่างกายคุณแม่จะสร้างขึ้นช่วง 20 วัน หลังคลอด น้ำนมแม่จะมีปริมาณที่มากขึ้น และมีสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูกอย่างครบถ้วน ในช่วงนี้คุณแม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณเหมาะสม เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารผ่านน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ เมื่ออยู่ในช่วงน้ำนมสีขาว ระดับแลคโตเฟอร์รินจะลดลงเหลือเพียง 1.5 กรัมต่อลิตรเท่านั้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

#2 นมแม่สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก

มีคำกล่าวที่บอกว่า นมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่สู่ลูกน้อย โดยเฉพาะระยะน้ำนมเหลือง ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูก โดยสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกน้อย ดังนี้

  • แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ลดโอกาสการติดเชื้อโรค เพราะเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสจะมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบและใช้ในการดำรงชีวิต แต่แลคโตเฟอร์รินเป็นโปรตีนที่จับธาตุเหล็กได้ดี จึงไปดึงธาตุเหล็กในแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคออกมา ทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และตายในที่สุด ด้วยคุณสมบัติที่สามารถจับธาตุเหล็กได้ดี จึงส่งผลให้ทารกที่ได้รับแลคโตเฟอร์รินอย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดแคลนธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคโลหิตจางในทารก กล่าวคือ เมื่อลูกได้ดื่มนมแม่ที่มีแลคโตเฟอร์รินก็จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยนั่นเอง
  • MFGM (Milk Fat Globule Membraine) หรือเยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนมแม่ ประกอบด้วยโปรตีนและไขมันมากกว่า 150 ชนิด ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์สมอง ทำให้การทำงานสมองของลูกน้อยดีขึ้นแล้ว ยังมีงานวิจัยทางคลินิกที่พบว่าเด็กที่ได้รับ MFGM จากน้ำนมแม่จะมีระยะเวลาในการเป็นไข้ หรือเจ็บป่วย และใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่าเด็กที่กินนมที่ไม่มีส่วนผสมของ MFGM ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของลูกน้อย
  • ไลโซไซม์ (Lysozyme) เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่พบในน้ำนมแม่ ซึ่งมีปริมาณมากกว่านมวัว มีความเฉพาะตัว และหาได้ยาก โดยทั่วไปแล้วจะไม่สามารถพบเจอในนมผง เนื่องจากไลโซไซม์จะถูกทำลายได้ในขั้นตอนที่ใช้ความร้อน สารอาหารชนิดนี้จะช่วยทำลายผนังเซลล์แบคทีเรีย ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียถูกทำลายไปในที่สุด
  • บิฟิดัส โกรท แฟคเตอร์ (Bifidus Growth Factor) เป็นสารอาหารในน้ำนมแม่ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแลคโตบาซิลลัส และไม่พบในน้ำนมวัวทั่วไป ซึ่งบิฟิดัส โกรท แฟคเตอร์ เป็นเชื้อที่ช่วยให้เกิดกรดอินทรีย์ในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียชนิดร้ายอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ แลคโตสในน้ำนมแม่เองก็ยังเปลี่ยนเป็นกรดแลกติก ที่ช่วยให้ลำไส้มีสภาพเป็นกรดจนแบคทีเรียไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกแรงหนึ่งด้วย
  • ที-ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคที่มาเกาะเยื่อบุผิว โดยภาพรวม ทำให้ลดอัตราตายของทารกและเด็ก โดยเฉพาะจากโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ และโรคอุจจาระร่วง
  • สารอาหารที่ช่วยลดโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ นมแม่มีสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ เช่น โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด โดยมีการศึกษาว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือน ช่วยลดโอกาสการเกิด Atopic Dermatitis และโรคหืดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

ในประโยชน์ของน้ำนมแม่ที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันยังมีอีกมาก และคุณสมบัติเหล่านี้เองที่ทำให้ นมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่สู่ลูกน้อย 

