โศกนาฏกรรมที่เกิดกับ 23 ชีวิตบนรัถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความเศร้าเจียนขาดใจแก่ครอบครัว ญาติ และเพื่อน ๆ ของผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ได้ก่อเมฆหม่นแห่งความสะเทือนใจไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง เกิดแรงกระเพื่อมให้สังคมตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเด็น “ความปลอดภัย” ของรถบัส รวมถึงวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินลักษณะนี้ ซึ่งวันนี้ theAsianparent ขออนุญาตนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัส โดยจะพามาดูกันว่า 3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส (พร้อมคลิปวิธีใช้) เพื่อเอาชีวิตรอดในเหตุฉุกเฉิน มีอะไรบ้าง
สารบัญ
มาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสาร 3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส
เหตุการณ์รถบัสโดยสารทัศนศึกษาของนักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้คือ ผู้ประสบภัยไม่สามารถหนีออกมาจากตัวรถได้ทัน เนื่องมาจาก “มาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถโดยสาร” โดยเฉพาะการที่ “ประตูฉุกเฉินไม่ทำงาน” ทั้งที่ตามหลักแล้วประตูนี้ควรเปิดได้ทั้งจากภายในรถและนอกตัวรถ รวมถึงต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ 3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส เพื่อเอาชีวิตรอดในเหตุฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่รถบัสทุกคันต้องมี และผู้โดยสารทุกคนควรสังเกตเห็นได้คือ ประตูทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจก
3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส เพื่อเอาชีวิตรอดในเหตุฉุกเฉิน |
|
1. ประตูทางออกฉุกเฉิน
(มีคลิปแนะนำการใช้ทางออกฉุกเฉินด้านล่างค่ะ) |
|
2. ถังดับเพลิง
(มีคลิปแนะนำการใช้งานถังดับเพลิงด้านล่างค่ะ) |
|
3. ค้อนทุบกระจก
(มีคลิปแนะนำการใช้งานค้อนทุบกระจกด้านล่างค่ะ) |
|
หมายเหตุ : ข้อมูลและภาพประกอบจาก Patsornchai Tour – ภัสสรชัยทัวร์
แม้ในขณะโดยสารรถบัสสาธารณะ เราจะสังเกตเห็นแล้วว่ามี 3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส แต่ไม่ใช่แค่เห็นเท่านั้น เราจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานทั้ง ประตูทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจก คือต้องใช้ให้เป็นด้วย ซึ่งต่อไปนี้ คือ คลิปวิธีใช้ 3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส ที่เรานำมาฝาก เผื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้เรียนรู้ไว้ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องความปลอดภัยให้แก่ลูกน้อยได้ค่ะ
- คลิปแนะนำการใช้ทางออกฉุกเฉิน
- คลิปแนะนำการใช้งานถังดับเพลิง
- คลิปแนะนำการใช้งานค้อนทุบกระจก
ถอดบทเรียน รถบัสนักเรียนไฟไหม้ สรุปจุดอันตรายบนรถ ?
นอกจากของ 3 สิ่งที่ต้องมีบนรถบัส เปิดโอกาสเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว บนรถบัสโดยสารทุกคัน จะต้องมีเข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติ “อย่างน้อย 2 จุด” ทุกที่นั่ง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในขณะเดินทางด้วย และหากเป็นการเดินทางระยะทางไกลมากกว่า 400 กิโลเมตร ควรต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน หรือมีการหยุดจอดรถพักทุก 4 ชั่วโมง อย่างน้อยเป็นเวลา 30 นาที พนักงานขับรถไม่มีอาการมึนเมา หาวบ่อย หรือขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดด้วย
ซึ่งในกรณีเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นนั้นจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า คนขับรถบัสมีความประมาท เลินเล่อ รู้ว่ารถมีปัญหา ได้ยินเสียงลูกสูบรถดังแต่ยังขับต่อจนรถเสียหลัก โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากอุปกรณ์ส่วนควบบกพร่อง เกิดประกายไฟ จนเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ โดย สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานผลการแถลงการสืบสวนสอบสวน รวมถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไว้ ดังนี้
-
รถบัสเก่า ใช้งานมาแล้ว 54 ปี