#3 น้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อสมองลูก

สมอง เป็นอวัยวะที่ถูกสร้าง และพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อลูกคลอดออกมา และได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น การกอด การพูดคุย เป็นต้น ประกอบกับการกินนมแม่ สมองก็จะถูกพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก ลูกจะมีสติปัญญาดีกว่า เมื่อเทียบกับเด็กในระดับที่เท่ากัน ในนมแม่มีสารอาหารที่เสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง และความจำอยู่จำนวนมาก เช่น 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • MFGM (Milk Fat Globule Membrane) หรือ เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนมประกอบด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด อย่างสปิงโกไมอิลีน ฟอสโฟไลปิด แกงกลิโอไซต์ เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ของลูกน้อยให้เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก เพราะฉะนั้นการดูแลให้ลูกได้กินนมแม่ใน 6 เดือนแรก และกินต่อเนื่องควบคู่ไปกับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปี จะเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองและความจำอย่างดีที่สุด
  • DHA คือ กรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดยองค์ประกอบหลักในสมองมี DHA 40% และมี DHA ในจอประสาทตาถึง 60% DHA จะเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ ส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน มีงานวิจัยที่พบว่า เด็กที่ได้รับ DHA จะมีพัฒนาการของสมองและสายตา ความสามารถในการจำ และการแก้ปัญหาดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับ DHA 
  • ทอรีน (Taurine) เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง อย่างไรก็ตามสำหรับทารกแรกเกิดนั้น สารอาหารชนิดนี้ก็ยังถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง และการมองเห็นคล้ายกับ DHA นั่นเอง

#4 น้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูก

เด็กที่ได้ดื่มนมแม่อย่างสม่ำเสมอ จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างรอบด้านผ่านการดื่มน้ำนมแม่ 

  • กลิ่น เด็กจะเรียนรู้ จากกลิ่นตัวของแม่เป็นอันดับแรก ซึ่งเกิดจากการโอบกอด ให้นมลูกอย่างใกล้ชิด เด็กจะค่อย ๆ จำกลิ่นได้ ไม่ว่าแม่จะอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ หรือว่าเพิ่งกลับมาจากทำงาน เขาจะเริ่มเรียนรู้ว่า เมื่อไรที่ได้กลิ่นแม่ ไม่ช้าเขาก็จะได้กินนม หรือจะมาอุ้มเขาเล่นนั่นเอง
  • ช่องปาก ปากอันบางจิ๋วของเจ้าหนู จะรู้จักขยับริมฝีปาก เพื่อค้นหาหัวนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อได้ดื่มนมแม่ ริมฝีปาก เพดาน ลิ้น ช่องปากก็จะเริ่มทำงาน หัดดูด กลืนน้ำนมโดยอัตโนมัติ เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่มาตั้งแต่เกิด มีภาวะเสี่ยงที่เด็กจะอมนิ้วมือ จนติดเป็นนิสัยมากกว่าเด็กที่ได้ดื่มนมแม่
  • สายตา ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่า การให้นมแม่จะฝึกสายตาลูกได้อย่างไร เอาน่า…จะเฉลยให้ฟัง พัฒนาการของลูกวัย 3 เดือนแรก จะชอบมองสีที่ตัดกันมาก ๆ อย่างสีขาว และสีดำ ซึ่งดวงตาของคุณแม่ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แถมยังกระพริบได้อีกด้วย เจ้าหนูก็เลยมีสมาธิจ้องมองใหญ่ ฝึกพัฒนาการทางสายตา ขณะที่ดื่มนมแม่ค่ะ

#5 น้ำนมแม่ดีต่ออารมณ์และจิตใจของลูก

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากลูกฉลาดแล้ว ยังทำให้ลูกอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย ไม่ร้องไห้โยเยบ่อย ๆ เพราะการให้ลูกกินนมแม่ แม่จะโอบกอด สัมผัสระหว่างแม่และลูก ทำให้ลูกเกิดความอบอุ่น รู้สึกถึงความรัก ที่แม่มอบให้ ลูกก็จะเกิดความสุขขึ้นในใจ เมื่อลูกมีความสุข ก็เลี้ยงง่าย 