รถบัสคันที่เกิดเหตุจดทะเบียนครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2513 หรือใช้งานมาแล้ว 54 ปี ซึ่งมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ ควรอยู่ที่ 10-15 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการดัดแปลงจากยี่ห้อรถอีซูซุ เป็น “เบนซ์” โดยใช้เครื่องยนต์เบนซ์ เนื่องจากรถบัสโดยสารในไทยไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องเป็นรถใหม่ หรือเป็นรถของยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการมักจะซื้อคัสซี (หรือแชสซี) ของรถบรรทุก และซื้อเครื่องยนต์ เพื่อมาจดประกอบ
-
ติดตั้งเอ็นจีวี 11 ถัง แต่ยื่นขออนุญาตเพียง 6 ถัง
รถบัสคันดังกล่าวมีการติดตั้งถังก๊าซ NGV เกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาต โดยติดตั้งไว้หลายจุดตั้งแต่บริเวณล้อหน้า (ทั้งด้านซ้ายและขวา) ข้างละ 2 ถัง / ล้อด้านหลัง (ทั้งซ้ายและขวา) ข้างละ 1 ถัง / และบริเวณตอนกลางของรถด้านล่าง อีก 4 ถังโดยไม่ได้ยื่นจดทะเบียนกับขนส่งว่ารถมีการติดตั้งก๊าซ NGV แต่ระบุข้อมูลนี้ในการยื่นทำประกันภัย ทั้งนี้ ตามระเบียบการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ต้องทำการตรวจปีละ 2 ครั้ง ส่วนรถที่ใช้ก๊าซซีเอ็นจี (NGV) หรือแอลพีจี ก็ต้องมีการตรวจสภาพถังตามรอบ
-
ประตูทางออกฉุกเฉิน เปิดไม่ได้ ไม่มีระบบอุปกรณ์ฉุกเฉินบนตัวรถ
ในที่เกิดเหตุนั้นมีการพบร่างของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านหลังรถใกล้กับประตูทางออกฉุกเฉิน ซึ่งไม่ถูกเปิดขณะเกิดเหตุ แม้คนขับรถได้ลงจากรถและเดินวนมาที่บริเวณประตูฉุกเฉินเพื่อพยายามเปิดประตูแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในกรณีฉุกเฉินที่ระบบลมของประตูรถโดยสารมีปัญหา จะมีตัวปลดล็อกวาล์วจากด้านใน เพื่อดันประตูออก
อย่างไรก็ตาม รถโดยสารทั่วไปที่มีกระจกหลาย ๆ บาน จะต้องมี 1 ใน 3 บานเป็นกระจกที่สามารถทุบแล้วกระจกแตกละเอียดเป็นเม็ด ให้ผู้โดยสารสามารถหนีออกมาได้ โดยรถบัสต้องมีกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ ความกว้างไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ติดตั้งด้านขวาตัวรถค่อนไปทางด้านหน้า อย่างน้อย 1 บาน และด้านซ้ายของตัวรถ 1 บาน พร้อมข้อความ “ทางออกฉุกเฉิน” สีแดง และสัญลักษณ์วิธีการทุบกระจก (ห้ามติดฟิล์มกรองแสง) และต้องมีค้อนทุบกระจก อย่างน้อย 2 อัน ติดตั้งอย่างปลอดภัยที่ด้านซ้ายและด้านขวาของตัวรถ ใกล้บานกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ แต่ในกรณีนี้ กลับไม่พบว่ามีค้อนทุบกระจกอยู่บนรถบัสคันดังกล่าวแต่อย่างใด
-
ไฟลุกไหม้แรงและเร็ว
เหตุการณ์ในช่วงแรกนั้นมีไฟลุกไหม้บริเวณด้านหน้าตัวรถ และลุกไหม้โหมที่ตัวห้องโดยสารอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าต้นเพลิงน่าจะไม่ได้มาจากถังก๊าซ เพราะส่วนใหญ่จะมีการระเบิด แต่เมื่อยางรถเกิดระเบิดและช่วงล่างไปครูดกับถนน อาจทำให้เกิดประกายไฟ ไปโดนถังน้ำมัน จึงมีโอกาสที่ถังน้ำมันจะฉีกขาด กลายเป็นต้นเพลิง และเมื่อไฟติดขึ้น ด้วยวัสดุภายในห้องโดยสารยิ่งทำให้เพลิงลุกไหม้เร็วมาก โดยจะไหม้ลุกลามภายเวลาในไม่กี่นาที ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนสันนิษฐานว่าอาจเกิดการรั่วไหลของถังก๊าซทำให้มีก๊าซสะสม จากนั้นเมื่อเกิดประกายไฟจากเหตุยางแตกหรือเครื่องยนต์มีปัญหา จึงลุกลาม
ทั้งนี้ มีการเสนอว่า ประเทศไทยควรกำหนดให้ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติบนรถโดยสาร เหมือนที่ในยุโรปบังคับใช้ มาตรฐาน UN ECER 107 ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์ควบคุม หากเกิดประกายไฟ ระบบดับบเพลิงจะทำงานอัตโนมัติ และช่วยดับไฟอย่างรวดเร็ว โดยเน้นในจุดที่เป็นเครื่องยนต์ซึ่งเป็นต้นเพลิง ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ได้
ขอให้นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยจะเกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เพราะเราควรถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาอย่างตรงจุด ป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับปกป้องทุกชีวิตให้ปลอดภัย
theAsianparent ขอแสดงความเสียใจและขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสียอีกครั้งค่ะ
ที่มา : Patsornchai Tour – ภัสสรชัยทัวร์ , www.bbc.com , Jessada Denduangboripant
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
มาตรฐานรถโรงเรียน ควรเป็นแบบไหน? ความปลอดภัยที่ต้องไม่ละเลย
การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ เป็นอย่างไร ฝึกลูกให้มีสติ ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย
วิจัยเผย เลี้ยงลูกใกล้ชิดธรรมชาติ ลูกสุขภาพจิตดี อารมณ์ดี! ไม่เป็นซึมเศร้า