ร่างกายของแม่เองก็หลั่งสารที่ทำให้แม่มีความสุข อารมณ์ดี ขณะให้นมลูก แม่ได้สบตา ยิ้มกับลูก ชวนลูกพูดคุย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกให้ค่อย ๆ ซึมซับสิ่งที่ดีวันละเล็กละน้อย นำไปสู่การมีอารมณ์ที่ดี อิ่มอุ่นรัก ด้วยนมแม่ ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยรับรองว่า MFGM ที่คุณแม่มอบให้ลูกผ่านน้ำนมส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองในระยะยาวของเด็กเล็กไปจนถึงวัยเข้าเรียน เด็กที่ได้รับประทานนมที่มี MFGM จะมีทักษะและคะแนนจากการวัดผล IQ/EQ สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับ MFGM การเลือกโภชนาการที่มี MFGM ให้กับลูกจึงเป็นหนึ่งในการวางรากฐานทางอารมณ์และจิตใจที่ดีในอนาคตให้กับลูกน้อย

#6 นมแม่ย่อยง่าย ถ่ายง่าย ไม่ท้องผูก

ในช่วงระยะแรก ๆ ที่ทารกกินนมแม่จะเห็นว่าลูกจะถ่ายเหลวและถ่ายบ่อย เป็นเพราะนมแม่ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ลูกอาจถ่ายได้บ่อย 8 – 10 ครั้งต่อวัน หรือทุกครั้งหลังจากดูดนมแม่ก็ได้ ทั้งนี้ให้คุณแม่สามารถสังเกตได้จากอึของลูก รวมถึงอาการของลูกด้วย หากอุจจาระนิ่มและเป็นสีเหลืองทอง กลิ่นไม่รุนแรงเหม็นคาว ลูกไม่งอแง ไม่ซึม ไม่เป็นไข้ กินนมได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าท้องเสีย และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 สำไส้ของลูกน้อยจะพัฒนาและดูดซึมดีขึ้น ลูกจะไม่ถ่ายบ่อยเหมือนช่วงแรกแล้ว แต่จะอึครั้งละมากๆ แทน ถึงแม้บางรายอาจจะไม่ถ่ายนาน 2 – 3 สัปดาห์ ถ้าถ่ายไม่แข็ง ท้องไม่อืด ยังไม่อึดอัดแน่นท้อง ก็ยังถือว่าปกติ

#7 ให้นมลูกก็มีประโยชน์กับแม่ด้วย

ในการให้นมลูกไม่ใช่แค่ลูกจะได้รับประโยชน์เท่านั้น แม่เองก็ได้รับประโยชน์จากการให้นมลูกเช่นกัน 
  • ด้านสุขภาพร่างกายของแม่ ในช่วงที่แม่ให้นมลูกจะมีการหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า ออกซิโทซิน (Oxytocin) ออกมาเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่หรือกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วยิ่งขึ้น และขณะที่ร่างกายของแม่ผลิตนมให้แก่ลูกร่างกายจะต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติถึงเกือบ 500 Kcal ทำให้มีการดึงพลังงานจากไขมันที่สะสมในช่วงตั้งครรภ์มาใช้งาน ทำให้แม่กลับมามีรูปร่างที่ดีขึ้นเหมือนก่อนตั้งท้องได้ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในแม่ที่ให้นมลูกหลังคลอดจะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในแม่ได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระยะยาว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานได้  
  • ด้านอารมณ์ของแม่ ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่บางคนเรียกว่าฮอร์โมนแห่งความรัก ยังสามารถช่วยให้แม่เกิดความผ่อนคลาย ลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ทำให้มีความสุขในขณะให้นมลูก ช่วยสร้างความรักและความผูกพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมกอดของแม่ ความอบุอุ่นที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกนี้ยังส่งผลให้ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ช่วยขับน้ำนมของแม่ให้ไหลได้ดีขึ้นในขณะให้นมอีกด้วย

การให้ลูกได้รับนมแม่ตั้งแต่คลอด ต่อเนื่องไปจนถึง 2 ปีได้หรือนานกว่านั้น จะช่วยให้ลูกเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีพัฒนาการดีทั้งภูมิคุ้มกัน สมอง และระบบย่อยอาหาร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ลูกก้าวไปสู่อนาคตที่เหนือกว่า 

หากแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเลือกโภชนาการเสริมที่มีความใกล้เคียงนมแม่ และมีสารอาหารสำคัญอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

มัดรวมประโยชน์ของ “แลคโตเฟอร์ริน” สารอาหารยืนหนึ่ง เรื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก

5 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกรักด้วยวิธีธรรมชาติ

ตารางอาหารทารกแรกเกิด – 1 ปี ลูกน้อยควรกินเท่าไหร่ใน 1 วัน

บทความโดย

threenuch